วัสดุธรรมชาติ ที่ให้โทนสีเหลือง-แสด ยกตัวอย่างเช่น ส่วนรากของยอป่าซึ่งให้สีแดง-ส้ม แต่ถ้าใช้ส่วนของเนื้อรากจะให้สีเหลือง หรือแก่นไม้แกแลที่ให้สีเหลืองทอง เหลืองเข้ม เหลืองเขียว เปลือกเพกาก็สามารถให้ได้ทั้งโทนสีเขียว-เหลือง และฝักของต้นราชพฤกษ์หรือคูณ ซึ่งพบได้ทั่วไปตามท้องถนน ก็สามารถให้สีส้มอ่อนอมเทาได้เช่นกัน
นอกจากที่กล่าวไปข้างต้น ยังมีวัสดุหรือพืชธรรมชาติที่คนไทยนำมาใช้สกัดสีเพื่อใช้ประโยชน์และเป็นวัสดุที่หาได้ง่าย วันนี้จึงขอยกตัวอย่างวัสดุธรรมชาติที่ให้สีโทนดังกล่าวที่มีการใช้อย่างแพร่หลายในท้องถิ่นหลายแห่ง ได้แก่ ขมิ้นชัน แก่นขนุน และเมล็ดคำแสด เป็นต้น วัสดุธรรมชาติที่ให้สีเหลืองที่เรานึกถึงเป็นอันดับแรกก็คงเป็นขมิ้นชัน แน่นอนว่าเป็นพืชที่เรารู้จักกันดีเพราะมีการใช้ประโยชน์มาเป็นเวลานาน
โดยจะใช้จากส่วนหัวหรือเหง้าขมิ้น นิยมใช้ในการประกอบอาหาร แต่งสี แต่งกลิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสรรพคุณทางยามากมาย จึงมักเป็นส่วนผสมสำคัญในตัวยาแผนไทยและเครื่องสำอางหลายประเภท เหง้าของขมิ้นชันมีผิวนอกเป็นสีเหลือง-น้ำตาล ส่วนด้านในมีสีเหลืองเข้มหรือสีส้มปนน้ำตาล เมื่อบดเป็นผงจะมีสีเหลืองทองหรือสีเหลืองส้มปนน้ำตาล สารสีเหลืองจากขมิ้นชันนั้นมีสารสำคัญ คือ เคอร์คิวมิน (cur cumin) เป็นสารกลุ่มเคอร์คิวมินนอยด์ อยู่ร้อยละ 5 เป็นสารสีเหลืองปนส้ม ใช้แต่งสีอาหารรวมถึงย้อมผ้าด้วย
การสกัดสีย้อมจากขมิ้นชันทำได้ไม่ยาก สามารถนำมาตำและคั้นกรองเอาน้ำสี แล้วนำผ้าฝ้ายลงไปย้อมในน้ำสี อาจเติมน้ำมะนาวเป็นสารช่วยย้อม เพื่อให้สีติดผ้าแน่นยิ่งขึ้น (กระบวนการสกัดสีและย้อมอาจแตกต่างกันไป) ในขณะที่ไม้ขนุน เป็นไม้โบราณที่อยู่คู่กับคนไทยมานาน เห็นได้จากชื่อของสถานที่ในประเทศไทยหลายแห่งก็มีคำว่าขนุนอยู่ อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในไม้มงคลตามความเชื่อว่าจะมีคนเกื้อหนุน หนุนนำ มีบารมี เงินทอง จึงนิยมปลูกในบริเวณบ้าน และเนื้อไม้ก็สามารถใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ได้ด้วย โดยส่วนที่นิยมใช้สกัดสี คือ “แก่นขนุน” หรือเรียกอีกอย่างว่า “กรัก” ได้มาจากต้นขนุนที่เราพบเห็นทั่วไป นิยมนำมาใช้ย้อมสี จะให้สีออกเหลืองแก่ หรือสีกรัก โดยสีเหลืองที่ได้นั้นมาจากสาร Morin ซึ่งเป็นสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์
