รู้หรือไม่!! ในประเทศไทยมีสัตว์ตระกูลแมวอาศัยอยู่ในผืนป่า 9 ชนิด ได้แก่ เสือโคร่ง, เสือดาว/เสือดำ, เสือลายเมฆ, เสือไฟ, เสือปลา, เสือกระต่าย, แมวป่าหัวแบน, แมวลายหินอ่อน และแมวดาว โดยในที่นี้ไม่นับรวมแมวบ้านเนื่องจากพวกมันไม่ถูกจัดว่าเป็นสัตว์ป่าในเมืองไทย
ตามหลักอนุกรมวิธานได้จัดแบ่งเสือที่พบในประเทศไทยออกเป็น 6 สกุลด้วยกัน ดังนี้ เสือสกุล Catopuma, เสือสกุล Felis, เสือสกุล Pardofelis, เสือสกุล Prionailurus, เสือสกุล Neofelis และ เสือสกุล Panthera
เสือสกุล Panthera
เสือที่เรารู้จักกันดีคงไม่พ้น “เสือโคร่ง” ที่อยู่ในสกุลแพนเทอรา (Pantheara) ซึ่งเป็นกลุ่มเสือที่มีขนาดใหญ่และเป็นนักล่าผู้ยิ่งใหญ่ลักษณะของเสือโคร่งคือมีลายดำยาวพาดขวางตามลำตัวขนสีเหลืองปนเทาหรือสีเหลืองปนน้ำตาลและหางมีลายพาดดำขาวเป็นปล้องๆ
ความสำคัญอย่างยิ่งยวดของเสือโคร่งนั้นจะเป็นเรื่องของการควบคุมจำนวนของเหยื่อในระบบนิเวศ ซึ่งเสือโคร่งเป็นได้ถูกจัดให้เป็นตัวชี้วัดแสดงถึงฝืนป่าที่มีสภาพอันอุดมสมบูรณ์
ญาติสนิทที่เป็นข่าวอยู่ขณะนี้ คือ “เสือดำ หรือ เสือดาว” นั่นเอง หลายคนอาจสับสนว่า “เสือดำ หรือ เสือดาว” เป็นชนิดเดียวกันหรือคนละชนิดกันแน่คำตอบคือชนิดเดียวกันค่ะ
เราจะมาเล่าปรากฏการณ์นี้ให้ฟัง เสือดำเป็นเสือที่เกิดความผิดปกติของเม็ดสี (Melanism) หากเราสังเกตดีๆ เสือดำยังคงมีลายจุดให้เห็นเมื่อผิวของมันสัมผัสแสงสว่าง
นอกจากนี้เสือทั้ง 2 ชนิด ที่กล่าวไปนี้ ยังมีความพิเศษกว่าเสือตัวอื่นๆ อีก 7 ชนิด เพราะว่ามันสามารถร้องคำรามดูน่าเกรงขามเลยทีเดียว แต่อย่างไรก็ตามเสือทั้งสองชนิดมีสถานภาพที่น่าเป็นห่วง โดยทางองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ IUCN ได้จัดให้เสือชนิดดังกล่าวอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (Endangered -EN) ซึ่งนั้นหมายถึงเป็นชนิดที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
อ้างอิง สรุปชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามของประเทศไทย: สัตว์มีกระดูกสันหลัง https://goo.gl/reCWgc, https://goo.gl/cpeHY7
เสือสกุล Felis
“เสือกระต่าย” หรือ “แมวป่า” (Jungle Cat) จัดเป็นผู้ล่าขนาดเล็กจนถึงกลางหากินได้ทั้งกลางวันและกลางคืนและกินอาหารได้หลากหลายชนิดเช่นหนูขนาดเล็กกระต่ายป่ากิ้งก่างูกบ
มันเป็นผู้ล่าสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีทำให้สามารถพบอยู่ในพื้นที่ที่ค่อนข้างโปร่งเช่นป่าที่หญ้าสูงหรือแม้แต่ตามพื้นที่เกษตรกรรม
