‘ไม่มีใครจากเราไปไหน หากเรายังคิดถึงเขาอยู่’ เป็นชื่อหนังสือรวมผลงานเขียนเล่มล่าสุดของ ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ หรือที่ใครหลายคนอาจเรียกว่าหม่อมเชน – พี่เชน
แรกได้ยินชื่อทำเอารู้สึก ‘แปลกใจ’ อยู่ชั่วขณะกับการตั้งชื่อที่ออกไปทางโรแมนติก ชวนเดาเอาได้ว่าจะเป็นเรื่องระหว่างคนกับคนมากกว่าเรื่องของคนที่เฝ้ามองสัตว์ป่าผ่านดวงตาของเลนส์
เป็นความรู้สึกที่แตกต่างจากผลงานรวมเล่มในรอบหลายปีมา ที่มักจะเห็นหนังสือของพี่เชนตั้งชื่อออกไปทางเรื่องราวของผืนป่าสัตว์ป่า ไม่ว่าจะเป็น ‘ชีวิตไพรห้วยขาแข้ง’ ‘ชีพจรไพร’ ‘มิตรภาพต่างสายพันธุ์’ ‘ทางของคน ถนนของเสือ’ ‘เลนส์และสัตว์ป่า’ ‘เสือสอน’ ฯลฯ
แต่ไม่ใช่ว่าพี่เชน (หรือบรรณาธิการ) จะไม่เคยตั้งชื่อหนังสือทางโรแมนติกมาก่อน ‘โลกของเราขาวไม่เท่ากัน’ ที่ทำร่วมกับคุณวรพจน์ พันธุ์พงศ์ หรือ ‘เดินบนถนนมิตรภาพ’ ก็เคยให้ความรู้สึกทำนองนี้มาแล้ว
แต่ความเคยชินบางอย่างจึงทำให้อดไม่ได้ที่จะ ‘สะดุด’ ไปบ้างในบางนาที
เรื่องชื่อขอละไว้เท่านี้ก่อน เพราะที่สำคัญกว่าคือสิ่งที่อยู่ภายใน
ไม่ว่าชื่อหนังสือจะเป็นอย่างไร แต่ ‘น้ำเสียง’ ในการเล่าเรื่องยังคงให้ความรู้สึกไม่ต่างจากเดิม
เรื่องราวของการทำงานในผืนป่าร่วมกับ ‘เพื่อน’ ทั้งพิทักษ์ป่า หรืออาสาสมัครและชาวบ้าน ที่เข้ามาช่วยเหลืองานถ่ายภาพสัตว์ป่ายังมีให้อ่านอยู่ครบ รวมถึงสิ่งรายล้อมรอบตัว บรรยากาศ อารมณ์ ความนึกคิดที่ตกผลึกระหว่างการใช้ชีวิตกลางผืนป่าใหญ่ต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่เผชิญพบประจำวัน ก็ยังเป็นสิ่งที่ผู้อ่านจะได้รับจากหนังสือเล่มนี้ และจากผลงานของพี่เชน นับตั้งแต่วันที่เรารู้จักช่างภาพท่านนี้ในฐานะนักเขียน
ถ้าจะมีอะไรที่ต่างออกไปบ้าง ก็คงจะเป็นวิธีของการเล่าเรื่องที่ไม่ได้หยุดอยู่เพียงพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเพียงแห่งเดียว
หากติดตามผลงานของพี่เชนมาตลอดจะพบว่าผลงานในแต่ละเล่มเป็นเหมือนงานเชิงสารคดีที่บรรยายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ฉายให้เราเห็นภาพของพื้นที่นั้นในทุกๆ มิติเช่นเดียวกับที่นักเขียนได้สัมผัส
แต่กับ ‘ไม่มีใครจากเราไปไหน หากเรายังคิดถึงเขาอยู่’ ในบทๆ หนึ่งเราจะพบบรรยากาศที่หลากหลายมากกว่า
เป็นเรื่องเล่าร้อยเรียง อ้างอิงถึงสถานที่ต่างๆ มากกว่าหนึ่งแห่งในตอนเดียว ทั้งจากทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกไปห้วยขาแข้ง จากห้องทำงานที่บ้านไปสู่ป่าใหญ่
มันทำให้ดูสะเปะสะปะมั่วซั่วไปบ้างไหม …เปล่าเลย กลับทำให้เราเข้าใจถึงความเชื่อมโยงกันของคนกับป่า ของธรรมชาติกับโลกได้มากยิ่งขึ้น
เป็นการเล่าถึงความสัมพันธ์กันระหว่างทุกสรรพชีวิตในธรรมชาติที่ไม่มีทางแยกออกจากกัน ไม่ว่าจะอยู่แห่งหนไหนก็ล้วนเชื่อมโยงถึงกันได้เสมอ