ผ้าสีกรัก เป็นผ้าที่นิยมใช้ในหมู่พระธุดงค์พระป่า และพระกรรมฐาน เนื่องจากถือคติว่าเป็นสีปอน เป็นสีที่เกิดจากธรรมชาติไม่ฉูดฉาดต่างจากผ้าที่ได้จากสีย้อมสังเคราะห์ นอกจากนี้ ส่วนของใบและรากขนุนเองก็ให้โทนสีเหลือง-เหลืองเขียวได้เช่นกัน สีสันอาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสารช่วยย้อม แต่แก่นขนุนนั้นค่อนข้างได้รับความนิยมมากกว่า และมีจำหน่ายทั่วไปเพื่อใช้ในการสกัดสีย้อมผ้าอีกด้วย
การสกัดสีจากแก่นขนุนเพื่อย้อมผ้านั้น สามารถหาซื้อแก่นขนุนแห้งสำเร็จรูปหรือเอาแก่นที่ไสและเลื่อยเป็นชิ้นเล็ก ๆ มาต้มจนได้สีตามที่ต้องการ อาจเติมเกลือเพื่อให้สีติดแน่นขึ้น กรองเอาน้ำสี หลังจากนั้นจึงนำผ้าลงไปย้อมร้อน แช่ทิ้งไว้ประมาณ 24 ชั่วโมง แล้วนำผ้าขึ้นตาก พืชชนิดต่อมา คือ “คำแสด” หรือ คำเงาะ หรือ คำไทย เรียกได้แตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น คำแสดไม่ใช่ไม้ท้องถิ่นของไทย โดยมีถิ่นกำเนิดเดิมอยู่แถบเขตร้อนของอเมริกากลาง และขยายมาจนถึงเขตร้อนทั่วโลก สำหรับประเทศไทยมีการปลูกทั่วทุกภาคโดยส่วนที่ให้สีมีทั้งดอก ผล และใบ…แต่ส่วนที่ถูกนำมาสกัดใช้สีย้อมมากที่สุด คือ “เมล็ดคำแสด”
เมล็ดคำแสดถูกหุ้มด้วยเปลือกแข็งของผลทรงสามเหลี่ยมปลายแหลม เมื่อผลแก่จะแตกออกเห็นเมล็ดคำแสดที่ซ่อนอยู่ภายใน ลักษณะเป็นเมล็ดกลมเล็ก ๆ สีน้ำตาลแดงจำนวนมาก เนื้อหุ้มเมล็ดมีสีแดงหรือสีแสด ซึ่งเป็นส่วนที่ให้สีได้เช่นกัน คำแสด เป็นพืชที่มีการใช้ประโยชน์จากการสกัดสี สีที่ได้จากเมล็ดคำแสด เรียกว่า สี annatto ซึ่งตรงกับชื่อสามัญของไม้ชนิดนี้ คือ Annatto tree โดยสีที่ได้จากเมล็ดคำแสดเป็นสีแสดสดหรือสีส้มอมแดง สีที่สกัดจากเมล็ดคำแสดมีการใช้ประโยชน์ในหลายประเทศ ทั้งในการย้อมผ้าและสีผสมอาหาร โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์นม จึงมีการส่งขายในชื่อเมล็ด annatto หรือ Annatto Seed
องค์ประกอบของสีจากเมล็ดคำแสดประกอบด้วยสาร Bixin (สีแสด) และ Bixol (สีเขียวเข้ม) ในประเทศอินเดียเองก็ใช้ส่วนของผลที่หุ้มผลสุก เรียกว่า กมลา (kamala) ย้อมผ้าไหมและผ้าขนสัตว์เป็นสีส้มสด และมีการใช้เมล็ดคำแสดย้อมผ้าฝ้าย รวมถึงในไทยเช่นกัน ปัจจุบันเมล็ดคำแสดมีการพัฒนาเป็งผงสีสำเร็จรูปแล้ว หรือจะนำเมล็ดคำแสดมาบด เติมนํ้า และกรองเอากากออก ปล่อยให้สีตกตะกอน แล้วรินน้ำใส ๆ ทิ้ง นํ้าที่เหลือนำไประเหยแห้งจะได้สีเป็นก้อนสีแดงส้ม หลังจากนั้นก็นำก้อนสีที่มาบดและต้ม และย้อมผ้าโดยกรรมวิธีย้อมร้อน อย่างไรก็ตาม กระบวนการย้อมและสารช่วยย้อมที่แตกต่างกัน จะให้สีที่หลากหลายถึงแม้จะใช้วัสดุธรรมชาติชนิดเดียวกันก็ตาม
แหล่งอ้างอิง