อย่างไรก็ตามเสือกระต่ายยังคงมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งในไทย (Critically endangered -CR) เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญศึกษาอย่างจริงจัง และมีข้อมูลทางวิชาการน้อยมาก ทำให้เราไม่สามารถรู้ประชากรได้อย่างแน่ชัด
นอกจากนี้ การพบเสือกระต่ายตัวล่าสุดที่พบในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย จ.เชียงใหม่ ยังเป็นความหวังว่า ถ้ายังมีพื้นป่าอุดมสมบูรณ์หลงเหลืออยู่ก็คงยังมีสัตว์ป่าที่เราอาจจะคิดว่ามันหายไปจากประเทศไทยเมื่อนานมาแล้ว
เสือสกุล Neofelis
ทั่วทั้งโลกมีเสือในสกุล Neofelis เพียงชนิดเดียวเท่านั้น คือ “เสือลายเมฆ” (Clouded Leopard) ซึ่งเป็นหนึ่งในสัตว์ป่าคุ้มครองที่อยู่ในสถานภาพมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable -VU)
เสือลายเมฆ ถือได้ว่าเป็นนักล่าที่มีประสิทธิภาพมาก เนื่องจากมันมีเขี้ยวที่ยาวและแข็งแรงเหมาะสมในการล่าเหยื่อ เป็นนักล่าที่เราสามารถกล่าวได้ว่ามีความคล่องตัว สามารถปีนป่ายต้นไม้ได้อย่างคล่องแคล่ว หางที่ยาวช่วยในการทรงตัว และมันมักหากินบนต้นไม้มากกว่าบนพื้นดิน
อ้างอิง สรุปชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามของประเทศไทย: สัตว์มีกระดูกสันหลัง https://goo.gl/reCWgc
เสือสกุล Prionailurus
เสือในสกุล Prionailurus ที่พบในไทยประกอบไปด้วย “แมวดาว” (Leopard Cat), “แมวป่าหัวแบน” (Flat-headed Cat) และ “เสือปลา” (Fishing Cat) กล่าวได้ว่าเสือสกุลนี้มีลักษณะโดยรวมคล้ายแมวบ้านเลยทีเดียวโดยเฉพาะแมวดาว
“แมวดาว” เป็นแมวป่าที่มีการปรับตัวให้อาศัยในป่าได้หลากหลายชนิดเช่นป่าดิบเขาป่าเบญจพรรณพื้นที่เกษตรกรรมฯลฯ
ส่วน “แมวป่าหัวแบน” และ “เสือปลา” เป็นแมวที่ไม่กลัวน้ำ ชอบอาศัยใกล้แหล่งน้ำ เนื่องจากเป็นแมวที่ชอบจับปลากินเป็นอาหาร
ตามการจัดสถานภาพตาม IUCN ได้จัดให้แมวดาวอยู่ในสภานภาพกลุ่มที่มีความกังวลน้อยที่สุด (Least Concern-LC) แต่อย่างไรก็ตามเสืออีกสองชนิดยังมีสถานภาพที่น่าเป็นห่วงโดยแมวป่าหัวแบน จัดให้อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (Endangered -EN) และเสือปลา จัดให้อยู่ในสถานภาพมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable -VU) ซึ่งนั้นหมายถึงเป็นชนิดที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
เสือสกุล Pardofelis
“แมวลายหินอ่อน” (Marbled Cat) จัดเป็นผู้ล่าขนาดเล็ก ส่วนใหญ่หากินกลางคืน มักกินกระรอก ค้างคาว นก สัตว์เลื้อยคลาน ฯลฯ ที่อยู่บนต้นไม้เป็นหลัก นอกจากนี้ยังกินพวกกบและแมลงอีกด้วย
