“ภัยร้ายที่ย้อนกลับมาสู่มนุษย์ในไม่ช้า” และ “แค่ทิ้งขยะคนละชิ้น มหาสมุทรก็สิ้นแล้ว” เป็นคำนิยามที่หัวหน้าฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร คุณอรยุพา สังขะมาน ได้ให้ไว้เมื่อเอ่ยถึงสถานการณ์ขยะในแผนพับสถานการณ์ป่าไม้ไทย ประจำปี พ.ศ. 2559-2560
เพราะปัญหาขยะที่ค่อยๆ พอกพูนขึ้น กำลังส่งผลกระทบต่อสรรพชีวิตทั้งหมด เรื่องนี้จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม และควรให้ความสนใจ สร้างความเข้าใจ ต่อขยะทุกชิ้นที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของเราทุกคน ดังเช่นที่ปรากฎปัญหาการสะสมของขยะพลาสติกในท้องทะเล สิ่งนี้เปรียบเสมือนการนับถอยหลังระเบิดเวลาที่ผลกระทบต่างๆ จะย้อนกลับมาสู่มนุษย์ในที่สุด
องค์กรอนุรักษ์ท้องทะเล (Ocean Conservancy) ได้จัดอันดับชนิดของขยะที่พบปริมาณมากที่สุดในรอบ 25 ปี และตีพิมพ์ในรายงาน Talking Trash: 25 years of actions for ocean ซึ่งทั้ง 10 อันดับแรกนี้มีขยะจำนวนทั้งสิ้น 132,077,087 ชิ้น (คิดเป็นร้อยละ 80 จากขยะทั่วโลกที่มีจำนวน 166,144,420 ชิ้น) อันประกอบไปด้วย
1. ก้นบุหรี่ 52.90 ล้านชิ้น (คิดเป็นร้อยละ 32)
2. ห่อ/ซอง พลาสติก 14.76 ล้านชิ้น (คิดเป็นร้อยละ 9)
3. ฝาขวดพลาสติก 13.58 ล้านชิ้น (คิดเป็นร้อยละ 8)
4. ภาชนะบรรจุอาหาร 10.11 ล้านชิ้น (คิดเป็นร้อยละ 6)
5. ขวดพลาสติก 9.54 ล้านชิ้น (คิดเป็นร้อยละ 6)
6. ถุงพลาสติก 7.82 ล้านชิ้น (คิดเป็นร้อยละ 5)
7. ขวดแก้ว 7.06 ล้านชิ้น (คิดเป็นร้อยละ 4)
8. กระป๋องเครื่องดื่ม 6.75 ล้านชิ้น (คิดเป็นร้อยละ 4)
9. หลอด 6.26 ล้านชิ้น (คิดเป็นร้อยละ 4)
10. เชือก 3.25 ล้านชิ้น (คิดเป็นร้อยละ 2)
และเป็นที่น่าสนใจว่าประเทศผู้ปล่อยขยะลงมหาสมุทรมากที่สุดในโลก (จัดอันดับโดยองค์กรอนุรักษ์ท้องทะเลร่วมกับ McKinsey Center of business and Environment) ระบุว่า ขยะร้อยละ 60 มีแหล่งที่มาจากทั้ง 5 ประเทศ ได้แก่ ประเทศจีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ประเทศเวียดนาม และประเทศไทยของเรา ซึ่งขยับจากอันดับที่ 6 มาเป็นอันดับที่ 5 แทนประเทศศรีลังกาในการจัดอันดับก่อนหน้า
มีการประมาณการว่าภายในปี 2568 มหาสมุทรจะมีปริมาณขยะพลาสติก 1 ตันต่อปริมาณปลาทะเล 3 ตันซึ่งพลาสติกที่ปรากฏอยู่ในมหาสมุทรนั้นมีตั้งแต่พลาสติกขนาดจิ๋วและขยะทั่วไปดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นโดยขยะเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมระบบนิเวศตลอดจนห่วงโซ่อาหารทั้งมหาสมุทรทั่วโลกอย่างมหาศาล
ฐานข้อมูลขยะทะเลจากกรมทรัพยากรทางทะเล ในปี 2558 ได้เผยแพร่ข้อมูลซึ่งอ้างอิงจากผลการสำรวจประเมินจากภาพรวมปริมาณขยะมูลฝอยของประเทศ ในปี 2558 ซึ่งมีจำนวนขยะประมาณ 26.85 ล้านตันต่อปี หรือคิดเฉลี่ยเป็นคนหนึ่งคนจะผลิตขยะในปริมาณ 1.13 กิโลกรัมต่อวัน โดยแบ่งชนิดของขยะที่พบได้ตามลำดับดังต่อไปนี้
(1) ถุงพลาสติก ร้อยละ 13 (2) หลอด ร้อยละ 10 (3) ฝาพลาสติก ร้อยละ 8 (4) ภาชนะบรรจุอาหาร ร้อยละ 8 (5) เชือก ร้อยละ 6 (6) ก้นบุหรี่ ร้อยละ 5 (7) กระป๋อง ร้อยละ 5 (8) กระดาษ ร้อยละ 5 (9) โฟม ร้อยละ 5 (10) ขวดแก้ว ร้อยละ 5