1. การศึกษาพรรณไม้ย้อมสีและภูมิปัญญาการย้อมสีธรรมชาติของกลุ่มทอผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ ต.วังทอง อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี (สุภาวดี, 2551)
2. การพัฒนาการเตรียมสีผงจากสีย้อมธรรมชาติ (ไพรัตน์ และคณะ, 2557)
3. คำแสด
4. หนังสือ พันธุ์ไม้ย้อมสีธรรมชาติ
5. หนังสือ สีธรรมชาติ : กระบวนการและมาตรฐานการย้อม
6. เมล็ดคำไทย
วัสดุธรรมชาติที่ให้สีโทนน้ำตาล สารที่ทำให้เกิดสีน้ำตาลหลัก ๆ คือ สารแทนนิน ซึ่งพบได้แทบทุกส่วนของพืช
มังคุด ผลไม้สุดโปรดของใครหลายคน ด้วยรสชาติหวานอร่อย เป็นที่นิยมมากในแถบเอเชีย จนได้รับการขนานนามว่า “ราชินีแห่งผลไม้” จึงเป็นที่นิยมบริโภคและเป็นผลไม้เศรษฐกิจในปัจจุบัน ไม่เพียงแต่เนื้อของผลที่มีรสชาติอร่อย เปลือกของมังคุดเองก็มีการใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย โดยสารแซนโทนที่มีมากในเปลือกมังคุดนั้น มีฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรีย ยับยั้งการอักเสบ และยับยั้งอนุมูลอิสระ จึงมีการพัฒนาเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางและตัวยาเพื่อการเลี้ยงสัตว์หรือด้านการเกษตร เป็นต้น
ในส่วนของการใช้ประโยชน์ในด้านการย้อมผ้า สีที่ได้จะเป็นสีน้ำตาล-น้ำตาลแดง ขึ้นอยู่กับกระบวนการย้อม สารหลักที่เกี่ยวข้องกับการให้สีของเปลือกมังคุด คือ “แทนนิน” ซึ่งให้สีเหลืองหรือน้ำตาล โดยแทนนินมีการใช้ในอุตสาหกรรมฟอกย้อมมาเป็นเวลานานหากใครเคยเผลอกัดเปลือกมังคุดเข้าให้ ก็จะเจอเข้ากับรสฝาดและขม นั่นก็คือรสชาติของแทนนิน นอกจากนี้ ใบของมังคุดก็นำมาย้อมได้ โดยเติมสารส้มช่วยติดสีก็จะให้สีออกน้ำตาลแดงเช่นกัน และเราก็มักจะพบแทนนินในพืชที่ถูกใช้ในการย้อมสีหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นประดู่ หูกวาง หรือสาบเสือ เป็นต้น
สำหรับการนำเปลือกมังคุดมาย้อม สามารถใช้ได้ทั้งเปลือกผลสดและเปลือกผลแห้ง และย้อมด้วยกระบวนการย้อมร้อน สีที่ได้จากเป็นสีน้ำตาลอมเหลือง หรือใช้เป็นสารช่วยย้อมซึ่งทำให้สีธรรมชาติบนผ้าติดทนยิ่งขึ้นก็ดี
มะขามป้อม ที่เป็นส่วนผสมของตัวยาหลายขนาน โดยเฉพาะในยาอม…และเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางอีกด้วย ในอินเดียมีการใช้ประโยชน์มะขามป้อมเป็นเวลาหลายพันปีแล้ว โดยเรียกผลไม้ชนิดนี้ว่า “Akmalaka” ซึ่งแปลว่า พยาบาล และไม้ชนิดนี้ยังมีการกล่าวถึงในพุทธประวัติตามความเชื่อของชาวฮินดู สำหรับประเทศไทย มะขามป้อมเป็นผลไม้ป่าที่คนไทยรู้จักมานาน นิยมรับประทานทั้งแบบผลสดและแปรรูป และเป็นผลไม้ประจำจังหวัดสระแก้ว
