การสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย คือปัจจัยสร้างความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างในไทย

การสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย คือปัจจัยสร้างความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างในไทย

‘ช้าง’ สัตว์สำคัญที่เป็นสัญลักษณ์ของชาติไทย อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ที่มีการนำมาใช้หลายต่อหลายครั้งในพุทธศาสนา จึงนับเป็นข่าวน่าสลดอย่างยิ่งสำหรับพุทธศาสนิกชน ที่มีข่าวการมรณภาพของภิกษุหลายองค์ จากเหตุช้างป่าเมื่อปลายปีที่ผ่านมา 

หนึ่งในเหตุสลดคือ กรณีของพระสมบูรณ์ บุญวาส อายุ 64 ปี ที่ถูกช้างป่าทำร้ายโดยพบศพในพงหญ้าไม่ไกลจากหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ซึ่งติดอยู่กับอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี สาเหตุก็เนื่องจากการเผชิญหน้ากับช้างป่าระหว่างบิณฑบาต ซึ่งช้างป่ามักมีพฤติกรรมพุ่งเข้าใส่มนุษย์ขณะรู้สึกโกรธ หรือเพื่อป้องกันตนเอง

ไม่นานหลังจากนั้น ก็เกิดอีกหนึ่งเหตุการณ์โดยภิกษุหนุ่มวัย 21 ปี เสียชีวิตขณะปฏิบัติธรรมบริเวณภูเขาแห่งหนึ่งในจังหวัดกำแพงเพชร คาดว่าท่านถูกทำร้ายโดยช้างป่าในฤดูผสมพันธุ์ ซึ่งจะมีความฉุนเฉียวกว่าปกติ อีกหนึ่งเหตุการณ์น่าเศร้าเกิดกับภิกษุวัย 52 ปี ที่ถูกช้างป่าทำร้ายจนเสียชีวิต ขณะบิณฑบาตที่จังหวัดชลบุรี โดยมีชาวบ้านพยายามเตือนภิกษุรูปดังกล่าวว่า มีฝูงช้างป่าราว 30 เชือกลงจากเขามาหาอาหารในไร่สวน สร้างความกังวลและหวาดกลัวให้แก่ประชาชนในชุมชน

แม้ว่าเหตุช้างป่าทำร้ายคนจะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งนักในประเทศไทย แต่ก็มักเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา ประชากรช้างป่าจากเดิมที่มีมากกว่าหนึ่งแสนเชือกหลงเหลือเพียงหลักพัน และช้างป่าที่ยังเหลืออยู่นั้นก็เผชิญกับความยากลำบากที่จะอยู่รอดในถิ่นอาศัยตามธรรมชาติ

ป่าที่เคยเขียวชอุ่มถูกตัดแบ่งออกเป็นผืนเล็กผืนน้อย ทำให้ช้างป่ามีพื้นที่หาอาหารไม่เพียงพอ จนต้องเดินเท้าสู่พื้นที่ชุมชนเพื่อหาอาหาร นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างชุมชนและช้างป่า ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่ามีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

“ปัจจุบัน เราพบความขัดแย้งระหว่างช้างป่ากับชุมชนเพิ่มเป็น 41 พื้นที่ จากเดิม 20 พื้นที่เมื่อสิบห้าปีก่อน” ดร.พิเชฐ นุ่นโต ผู้เชี่ยวชาญเรื่องช้างแสดงความกังวลตั้งแต่ พ.ศ. 2561

ระหว่าง พ.ศ. 2555 ถึง 2558 มีประชาชนอย่างน้อย 45 คนเสียชีวิต เนื่องจากการเผชิญหน้ากับช้างป่า ขณะที่มีผู้บาดเจ็บ 30 ราย ชาวบ้านที่อยู่อาศัยใกล้กับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรืออุทยานแห่งชาติที่ยังมีช้างป่าอยู่อาศัย คือกลุ่มเสี่ยงที่อาจเผชิญหน้ากับช้างป่าที่มาหาอาหารในไร่สวน

ในทางกลับกัน ช้างป่าเองก็อาจตกเป็นเหยื่อความรุนแรงจากการเผชิญหน้า ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง มีช้างป่าอย่างน้อยราว 20 ตัวถูกฆ่าโดยชาวบ้านที่พยายามปกป้องพืชผลทางการเกษตรของตน แม้ว่าช้างป่าจะเป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่งในประเทศไทยก็ตาม

สาเหตุหลักที่ทำให้ช้างป่าเสียชีวิตคือรั้วไฟฟ้า โดยคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 72 เปอร์เซ็นต์ การเสียชีวิตที่เหลือเกิดจากการวางกับดัก การวางยา หรืออุบัติเหตุ เมื่อเจ้าตัวยักษ์พยายามเดินข้ามถนนที่ตัดผ่านป่า อย่างไรก็ดี มีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่เลือกใช้วิธีไล่ช้างป่าที่ไม่เป็นอันตรายต่อช้าง เช่น การสร้างรั้วผึ้งรอบแปลง แม้ว่าหนังช้างป่าจะหน้าพอที่จะทนต่อการโดนผึ้งต่อย แต่ช้างก็มีจุดอ่อนไหว เช่น ดวงตาหรือปาก หากโดนต่อยจะทำให้เจ็บปวดอย่างมาก จึงไม่น่าแปลกใจหากช้างจะหลีกเลี่ยงการปะทะ

องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติหรือไอยูซีเอ็น ระบุสถานการณ์ช้างป่าในไทยว่า “ช้างเป็นสัตว์ที่คนไทยรักและเชิดชูมาอย่างยาวนาน แต่ปัจจุบัน ช้างกลับกลายเป็นปัญหาเพราะการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์เริ่มรุกล้ำเข้าสู่ถิ่นอาศัยของช้าง ทำให้ช้างป่าไม่มีทางเลือกนอกจากจะรุกล้ำเข้าสู่พื้นที่อาศัยของมนุษย์”


ถอดความและเรียบเรียงจาก Habitat loss is driving human-elephant conflicts in Thailand

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก