ภาพหมีขั้วโลกติดอยู่บนก้อนน้ำแข็งที่ค่อยๆ เล็กลง มันเป็นภาพที่เราเห็นได้บ่อย และแสดงให้เห็นถึงผลกระทบอันร้ายแรงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
อันที่จริงแล้วภาพที่ว่านี้เป็นการอธิบายด้วยความเข้าใจที่ผิดอยู่บ้าง เพราะหมีขั้วโลกเป็นนักว่ายน้ำที่ทรงพลัง แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ยังส่งผลกระทบต่อหมีขั้วโลกในมิติอื่นๆ อยู่ดี โดยเฉพาะปัญหาในเรื่องการหาอาหาร
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ต่างก็ยอมรับว่า การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิแม้เพียงเล็กน้อยก็สามารถคุกคามชีวิตของสัตว์ได้เป็นจำนวนมาก
ในการศึกษาชิ้นหนึ่งว่าด้วยเรื่องของสิ่งมีชีวิตที่อาจได้รับผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระบุเอาไว้ว่า 80% ของสัตว์ป่ากว่า 1,500 ชนิด จะแสดงสัญญาณของความเครียดเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน
ผลกระทบประการสำคัญของภาวะโลกร้อนที่มีต่อสัตว์ป่า คือ การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศในถิ่นที่อยู่อาศัยซึ่งสัตว์ต้องใช้เวลาหลายล้านปีในการปรับตัวเพื่อให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสมดุลในระบบนิเวศแต่ละแห่ง
การที่สัตว์ต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะลดความสามารถในการตอบสนองความต้องการของเผ่าพันธุ์ลง ที่อยู่อาศัยที่เปลี่ยนไปมักเกิดจาการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและปริมาณของน้ำ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืชพื้นถิ่น – อันหมายถึงแหล่งอาหารของสัตว์
ในบางครั้งสัตว์ป่าที่ได้รับผลกระทบอาจสามารถเอาตัวรอดได้ด้วยการอพยพไปหาถิ่นที่อยู่ใหม่ แต่การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรมนุษย์ในปัจจุบันก็อาจทำให้พื้นที่ลี้ภัยของสัตว์ป่าต้องลดลงไปจากเดิมด้วยเช่นกัน – เมือง ถนน การพัฒนาถิ่นที่อยู่อาศัย และพื้นที่อุตสาหกรรมทำให้สัตว์ป่าและพืชพรรณไม่สามารถกระจายตัวไปอยู่ในพื้นที่ใหม่ได้
นอกเหนือจากเรื่องของถิ่นที่อยู่อาศัยที่ถูกจำกัดให้น้อยลง นักวิทยาศาสตร์ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ภาวะโลกร้อนทำให้วัฏจักรของช่วงเวลาต่างๆ ในธรรมชาติเกิดการบิดเบี้ยวอย่างผิดเพี้ยน
นกหลายตัวต้องเปลี่ยนแปลงช่วงเวลาของการอพยพย้ายถิ่นและการสืบพันธุ์ที่ดำเนินมาเป็นเวลาเนิ่นนานเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศที่ร้อนขึ้น และสัตว์จำศีลบางประเภทก็ต้องออกจากถ้ำเร็วขึ้นเพราะอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
สิ่งที่แย่หนักขึ้นไปอีก เมื่อการวิจัยในปัจจุบันกลับขัดแย้งกับสมติฐานเดิมที่ถือกันมานานว่าสัตว์แต่ละชนิดที่อยู่ร่วมในระบบนิเวศเดียวกันจะตอบสนองต่อสภาวะโลกร้อนในแบบเดียวกัน แต่ทว่าในถิ่นที่อยู่อาศัยหนึ่งที่มีหลากหลายสายพันธุ์เข้ามาใช้ประโยชน์ร่วมกันกับกำลังตอบสนองต่อผลที่กระทบที่ได้รับแตกต่างกันไป
เมื่อสัตว์ป่าเริ่มดิ้นรนต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอด บางครั้งมันคือการกระจายผลกระทบให้แผ่ออกไปในวงที่กว้างมากยิ่งขึ้น เช่น ด้วงสนภูเขาทางตอนเหนือของสหรัฐอเมริกาได้แพร่กระจายไปยังแคนาดาและได้ทำลายต้นสนบางชนิดในป่าที่อื่นๆ ได้ เช่นเดียวกับการย้ายถิ่นของของตัวหนอนในประเทศเนเธอร์แลนด์ก็ได้ทำลายป่าที่อยู่อาศัยใหม่ไปเหมือนกัน
หากเรายังไม่ให้ความสำคัญต่อปัญหาเรื่องโลกร้อน ในอนาคตจะมีสัตว์ป่าอีกหลายสายพันธุ์ที่ต้องเผชิญชะตากรรมต่อการสูญพันธุ์อย่างแน่นอน