การใช้ประโยชน์ในการเป็นสีย้อมนั้น ทางภาคเหนือนิยมใช้เปลือกของต้นมะขามป้อมย้อมเส้นใย ไหม หรือผ้าขนสัตว์ โดยเฉพาะในใบแห้ง มีแทนนินมากเมื่อย้อมผ้าจะให้สีน้ำตาลแกมเหลือง แต่ถ้าผสมเกลือจะได้สีน้ำตาลอมดำ และหากย้อมเสื่อด้วยเปลือกต้นก็จะให้สีดำ หรือจะใช้ลูกมะขามป้อมแช่น้ำไว้ข้ามวันจนน้ำเปลี่ยนเป็นสีดำ แล้วจึงนำผ้าลงไปย้อมร้อน จะได้ผ้าสีดำแกมเขียวหรือสีเทา
ปัจจุบันมีการพัฒนาสกัดสีย้อมผมธรรมชาติจากมะขามป้อมแล้ว นอกจากนี้ เปลือกไม้โกงกางแห้งก็ให้สีน้ำตาลได้เช่นกัน เนื่องจากเปลือกไม้มีสารแทนนินและฟีนอลเป็นจำนวนมาก สีสันที่แตกต่างกันแปรเปลี่ยนไปตามประเภทและความสด-แก่ของวัสดุที่นำมาใช้และสารช่วยย้อม พืชหลายชนิดก็สามารถให้ได้ทั้งโทนสีชมพูไปจนถึงสีน้ำตาล หรือโทนเขียว-น้ำตาล ยกตัวอย่างเช่น ใบหรือแก่นของต้นสัก ก็สามารถให้สีกากีหรือสีน้ำตาลได้เช่นกัน หรือเปลือกเพกาต้มกับน้ำผลมะเกลือหรือน้ำโคลนเป็นสารช่วยย้อม จะได้สีเหลืองส้มอมน้ำตาล หรือเปลือกมะพร้าวแก่กับสารส้ม/น้ำด่างขี้เถ้าจะได้สีน้ำตาลแดง ขณะที่เปลือกผลมะพร้าวอ่อนกับสารส้มจะได้สีครีม
แหล่งอ้างอิง
1. หนังสือ พันธุ์ไม้ย้อมสีธรรมชาติ
2. มะขามป้อม
3. สรรพคุณและประโยชน์ของมะขามป้อม
4. รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ : การพัฒนาสีย้อมธรรมชาติในรูปแบบผงสำหรับอุตสาหกรรมผ้าฝ้ายและผ้าไหมในเขต จังหวัดอุบลราชธานี
5. โกงกางใบใหญ่
วัสดุธรรมชาติที่ให้สีดำ-เทา โดยวัสดุที่มีการใช้ประโยชน์หลัก ๆ และใช้กันอย่างแพร่หลาย คือ ผลของมะเกลือ เนื่องจากให้สีดำสนิท และมีความคงทนต่อการซักและแสงดีมาก
มะเกลือ เป็นวัตถุดิบธรรมชาติที่ใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย พบได้ตามป่าเบญจพรรณ โดยผลมะเกลือมีสรรพคุณทางยานิยมใช้ในการถ่ายพยาธิ แต่ต้องใช้ในปริมาณที่เหมาะสม ในขณะที่เนื้อไม้ก็มีความละเอียด แข็งแรงทนทาน ใช้ทำเครื่องเรือน เฟอร์นิเจอร์ และอื่น ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ยังนิยมใช้ในการย้อมผ้าอย่างแพร่หลาย โดยใช้ผลแก่ที่มียาง ซึ่งมีสารไดออสไพรอลไดกลูโคไซต์ เมื่อสัมผัสอากาศจะกลายเป็นสารไดออสไพรอลที่มีสีดำ เมื่อนำไปย้อมผ้าสีให้สีดำสนิท ติดทนดี
การย้อมผ้าด้วยมะเกลือมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นกิจกรรมของคนจีนในสมัยนั้น เนื่องจากนิยมใส่กางเกงผ้าแพรสีดำ แต่สมัยนั้นยังไม่มีสีสังเคราะห์จึงใช้ผ้าย้อมสีดำจากผลมะเกลือ และเกิดกิจการ “โรงย้อมมะเกลือ” กระจายหลายแห่งในฝั่งธนบุรี โดยจะมีลานกว้างสำหรับย้อมผ้าและตั้งอยู่ติดกับลำคลองเพื่อใช้ในกระบวนการล้างสีย้อม เรียกว่า “ลานมะเกลือ”
การย้อมผ้าด้วยผลมะเกลือจะต้องใช้เวลา โดยใช้ได้ทั้งผลดิบและผลสุก แต่ใช้ผลสุกจะสะดวกกว่า โดยนำผลสุกสีดำมาบดละเอียด กรองเอาแต่น้ำสีดำมาย้อมแล้วตาก ต้องย้อมซ้ำอีกประมาณ 3 ครั้ง หมักกับโคลนประมาณ 1-2 คืนเพื่อช่วยติดสี จะได้ผ้าสีดำสนิท
ในขณะที่เปลือกเงาะโรงเรียน ที่เรานิยมรับประทานก็สามารถนำมาใช้ย้อมผ้าได้เช่นกัน เนื่องจากในเปลือกสารแทนนินอยู่ การย้อมผ้าด้วยเปลือกเงาะจะใช้เปลือกสดมาบดเป็นชิ้นเล็ก ๆ ไปต้มกับน้ำเพื่อสกัดสี โดยสีที่ได้นี้จะเป็นสีน้ำตาลเข้ม หลังจากนั้นจึงนำผ้าลงไปย้อมร้อนกับน้ำสีที่ได้ แล้วหมักกับโคลนเป็นเวลาวันละ 7-8 ชั่วโมง นาน 3 วัน ผ้าที่ได้จะกลายเป็นสีดำใกล้เคียงกับมะเกลือ
นอกจากนี้ยังมีรายงานการใช้ประโยชน์ย้อมผ้าจากลูกกระบกผสมกับโคลนก็จะได้สีเทา-เทาดำเช่นกัน แต่ปัจจุบันไม่พบการย้อมผ้าด้วยกระบกมากนัก อาจเป็นเพราะเป็นไม้ที่ไม่นิยมปลูก มักขึ้นเองตามธรรมชาติ และออกผลตามฤดูกาล จะเห็นได้ว่า ผ้าจากสีย้อมธรรมชาติที่เป็นสีดำ จะต้องนำไปหมักกับโคลน เนื่องจากช่วยให้สีย้อมจากวัสดุธรรมชาติที่ได้ติดทนมากยิ่งขึ้น และให้สีที่เข้มขึ้นอีกด้วย
แหล่งอ้างอิง
1. สีดำจากลูกมะเกลือ
2. อภิญญา นนท์นาท บทความเรื่อง สรุปสังสนทนา ครั้งที่ ๕ เรื่อง ทวนความหลังกับคนหลังวัง (เดิม)
3. สรรพคุณต้นมะเกลือ
4. พันธุ์ไม้ย้อมสีธรรมชาติ : เงาะ
6. พันธุ์ไม้ย้อมสีธรรมชาติ : กระบก
วัสดุธรรมชาติที่ให้สีคราม พืชที่ให้สีครามหรือสีน้ำเงินในบ้านเราที่นิยมใช้ในการย้อมผ้า จะมีหลัก ๆ อยู่ 3 ชนิด คือ ต้นคราม ต้นฮ่อม และต้นเบือก/เบิก แต่ที่นิยมใช้ประโยชน์ คือ ต้นคราม/ถั่วคราม และต้นฮ่อม แต่อาจเพราะชื่อเรียกที่แตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น และบางพื้นที่ก็เรียกต้นฮ่อมว่าคราม จึงมักถูกเข้าใจผิดคิดว่าเป็นพืชชนิดเดียวกัน แท้จริงแล้วพืชทั้งสองชนิดนี้อยู่กันคนละวงศ์กัน อีกทั้งยังเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่ต่างกัน
คราม เป็นพืชล้มลุกตระกูลถั่ว จึงเรียกว่าถั่วครามก็ได้ จัดอยู่ในสกุล Indigofera spp. วงศ์ FABACEAE โดยในเอเชียมีอยู่ 2 ชนิด คือ คราม (I. tinctoria L.) และครามใหญ่ (I. suffruticosa Mill.) มีใบประกอบแบบขนนกเรียงสลับ ดอกช่อออกตามซอกใบรูปดอกถั่วสีชมพู ผลเป็นฝัก มีทั้งฝักตรงและฝักโค้ง ต้นถั่วครามชอบพื้นที่ที่เป็นดินร่วน น้ำน้อย แดดจัด จึงควรปลูกบริเวณที่ดอนโล่ง มีแสงแดดเพียงพอ ตามหัวไร่ปลายนาก็ได้