จากการสำรวจประเมินโดยทีมนักวิจัย มหาวิทยาลัยจอร์เจีย พบว่าประมาณร้อยละ 10 ของขยะที่ตกค้างเนื่องจากจัดการไม่ถูกวิธีจะไหลลงทะเล ซึ่งนั่นหมายถึงมีขยะไหลลงทะเลปีละประมาณ 50,000-60,000 ตันต่อปี ซึ่งประเมินว่าในแต่ละปีจะมีปริมาณขยะพลาสติกในทะเลประมาณ 50,000 ตัน หรือ 750 ล้านชิ้น
และในปีต่อมา (2559) คนไทยผลิตขยะเพิ่มขึ้นรวมเป็น 27.06 ล้านตัน หรือคิดเฉลี่ยเป็นคนหนึ่งคนจะผลิตขยะในปริมาณ 1.14 กิโลกรัมต่อวัน โดยกรมควบคุมมลพิษปีเดียวกันนี้ให้ข้อมูลแบ่งประเภทขยะภายในประเทศไทยเป็น 4 ประเภท ได้แก่
1. ขยะภายในประเทศไทยได้ถูกนำกลับไปใช้ประโยชน์ คิดเป็นร้อยละ 16
2. ขยะที่ถูกกำจัดอย่างถูกต้อง คิดเป็นร้อยละ 26
3. ขยะสะสมขาดการจัดเก็บ คิดเป็นร้อยละ 27
4. ขยะที่กำจัดไม่ถูกต้อง คิดเป็นร้อยละ 31
ซึ่งในส่วนของขยะข้อ 3 และ 4 นั้น จะเป็นส่วนหนึ่งของขยะที่ถูกพัดหรือชะลงแหล่งน้ำและทะเล โดยคาดการณ์ว่าในปี 2560 นี้จะมีขยะที่ถูกปล่อยลงทะเลในปริมาณ 2.83 ล้านตัน
ในขณะที่ขยะเหล่านี้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และทำให้สัตว์ทะเลหายากตายจากการกินขยะและเศษเครื่องมือทำประมงเฉลี่ย 300 ตัวต่อปี
ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี ขณะที่ดำรงตำแหน่งผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเล (ทช.) ได้แบ่งสาเหตุการตายของสัตว์ทะเลหายากว่า โลมาและวาฬกินขยะร้อยละ 60 ส่วนเต่าพบปัญหาขยะในทะเลติดพันขาและลำตัวสูงถึงร้อยละ 70
ขณะเดียวกันภัยร้ายที่คืบคลานมาอย่างเงียบเชียบแต่สร้างผลกระทบและไปสะสมในระบบนิเวศทางทะเล นั่นคือ “พลาสติกขนาดจิ๋ว”
“พลาสติกขนาดจิ๋ว” หรือ “ไมโครพลาสติก” คือพลาสติกที่มีขนาด 1 นาโนเมตรถึง 5 มิลลิเมตร (ขนาดไม่เกินเมล็ดข้าว) เกิดจากขยะพลาสติกในแหล่งน้ำสลายตัวจากผลกระทบของคลื่นและแสงอาทิตย์กลายเป็นเศษพลาสติก กระทั่งลดขนาดลงเรื่อยๆ เป็นพลาสติกขนาดจิ๋วที่เราเรียกกันว่า “ไมโครพลาสติก”
ในที่นี้รวมไปถึง “ไมโครบีดส์” ซึ่งถือเป็นไมโครพลาสติกแบบหนึ่ง เป็นเม็ดพลาสติกโพลีเอทีลีนขนาดเล็กที่เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ดูแลร่างกาย เครื่องสำอาง และใยสังเคราะห์ ตัวอย่างเช่น ยาสีฟัน โฟมหรือครีมล้างหน้า โลชั่นกันแดด ครีมอาบน้ำ เป็นต้น
ความน่ากลัวของ “ไมโครพลาสติก”
เบื้องต้นต้องทำความเข้าใจคุณสมบัติของไมโครพลาสติกก่อนว่า เมื่อไมโครพลาสติกลงสู่แหล่งน้ำ มันมีคุณสมบัติในการดูดซับสารพิษสารเคมีต่างๆ เช่น ดีดีที (Dichlorodiphenyl trichloroethane) และพีซีบี (Polychlorinated biphenyls) จำพวก ยาฆ่าแมลง กาว สี สารกันรั่วซึม และน้ำมันหล่อลื่น ฯลฯ ซึ่งสารเหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพเรื้อรัง รวมไปถึงการรบกวนระบบฮอร์โมน การเปลี่ยนแปลงยีน และเป็นสารก่อมะเร็ง