เป็น ‘ความเชื่อ’ ที่พี่เชนเคยเล่าสู่กันฟังมาแล้วหลายต่อหลายหน
ครั้งหนึ่งพี่เชนเคยบรรยายให้อาสาสมัครที่มาช่วยงานรำลึก สืบ นาคะเสถียร ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งฟังว่า
“สัตว์ป่าไม่ใช่เรื่องที่ไกลกับชีวิตของคนเมือง การรู้จักสัตว์ป่ามันเป็นสิ่งจำเป็น เพราะชีวิตสัตว์ป่าเป็นเรื่องเดียวกับชีวิตคน เพียงแต่สัตว์ป่าอยู่ในอีกสถานภาพหนึ่งเท่านั้น เหมือนกับเราไปเจอคนต่างชาติต่างภาษาที่แตกต่างกับเรา เขาเป็นแบบหนึ่งเราเป็นอีกแบบหนึ่ง เราทั้งหมดต่างอยู่ในโลกเดียวกัน ไม่ได้อยู่คนละมิติ ไม่ได้อยู่คนละโลก สัตว์ป่าใช้น้ำใช้อากาศเหมือนกับมนุษย์ สิ่งที่มนุษย์ทำก็มีผลต่อสัตว์ป่า”
สำหรับในหนังสือเล่มนี้ พี่เชนเขียนเรื่องราวตอนหนึ่งเอาไว้ว่า
“ผมนั่งข้างกองไฟ ไฟฉายคาดหัวอ่านหนังสือ หลายครั้งที่ผมต้องหยุดอ่าน วางหนังสือบนตักหลับตาหรือมองกองไฟด้วยดวงตาอันพร่าเลือน ไม่ใช่เพราะความซาบซึ้งในหนังสือ แต่ด้วยความรู้สึกว่าทุกบรรทัดที่กำลังอ่านอยู่นี้ ได้ผ่านสายตาพ่อมาแล้ว
“ผมไม่รู้หรอกว่าแท้จริงแล้วเมื่อจากโลกนี้ไปจะเป็นเช่นไร จะเป็นแล้วแต่ความเชื่อ หรืออย่างไรก็ตาม สำหรับผมเชื่อเช่นเดียวกับเพื่อนๆ ชาวเขาว่า
“ไม่มีใครจากเราไปไหนเมื่อเราคิดถึงเขาอยู่
“อ่านหนังสือบรรทัดเดียวกับที่พ่อเคยอ่าน ผมรู้ว่าในป่าซึ่งรายล้อมด้วยความมืดมิด พ่อคงอยู่ไม่ไกล”
ความคิดถึงเป็นสิ่งที่สัมผัสได้เสมอ และเราต่างมีห้วงอารมณ์นี้กันทุกคน
เกือบครึ่งของผลงานเขียนในหนังสือเล่มนี้ เป็นเรื่องราวจากห้วงคำนึงของคนที่จากไป คือ ‘พ่อ’
เป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน จากผู้เขียนต่อคนอันเป็นที่รัก
อาจเป็นความต่างไปจากความคุ้นชินของเราบ้าง แต่ไม่ได้หมายความว่าเรื่องเล่านั้นจะแตกต่างไปเสียทั้งหมด
เมื่อชีวิตยังต้องดำเนินไปตามเวลาที่ล่วงผ่านอย่างมิเคยหยุดพัก และต่อหน้าที่ของช่างภาพสัตว์ป่าที่ยังต้องวาดแสงเป็นภาพไปตราบเท่าที่แรงยังมี และจนกว่าจะอธิบาย ‘ความไม่เข้าใจ’ เรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์ป่าให้มลายสิ้น คงเป็นไปไม่ได้ที่ใครจะหยุดความต้องการในบางชั่วขณะหนึ่งเพื่อรักษาสิ่งหนึ่งสิ่งใดเอาไว้
ผู้เขียนเลือกที่จะเข้าใจสิ่งต่างๆ จากเรื่องราวที่ได้พบในแต่ละวัน และอธิบายออกมาว่าเราสามารถอยู่กับสิ่งนั้นอย่างไร
วางความเคยชินไว้ ณ จุดหนึ่ง เพื่อเดินต่อ แต่ก็ไม่ลืมความทรงจำดีๆ ที่ผ่านพ้น
คงไม่เป็นไรหากในระหว่างวันหรือระหว่างบรรทัดจะแบ่งเวลาสักนาทีเพื่อคิดถึงสิ่งสำคัญในชีวิตเอาไว้สักหน่อย
ความคิดถึงไม่ได้ทำให้เราอ่อนแอ หรือทำให้เรามัวแต่จดจ่อกับความหลังจนลืมวันพรุ่งนี้
แต่มันทำให้เราเข้าใจสิ่งที่ผ่านมามากยิ่งขึ้น
ผมอ่านหนังสือเล่มนี้จบ แล้วกลับมามองชื่อบนหน้าปกใหม่อีกครั้งอย่างเข้าใจในความหมาย