อันที่จริงแล้วมนุษย์มีการใช้ประโยชน์ถั่วครามในการย้อมผ้ามาเป็นเวลากว่า 2,000 ปีแล้ว ในประเทศไทยการย้อมสีจากครามเป็นภูมิปัญญาที่มีการปฏิบัติมาแต่โบราณ โดยเฉพาะแถบภาคอีสานเหนือ มีการสอดแทรกเรื่องคติความเชื่อการย้อม จิตวิญญาณในครามและหม้อย้อมคราม ที่เรียกว่า “หม้อนิล” ซึ่งผู้ย้อมครามต้องคอยเอาใจใส่กระบวนการย้อม เพื่อให้ได้สีย้อมครามที่ดีและผ้าย้อมสีครามที่ติดสีอย่างสม่ำเสมอ
ในขณะที่เมื่อพูดถึง ฮ่อม เราจะนึกถึงเสื้อผ้าสีคราม ของฝากขึ้นชื่อจากจังหวัดแพร่ เรียกว่า “ผ้าม่อฮ่อม” โดยคำว่า “ม่อ” เพี้ยนมาจาก มอ มีความหมายว่า สีมืด สีคราม บ้างก็เขียนว่า “หม้อ”หมายความถึงภาชนะที่ใช้ในการหมักใบฮ่อม ส่วนคำว่า “ฮ่อม” หมายถึง สีครามที่ได้จากต้นฮ่อม ซึ่งต้นฮ่อมนี้เป็นไม้ล้มลุก มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Strobilanthes cusia (Nees) Kuntze. วงศ์ ACANTHACEAE ลำต้นสูง 50 – 150 ซม. ลักษณะเป็นใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามรูปวงรี ขอบใบหยักฟันเลื่อยละเอียด
การย้อมสีจากฮ่อมมีการปฏิบัติกันมากทางภาคเหนือโดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์เผ่าไท แต่ปัจจุบันกลับลดน้อยลง ด้วยข้อจำกัดที่ต้องปลูกในพื้นที่สูง ใกล้ลำธาร มีแสงรำไร หรือมักขึ้นในบริเวณป่าดิบเขาหรือป่าสนเขาที่มีอากาศเย็นตลอดทั้งปี อีกทั้งไม่ค่อยมีการส่งเสริมปลูกในเชิงอุตสาหกรรมมากนัก ซึ่งผ้าม่อฮ่อมที่จำหน่ายในปัจจุบันส่วนมากย้อมมาจากสีสังเคราะห์หรือสีจากครามถั่วที่มีส่วนผสมของฮ่อมบางส่วนเท่านั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าสถานการณ์การย้อมสีครามจากต้นฮ่อมค่อนข้างวิกฤติ ด้วยวัตถุดิบที่หายาก อันส่งผลให้ภูมิปัญญาท้องถิ่นการใช้สีย้อมจากฮ่อมอาจสูญหายไปในอนาคต
สีครามทั้งจากครามถั่วและฮ่อมที่ได้นั้นมาจากกระบวนการหมักใบพืช โดยมีสาร Indigo ที่ให้สีน้ำเงิน ซึ่งเป็นสารกลุ่มอัลคาลอยด์ โดยกระบวนการดังกล่าวจะต้องหมักพืชผสมกับปูนขาว ก็จะได้ก้อนสีครามเปียก ซึ่งสามารถนำไปพัฒนาเป็นผงสีต่อไปได้
แหล่งอ้างอิง
1. คราม: สีธรรมชาติจากต้นถั่ว ใช้ย้อมฝ้ายไหม โดย ผศ.ดร. วิชาญ เอียดทอง
2. การพัฒนาการสกัดอินดิโกจากครามและฮ่อมเพื่อใช้ในการย้อมสีธรรมชาติ โดย นิตยา ชะนะญาติ
3. คู่มือที่ 19 การผลิตผ้าย้อมคราม โดย สำนักงาน กปร.