ซึ่งเจ้าไมโครพลาสติกตัวนี้มันสามารถเล็ดลอดผ่านตัวกรองในกระบวนการบำบัดน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติและสามารถแพร่กระจายไปในท้องทะเลได้อย่างง่ายดาย แต่ในทางกลับกันนั้นการกำจัดหรือทำความสะอาดทำได้ยาก
เมื่อไมโครพลาสติกลงสู่แหล่งน้ำจะลอยอยู่เหนือผิวน้ำ (เพราะมีความหนาแน่นต่ำ) ทำให้ปะปนไปกับแพลงก์ตอนที่เป็นอาหารของสัตว์น้ำ ซึ่งทำให้สามารถพบไมโครพลาสติกในกระเพาะของสัตว์น้ำหลายชนิดได้ อาทิ ปลา หอย เต่า แมวน้ำ เม่นทะเล ไส้เดือนทะเล เป็นต้น เรียกได้ว่าปรากฏในห่วงโซ่อาหาร พบได้ตั้งแต่แพลงก์ตอนสัตว์ไปจนถึงวาฬเลยทีเดียว
ผลกระทบต่อสัตว์ที่ได้รับไมโครพลาสติกซึ่งดูดซับสารพิษเข้าไปในร่างกายพบหลักฐานมากมายทั้งในระดับเซลล์และเนื้อเยื่อ เช่น การทำลายเนื้อเยื่อหลอดเลือด ผลกระทบต่อระบบหัวใจ ความเป็นพิษต่อตับ รวมไปถึงสารพิษที่ทำให้ต่อมไร้ท่อเปลี่ยนระดับฮอร์โมนเพิ่มอัตราการเกิดโรคบางอย่างและก่อให้เกิดปัญหาการสืบพันธุ์และการเสียชีวิต
ในความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตที่กินต่อกันเป็นทอดๆ ทำให้ไมโครพลาสติกระจายตามลำดับการกินตามห่วงโซ่อาหาร โดยมีมนุษย์อยู่ปลายทางการบริโภคสัตว์น้ำที่ได้รับการปนเปื้อนไมโครพลาสติกเหล่านี้อย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่พบการศึกษาวิจัยออกมายืนยันชัดเจนถึงผลกระทบการบริโภคอาหารที่มีปนเปื้อนไมโครพลาสติกต่อมนุษย์ แต่กระบวนการย่อยสลายก็ไม่อาจทำได้ รวมถึงการสะสมสารพิษในร่างกายย่อมไม่ใช่เรื่องที่ดี เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่เหล่านักวิจัยกำลังให้ความสำคัญ ความสนใจ และพยายามศึกษาในประเด็นผลกระทบต่อไป
มาตรการควบคุมขยะ
หลายประเทศตั้งเป้าหมายในการกำจัดถุงพลาสติกที่เป็นส่วนประกอบหลักของขยะพลาสติกในทะเล ทั้งทวีปอเมริกา แอฟริกา ยุโรป และตะวันออกกลาง ที่ออกมาตรการเพื่อลดจำนวนถุงพลาสติกอย่างจริงจัง ทั้งการออกกฎหมายห้ามใช้ถุงพลาสติก รณรงค์ให้ใช้ถุงแบบใช้ซ้ำได้ การเก็บค่าถุงพลาสติกจากลูกค้า การเก็บภาษีสำหรับการผลิตและการนำเข้าถุงพลาสติก และการเก็บภาษีถุงพลาสติก
ยกตัวอย่าง ประเทศไอร์แลนด์ เริ่มบังคับใช้การจัดการขยะโดยการเก็บภาษีถุงพลาสติก 15 ยูโรเซนต์ต่อใบ เมื่อปี 2544 ซึ่งปีแรกที่เริ่มเก็บภาษี พบว่า สามารถลดการใช้ถุงพลาสติกได้ประมาณร้อยละ 90 จาก 1,200 ล้านใบเหลือเพียง 235 ล้านใบ ทำให้ขยะทั่วประเทศมีปริมาณลดลงอย่างมาก ต่อมาปี 2550 ไอร์แลนด์ขึ้นภาษีถุงพลาสติกเป็น 22 ยูโรเซนต์ หลังที่ยอดการใช้ถุงพลาสติกในช่วงปี 2547-2549 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย
ด้านมาตรการลดปัญหาไมโครบีดส์ ไมโครพลาสติกที่มักใช้ในอุตสาหกรรมการดูแลผิวและเครื่องสำอาง อดีตประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ลงนามห้ามใช้ ไมโครบีดส์เพื่อแก้ไขปัญหาและเพิ่มความปลอดภัยของแหล่งน้ำ
