ชะตากรรมสัตว์ทะเลไทยในวังวนของขยะพลาสติก

ชะตากรรมสัตว์ทะเลไทยในวังวนของขยะพลาสติก

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่าน เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก ซึ่งจะมีการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมในประเด็นต่างๆ มาโดยตลอด ซึ่งในปีนี้มีการรณค์เรื่องการใช้พลาสติก Beat Plastic Pollution: If you can’t reuse it, refuse it หรือ “สู้กับปัญหาขยะพลาสติก : ถ้าเอามันกลับมาใช้ใหม่ไม่ได้ ก็จงปฏิเสธมันซะ” โดยพุ่งเป้าไปยังพลาสติกประเภท “ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง”

ปัจจุบันหลายๆ ประเทศเริ่มประสบปัญหาขยะล้นประเทศ จากการใช้พลาสติกที่ฟุ่มเฟือย ใช้เพียงครั้งเดียวก็ทิ้ง และการจัดการกับขยะที่ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะพลาสติกเป็นวัสดุที่ต้องใช้เวลาในการย่อยสลายถึง 450 ปี นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ขยะเริ่มล้น และทะลักลงสู่ทะเลมากขึ้นเรื่อยๆ (บวกรวมเข้ากับเรื่องความมักง่าย) ขยะเหล่านี้เป็นต้นเหตุของปัญหาการตายของสัตว์ในท้องทะเลทั่วโลก

สำหรับประเทศไทยไม่เอง เราติด 1 ใน 5 อันดับ ของปัญหาการทิ้งขยะลงสู่ทะเล นี่ไม่ใช่เรื่องน่ายินดีนัก แน่นอนว่านี่ไม่ใช่การจัดอันดับในด้านที่ดี แต่มันคือความน่าเป็นห่วงกับปัญหานานาที่กำลังจะตามมา ซึ่งในที่นี้เราได้รวบรวมผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสัตว์ทะเลในบ้านเรามา ว่าในรอบสองถึงสามปีที่ผ่าน พวกเขาต้องพบเจอกับสภาพอย่างไร และมีจุดจบอย่างไร จากการที่ต้องตกเป็นเหยื่อให้กับขยะพลาสติกที่ลอยอยู่กลางทะเลไทย

 

แพขยะ กลางอ่าวไทย

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2560 ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ ได้เผยแพร่ภาพแพขยะขนาดยักษ์กลางอ่าวไทย ยาว 10 กิโลเมตร

จากข้อมูลของพี่ชาวประมง “ป๊ะป๋า วงเวียน” ผู้พบแพขยะยาว 10 กิโลเมตร ในทะเลนอกชายฝั่งชุมพร ซึ่งพลาสติกเหล่านั้นคือส่วนเล็กๆ น้อยของพลาสติกราว 1 ล้านตันที่อยู่ในมหาสมุทรของโลก อันมาจากกิจกรรมของมนุษย์บนฝั่ง โดยขยะที่เรามองไม่เห็นน้ำจมอยู่ใต้ท้องมหาสมุทร ไม่ได้ลอยขึ้นมาบนผืนน้ำ

หากไม่จัดการให้ดี เศษพลาสติกทั้งหลายที่เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยอาจกลายเป็นอาหารของปลาผิวน้ำ เพราะพลาสติกไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ แต่จะแตกตัวเป็นชิ้นเล็กๆ และคงอยู่ในสิ่งแวดล้อมเป็นเวลาหลายร้อยปี

ซึ่งพลาสติกที่อยู่ในทะเลชิ้นเล็กๆ เหล่านี้มีลักษณะคล้ายกับอาหารของสัตว์ทะเล และแน่นอนว่าอาจจะส่งผลย้อนกลับมาหามนุษย์ในที่สุดในรูปแบบของอาหารทะเลปนเปื้อนมลพิษพลาสติก

 

เต่าตนุตาย เพราะกินขยะในทะเลไทย

วันที่ 2 มี.ค. 2560 ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ ในฐานะนักวิชาการทางทะเล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Thon Thamrongnawasawat’ พร้อมระบุว่า พบแม่เต่าตนุตัวหนึ่งซึ่งอยู่มาหลายสิบปี น้ำหนัก 100 กิโลกรัม แต่ตอนนี้ตายแล้ว โดยผลการชันสูตรพบเศษขยะอัดแน่นเต็มกระเพาะ ซึ่งเต่าตนุไม่ฉลาดพอที่จะแยกเศษเชือกกับสาหร่ายออกจากกัน

เต่าทะเลเป็นสัตว์ที่หายากในปัจจุบัน ถึงแม้จะมีอการอนุรักษ์ ฟักไข่เต่า ปล่อยลูกเต่า แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ความตายจากขยะพลาสติก

 

เต่าหญ้าขาขาด เพราะติดอวนประมง

เศษเครื่องมือทำประมงที่ลอยอยู่กลางทะเล เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเล เช่น วายุภักดิ์ เต่าหญ้าอายุ 10 ปี ชีวิตของมันเปลี่ยนไป จากการติดเศษเครื่องมือประมงในทะเล ทำให้มันไม่สามารถว่ายน้ำได้เหมือนเดิม เพราะฟริปเปอร์ หรือพายคู่หน้า ซึ่งเป็นตัวควบคุมทิศทางการเคลื่อนไหวหายไปหนึ่งข้าง ถูกตัดออกจากการรักษา เวลาว่ายน้ำจะว่ายทวนในทิศทางเดียว และเวลากินอาหารจะไม่ทันเต่าตัวอื่นๆ และถ้าไปรวมกับธรรมชาติอาจจะว่ายน้ำไม่ทันปลา และหมึกที่เป็นอาหารของเต่า นอกจากนี้ยังมีปัญหาการดำน้ำ เพราะมีผลจากปอดเสียหาย เวลาดำน้ำต้องใช้แรงส่งกว่าตัวอื่น

ตามธรรมชาติเต่าหญ้า มีอายุยืนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 70-80 ปี แต่ความพิการไม่เป็นธรรมชาตินี้อาจทำให้อายุของเขาอาจไม่ยืนยาวอย่างที่ควรเป็น

 

ปูเสฉวน ในฝาเครื่องดื่มชูกำลัง

เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2561 ผู้ใช้เฟซบุ๊กบัญชีรายชื่อ “O’pal Pancharatt” ได้โพสต์คลิปวิดีโอพร้อมรูปภาพ พร้อมระบุข้อความว่า “อย่าทิ้งขยะลงทะเลกันเลยนะคะ สงสารน้อง มีกระดองเป็นฝาขวด M150 ซะแล้ว”

ปูเสฉวน เป็นอาร์โธรพอดที่ไม่มีเปลือกแข็งแบบปูหรือกุ้ง จึงต้องอาศัยในเปลือกหอยเปล่า และโผล่เฉพาะหัวและขา 2 คู่ ออกจากเปลือก ส่วนขาอีก 2 คู่ใช้ยึดกับเปลือกหอย และจะเปลี่ยนเปลือกหอยสำหรับอาศัยไปเรื่อยๆ เมื่อมีขนาดตัวที่ใหญ่ขึ้น

นี่ไม่ใช่สิ่งมหัศจรรย์หรือนวัตกรรม และเป็นสภาพสะท้อนว่าวันนี้ขยะบนหาดทรายอาจมีมากกว่าเปลือกหอย

 

85 ชิ้น ขยะพลาสติกในท้องวาฬ

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2561 เจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง ได้รับแจ้งเหตุจากชาวบ้านคลองนาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา ว่าพบวาฬนำร่องครีบสั้นเกยตื้นอยู่บนหาด มีอาการอ่อนแรงใกล้ตาย ทางทีมสัตวแพทย์จึงเร่งนำตัวเข้ามารักษา

แต่หลังจากทีมแพทย์ช่วยกู้ชีพและสอดท่อหายใจ ในขณะนั้นเองทีมแพทย์พบว่าบริเวณหลอดอาหารของวาฬมีขยะอยู่ แต่หลังจากสอดท่อหายใจเป็นเวลา 1 ชั่วโมง วาฬนำร่องก็ได้เสียชีวิตลง ทีมแพทย์จึงได้ทำการผ่าชันสูตรซากวาฬ พบความผิดปกติในระบบต่างๆ เช่น ปอดอักเสบ หัวใจขาดเลือด พบพยาธิในปอด ท่อน้ำดีและลำไส้ และพบขยะจำพวกพลาสติกในส่วนต้นของกระเพาะอาหารจำนวน 8 กิโลกรัม นับได้จำนวน 85 ชิ้น ซึ่งนี่อาจเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่พบขยะพลาสติกจำนวนมากในร่างของสัตว์ที่ตายจากการกินขยะในท้องทะเล และขยะพลาสติกที่พบในลำไส้ของวาฬ พบว่าส่วนใหญ่เป็นสีดำ ซึ่งเกิดคราบเลือดที่โดนกรดไปเคลือบที่ถุงพลาสติก ซึ่งแสดงว่าวาฬเลือดออกค่อนข้างมากในทางเดินอาหารและมีเลือดออกในกระเพาะ เหมือนกับคนที่เป็นโรคกระเพาะ

“เรารู้แน่แล้วว่าวาฬกินพลาสติก เราก็เสียใจนะ ทุกทีที่มันป่วยโอกาสรอดน้อยอยู่แล้ว แล้วยิ่งกินขยะพวกนี้อีก มันก็ยิ่งทำให้โอกาสรอดมันน้อยไปอีก” ความเห็นจากทีมแพทย์ที่ช่วยชีวิตวาฬ

 

นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่เราได้เห็นจากข่าว จากการแชร์ของผู้พบเห็นบนโซเชี่ยลมีเดีย ในทุกๆ ปี ทุกๆ เดือน หรืออาจจะทุกวัน อาจมีการตายไม่เป็นธรรมชาติของสัตว์ทะเลเพิ่มมากขึ้นตามจำนวนขยะพลาสติกที่ถูกทิ้ง

ณ ปัจจุบันนี้ ทะเล สิ่งแวดล้อมต่างๆ กำลังจะถูกขยะเหล่านี้ปกคลุม จากน้ำมือของมนุษย์ ที่ไม่ยอมตระหนักสักทีว่าควรหยุดการใช้พลาสติกอย่างไร้สติกันได้แล้ว

 


บทความ ปทิตตา สรสิทธิ์ นักศึกษาฝึกงาน
อ้างอิง / ภาพประกอบ
ไทยติด TOP 5 “ขยะในทะเลมากสุด”
– แพขยะในอ่าวไทย ยอดภูเขาน้ำแข็งของวิกฤตขยะไทย
– www.facebook.com/thon.thamrongnawasawat
– “วายุภักดิ์” เต่าพิการขาขาด เหยื่อขยะทะเล
– เปิดใจทีมสัตวแพทย์ ยื้อชีวิตวาฬนำร่อง กินถุงพลาสติก 85 ชิ้น