4. สำนักงานราชบัณฑิตยสภา : ม่อฮ่อม หรือ หม้อห้อม
5. สถานภาพและการอนุรักษ์ภูมิปัญญาการใช้สีย้อมจากต้นฮ่อมของกลุ่มชาติพันธุ์เผ่าไท โดย วิชาญ เอียดทอง และ อรไท ผลดี
วัสดุธรรมชาติที่ให้สีเขียว/เขียวเหลือง
สำหรับวัสดุธรรมชาติที่ให้สีเขียวนั้นมีหลากหลายมาก อย่างไรก็ตามวัสดุที่ให้โทนสีเขียวนั้น สามารถให้เฉดสีที่หลากหลายตั้งแต่เขียว-เขียวอ่อน-เหลือง ไปจนถึงสีกากี ขึ้นอยู่กับสารช่วยย้อม ส่วนผสมของวัสดุอื่นในการย้อม และกรรมวิธีในการย้อม
ขอยกตัวอย่างพันธุ์ไม้ที่ให้โทนสีดังกล่าวและสามารถหาได้ง่ายตามบ้านเรา
1. เพกา/ลิ้นฟ้า สามารถพบกระจายได้ทั่วไป จะใช้เปลือกของลำต้นในการย้อมสี สามารถใช้ได้ทั้งเปลือกสดและเปลือกแห้ง การสกัดสีจากเพกาทำได้หลายวิธีและการใช้สารช่วยติดสีที่ต่างกัน ก็จะให้สีที่แตกต่างกัน หากใช้เปลือกสดกับสารส้มช่วยย้อม จะให้สีเหลืองสดใส แต่หากต้องการโทนสีเขียว อาจใช้สารติดสีจำพวกโซเดียมคาร์บอเนต น้ำสนิมเหล็ก หรือจุนสีลงไปขณะย้อม
2. หูกวาง เป็นพันธุ์ไม้ที่นิยมปลูกกันมาก โดยเฉพาะในเมืองก็สามารถพบเห็นได้ง่าย จริง ๆ แล้วหูกวางเป็นไม้ที่มีการใช้ประโยชน์ที่หลากหลายมานานแล้ว ทุกส่วนของต้นหูกวางสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด มีทั้งสรรพคุณทางยา รากและผลดิบใช้ในการฟอกย้อมหนัง เสื่อ และทำน้ำหมึก สีย้อมจากใบหูกวาง จะใช้ใบที่ไม่อ่อนหรือแก่จนเกินไป โดยสารให้สีในใบหูกวางมี 2 กลุ่มโครงสร้าง คือ
2.1 เตตราพิโรล ซึ่งเป็นสารที่ให้สีเขียวเป็นหลัก ได้แก่ พอร์ฟิริน คลอโรฟิลล์ ซึ่งเป็นแมกนีเซียมคอมเพล็กซ์ โดยสีเขียวนี้ไม่ทนต่อสภาพสารละลายที่เป็นกรดหรือมีความร้อน เพราะทำให้แมกนีเซียมหลุดออกจากโมเลกุล สีจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวขี้ม้าหรือน้ำตาลแกมเขียวของสารประกอบฟีโอไฟติน
2.2 โอ-เฮเทอโรไซคลิก ได้แก่ ฟลาโวนอยด์ ประกอบด้วยสาร 3 ชนิด คือ ฟลาโวน ฟลาโวนอล และแอนโทไซยานิน นอกจากนี้ใบหูกวางมีแทนนินเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ซึ่งเป็นสารที่มีคุณสมบัติทำให้สีย้อมติดแน่นทนทาน