ทางด้านกลุ่มประเทศที่เป็นต้นเหตุของการปล่อยขยะลงสู่มหาสมุทรจำนวนมากที่สุดในโลก โดยมีผู้แทนจากประเทศไทย จีน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ได้ให้สัตยาบันจะไม่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเล แต่ยังไม่ปรากฏมาตรการในการดำเนินงานที่ชัดเจนเพื่อให้เกิดผลอย่างรวดเร็ว ในเวทีการประชุมนานาชาติว่าด้วยมหาสมุทร (The Ocean Conference) ของสหประชาชาติ ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 5-9 มิถุนายน 2560
ซึ่งในประเทศไทย สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กำลังเสนอร่างรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม (พ.ศ. 2560) ในวันที่ 16 กันยายน ที่มีการผลักดันการแก้ไข้ปัญหาขยะมูลฝอย ของเสียอันตราย และสารอันตรายของประเทศไทย ซึ่งได้มุ่งเน้นการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และการป้องกันแก้ปัญหาอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายและมูลฝอยติดเชื้อ
ในขณะเดียวกัน คุณอรยุพา สังขะมาน ผู้แทนมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในตำแหน่งอนุกรรมการการจัดทำรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้ให้ข้อเสนอแนะต่อร่างรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยอยากให้เพิ่มเติมมาตรการการควบคุมขยะพลาสติกตั้งแต่ต้นทาง เช่นการจัดเก็บภาษีจากผู้ผลิตพลาสติก หรือการเก็บเงินค่าถุงพลาสติกจากผู้บริโภคในสินค้าฟุ่มเฟือยบางประเภท รวมถึงไปถึงการควบคุมไมโครพลาสติก
แม้การปลูกจิตสำนักให้แก่ประชาชนในการลด ละ เลิก และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับถุงพลาสติกที่ไม่จำเป็นจะเป็นเรื่องดี แต่มันเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาที่ปลายทางเท่านั้นซึ่งได้ผลไม่เกินร้อยละ 10 และทิศทางการรณรงค์จากหลายพื้นที่หรือบริษัทที่ทำการเก็บเงินค่าถุงพลาสติกจะช่วยให้ผู้บริโภคเกิดการตระหนัก เช่น บริษัท Decathlon ที่มีนโยบายคิดเงินค่าถุงจากลูกค้า แต่การดำเนินการเพียงบางพื้นที่หรือบางบริษัทยังเป็นเพียงการรณรงค์ที่ไม่แพร่หลายไปทั่วประเทศ การออกกฎหมาย เช่น การเก็บภาษีถุงพลาสติกจากบริษัทผู้ผลิต หรือการมีนโยบายให้ลูกค้าจ่ายเงินค่าถุงพลาสติกจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นทาง เกิดเป็นมาตรฐานการจัดการดูแล ควบคุม และแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในระดับประเทศอย่างมีประสิทธิภาพที่แท้จริง ดังที่เคยเกิดขึ้นในต่างประเทศมาแล้ว
เมื่อเราไม่อาจแบ่งแยกมหาสมุทรออกจากกัน ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากไมโครพลาสติกยังคงแผ่กระจายวงกว้าง สัตว์น้อยใหญ่ ตั้งแต่แพลงก์ตอน ปลา นก วาฬกำลังประสบปัญหา
แล้วมนุษย์ที่อยู่ชั้นบนสุดของห่วงโซ่อาหารเล่า… คุณจะรับมือกับความเสี่ยงนี้อย่างไร?
อ้างอิง
Tracking Trash: 25 Years of Action for the Ocean
Stemming the Tide : Land-based strategies for a plastic-free ocean
ไทยร่วมกับ 3 ชาติเอเชียจับมือลดขยะพลาสติกในมหาสมุทร
สัตว์ทะเลหายาก วาฬ-เต่า ตายพุ่งเฉียด 300 ตัวต่อปีเหตุกินถุงพลาสติก
ไมโครพลาสติก (Microplastic) : ปัญหาในห่วงโซ่อาหาร
สำรวจเพื่อนร่วมโลก กลยุทธ์ลด “ถุงพลาสติก” – บทเรียนนานาชาติ