ความพิเศษของแมวลายหินอ่อน คือ ลักษณะทางกายภาพที่ถูกออกแบบมาเพื่ออาศัยอยู่บนต้นไม้โดยเฉพาะ ได้แก่ ลักษณะโครงสร้างของตีน ขาที่สั้น และหางที่ยาว มีอุ้งตีนที่อ่อนนุ่ม และเวลานั่งมักจะหดหัวเล็กน้อยและงอหลัง ทำให้อุปนิสัยของแมวลายหินอ่อนมักอยู่อาศัยบนต้นไม้และสามารถปีนป่ายได้อย่างคล่องแคล่ว
จากรายงานพบว่า แมวป่าหินอ่อนเป็นสัตว์ที่หายากมาก ด้วยจำนวนที่น้อยและพฤติกรรมการหากินในเวลากลางคืน ทำให้ไม่สามารถระบุจำนวนประชากรได้แน่ชัด นอกจากนี้ตัวแมวลายหินอ่อนยังถูกล่าเพื่อนำไปเป็นสัตว์เลี้ยงเนื่องจากความสวยงามอีกด้วย
เสือสกุล Catopuma
“เสือไฟ” (Asiatic golden cat) ถูกจัดเป็นผู้ล่าขนาดกลาง ส่วนใหญ่ออกหากินเวลากลางคืน สามารถปีนต้นไม้ได้ มักหากินอยู่ตามพื้นดิน อาหารจะเป็นพวกหนู นก กระต่ายป่า และสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็ก
เสือไฟ สามารถปรับตัวให้อยู่ในป่าได้ทุกสภาพ เช่น ป่าดิบแล้ง ดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ นอกจากนี้เสือไฟเป็นเสือที่ชาวล้านนาในอดีตเชื่อว่าเป็น “พญาเสือ” เนื่องจากมีพฤติกรรมดุร้ายมากกว่าเสือขนาดใหญ่ ซึ่งสอดคล้องกับรายงานที่ว่า เสือไฟสามารถเข้าไปล่าปศุสัตว์ในพื้นที่รอบชุมชนอยู่บ่อยๆ
ปัจจุบันสามารถพบเสือไฟในประเทศไทยได้ยาก เนื่องจากมันสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย และจากการที่พวกมันถูกล่าเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านไสยศาสตร์ โดยเฉพาะเขี้ยวของเสือไฟที่เชื่อถือกันว่าเป็นเครื่องรางของขลังไว้ใช้คุ้มครองตัว จึงทำให้เสือไฟมักตกเป็นเป้าหมายในการไล่ล่า
ไม่ว่าเสือตระกูลใดจะเป็นสัตว์ผู้ล่าชั้นบนสูงสุดของห่วงโซ่อาหารหรือกระทั่งผู้ยิ่งใหญ่ในการควบคุมประชากรเหยื่อภายใต้ในระบบนิเวศก็ตามแต่พวกมันไม่อาจหลีกลี้หนีพ้นจากน้ำมือของมนุษย์ที่ความต้องการของมนุษย์ที่ยื่นมือไปยุ่งยามด้วยความต้องการตอบสนองความเชื่อความโลภหรือเพื่อความบันเทิงได้เลยจะเห็นได้ว่าหากเราไม่ช่วยกันดูแลสัตว์ป่าและผืนป่าที่เป็นทรัพยากรเหล่านี้ไว้อนาคตเราอาจจะได้เห็นเสือที่เป็นเพียงรูปภาพหรือสัตว์สตาฟในพิพิธภัณฑ์อย่างเช่นสัตว์อื่นๆ
จากสิ่งเกิดขึ้นเราไม่อาจรู้ได้เลยว่าเหตุการณ์นั้น “เสือร้องไห้” หรือไม่ แต่ฝ่ายมนุษย์เราด้วยกันเองเสียนี่แหละที่ได้รับฟังข่าวสารการล่าสัตว์จากป่าสู่เมืองแล้วต้องหลั่งน้ำตา เสือดำจะตายฟรีหรือสร้างบทเรียนคดีการล่าสัตว์ป่าให้เกิดเป็นบรรทัดฐานกระบวนการทางกฎหมายของสังคมไทยยอมรับร่วมกันได้หรือไม่ ติดตามได้ในบทสรุปของคดีเสือดำ
อ้างอิง สถานภาพตาม IUCN : www.iucnredlist.org