3. มะม่วง เป็นพืชที่นิยมปลูกกันมากในประเทศไทย โดยส่วนมากปลูกเพื่อรับประทาน นอกจากนี้เปลือกมะม่วงยังมีคุณสมบัติในการย้อมผ้าโดยให้สีเหลืองอ่อน เขียว เขียวขี้ม้า ขึ้นอยู่กับสารและวัสดุอื่นที่ช่วยย้อม มีการศึกษารงควัตถุสีที่พบในเปลือกมะม่วงส่วนมากอยู่ในกลุ่มฟลาโวนอยด์ ซึ่งให้สีเหลืองเข้ม และรงควัตถุสีที่เป็นสารอนุพันธ์ในกลุ่มแซนโทน ซึ่งอยู่ในรูปกลูโคไซด์ คือ แมงจิเฟอริน (Mangiferin) และนอกจากนี้ยังพบองค์ประกอบอื่น ๆ เช่น Gallic Acid, Epicatechin รวมทั้ง Tannic Acid เป็นต้น
4. สาบเสือ เป็นพืชล้มลุกที่พบได้ทั่วไปในที่รกร้าง ทุ่งหญ้าริมถนน ในไร่ และริมสวนผลไม้ ปัจจุบันมีการศึกษาพัฒนาสารสกัดเพื่อใช้ในการกำจัดศัตรูพืช อีกทั้งยังมีสรรพคุณทางยาช่วยในการห้ามเลือด เนื่องจากมีสาร eupatol, coumarin ซึ่งออกฤทธิ์ที่ผนังเส้นเลือด ทำให้เส้นเลือดหดตัว สาบเสืออาจถูกมองว่าเป็นวัชพืช แต่ในหลายพื้นที่มีการใช้ประโยชน์ในการย้อมผ้าอีกด้วย โดยจะใช้ส่วนใบในการย้อมซึ่งให้สีเขียวอมเหลืองหรือเขียวคล้ำ ในใบสาบเสือประกอบด้วยสารสำคัญ คือ anisic acid และ flavonoid หลายชนิด หนึ่งในนั้น คือ สารกลุ่มแทนนินเช่นกัน
นอกจากนี้ตัวอย่างวัสดุธรรมชาติที่กล่าวมาข้างต้นยังมีพืชอีกหลายชนิดที่ถูกใช้ในการสกัดสีย้อม ไม่ว่าจะเป็นใบและเปลือกจากสมอป่า จะให้สีกากีแกมเขียวหรือเขียวแก่ ใบจากต้นแค ให้สีเขียวอ่อน หรือพืชเศรษฐกิจอย่างสับปะรด หากนำใบอ่อนย้อมกับสารกลุ่มที่เป็นกรด เช่น น้ำมะนาวหรือน้ำมะกรูด จะได้สีเขียวตองอ่อน และใบจากใบเตยก็ให้สีเขียวได้ด้วยเช่นกัน
แหล่งอ้างอิง
1. การพัฒนาการเตรียมสีผงจากสีย้อมธรรมชาติ (ไพรัตน์ และคณะ, 2557)
2. วิทยานิพนธ์ เรื่อง การศึกษาพรรณไม้ย้อมสีและภูมิปัญญาการย้อมสีธรรมชาติของกลุ่มทอผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ ตำบลวังทอง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี
3. ประมวลสารสนเทศพร้อมใช้ การย้อมสิ่งทอด้วยสีธรรมชาติ สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์
4. วิทยานิพนธ์ เรื่อง ประสิทธิภาพของสารสกัดหยาบจากสาบเสือ (Chromolaena odorata (L.) R.M. King & H.Rob.) ว่านน้ำ (Acorus calamus L.) และสมุยหอม (Clausena cambodiana Guill.) ในการควบคุมตัวเต็มวัยด้วงงวงข้าวโพด (Sitophilus zeamais Motschulsky) และมอดแป้ง (Tribolium castaneum (Herbst))
5. วิทยานิพนธ์ เรื่อง การย้อมผ้าไหมด้วยสีจากใบหูกวาง