รู้รักษ์ป่า – เรื่องปลวกๆ

รู้รักษ์ป่า – เรื่องปลวกๆ

เรื่องปลวกๆ ตอน ปลวก ตัวเล็ก หน้า (ที่) ใหญ่

กว่า 80% ของใบไม้ที่ร่วงหล่นและต้นไม้ที่ล้มตายในป่าจะถูกย่อยสลายโดยปลวก แต่การย่อยสลายนั้นมีความซับซ้อนมากกว่าการกินเข้าไปและออกมาเป็นสารอินทรีย์เลย

ปลวกไม่สามารถย่อยซากพืชได้โดยตรงเนื่องจากไม่มีน้ำย่อย ในกระบวนการย่อยปลวกจึงอาศัยการทำงานร่วมกับจุลินทรีย์พวกโปรโตซัวหรือแบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้เพื่อให้ผลิตสารที่สามารถย่อยเซลลูโลส ซึ่งเป็นส่วนประกอบส่วนใหญ่ของเนื้อไม้ และย่อยลิกนินซึ่งเป็นสารที่ย่อยสลายได้ยากในสภาพแวดล้อมปกติ

ทำให้ซากพืชเหล่านั้นถูกย่อยจากการที่ปลวกกินซากพืชเข้าไป และจุลินทรีย์ทำหน้าที่ย่อยสลายซากพืช เป็นสารอินทรีย์เพื่อเป็นอาหารให้ปลวก และปล่อยสารอินทรีย์ กลับคืนสู่ระบบนิเวศ ถือได้ว่าปลวกมีหน้าที่ในการย่อยสลายในระบบนิเวศนั่นเอง

การหมุนเวียนสารกลับสู่ระบบนิเวศเป็นสิ่งสำคัญมาก เนื่องจากหญ้า ต้นไม้ หรือผู้ผลิตจำเป็นต้องใช้แร่ธาตุเพื่อเจริญเติบโต สร้างอาหาร และถ่ายทอดเป็นพลังงานให้ผู้บริโภคในขั้นต่อไป แต่หากไม่มีการหมุนเวียนสารอินทรีย์สู่ระบบนิเวศแล้ว ต้นไม้ก็จะไม่สามารถเจริญเติบโตได้ วัฏจักรสิ่งมีชีวิตก็จะหยุดลง

 

เรื่องปลวกๆ ตอน กลายร่างเป็นแมลงเม่า

ยามหลังฝนตกแมลงเม่าจะบินออกมาร่ายรำ เอ้ยไม่ใช่… ออกมาจับคู่ผสมพันธุ์ต่างหาก แต่รู้หรือไม่ มันอาจจะโดนจับกินโดยสัตว์ที่หมายตาพวกมันเป็นอาหาร ไม่ว่าจะเป็นนก อึ่งอ่าง เหล่าสัตว์เลื้อยคลาน หรือแม้แต่ลิง

“แมลงเม่าถือได้ว่าเป็นอาหารอันโอชะก็ว่าได้ เพราะเป็นแหล่งโปรตีนให้กับสัตว์เหล่านี้”

ดังสุภาษิตที่ว่า “แมลงเม่าบินเข้ามากองไฟ” เกิดจากพฤติกรรมการหาคู่ของแมลงเม่าที่บินไปตามแสงไฟ ในสภาพธรรมชาติแสงเพียงหนึ่งเดียวคือพระจันทร์ แมลงเม่าจะใช้แสงในการรวมกลุ่มกันเพื่อจับคู่ผสมพันธุ์ และเมื่อจับคู่ได้แล้วก็จะผลัดปีกทิ้งทั้งคู่เพื่อหารังวางไข่และสร้างอาณาจักรปลวกขึ้นใหม่ โดยตัวเมียจะพัฒนาไปเป็นราชินี และตัวผู้จะเป็นราชา ช่วยกันผลิตลูกออกมาในปริมาณมากเพื่อสร้างจอมปลวก

เมื่อจอมปลวกพัฒนาจนถึงระดับหนึ่ง ราชินีจะผลิตปลวกราชินีที่สามารถสืบพันธุ์ได้จำนวนหนึ่ง พอถึงฤดูฝนที่เหมาะสม ราชินีเหล่านี้จะกลายเป็นแมลงเม่าบินไปหารังใหม่

 

เรื่องปลวกๆ ตอน ทำไมเห็ดโคนชอบเกิดบนรังปลวก

เห็ดโคน เป็นเห็ดที่มักเกิดตามจอมปลวก จนในบางพื้นที่เรียกว่าเห็ดปลวก ซึ่งการพบเห็ดโคนบริเวณจอมปลวกนั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นเรื่องราวของความสัมพันธ์แบบการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างปลวกกับเห็ดโคน โดยต่างฝ่ายต่างได้รับประโยชน์ซึ่งกันละกัน

ปลวก ซึ่งกินสารอินทรีย์เป็นอาหาร อาศัยเห็ดในการย่อยเซลลูโลสและลิกนินจากเศษไม้ในรังปลวกให้เป็นโมเลกุลน้ำตาล

ส่วนเห็ดใช้รังปลวกเป็นที่อยู่อาศัย เนื่องจากรังปลวกนั้นมีสภาพแวดล้อมเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเห็ด เพราะมีความชื้นและอุณหภูมิสูง ต่างจากอุณหภูมิภายนอกรัง

นอกจากความสัมพันธ์ที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังมีความสัมพันธ์ในการดำรงชีวิตทั้งสองชนิด นั่นคือ เมื่อสปอร์ของเห็ดโคนไปตกในบริเวณที่เหมาะสมหรือมีอินทรียวัตถุมากๆ จะมีกลิ่นดึงดูดปลวกได้เป็นอย่างดี ทำให้ปลวกไปหากินบริเวณนั้น และคาบบางส่วนเข้ารังเพื่อเลี้ยงตัวอ่อน สปอร์เห็ดก็จะถูกนำเข้าไปในรังปลวก สะสม และเจริญอยู่บริเวณสวนเห็ด (ลักษณะคล้ายสมอง) สังเกตได้จากบริเวณโคนของเห็ดโคนนั้นจะยึดติดกับสวนเห็ด นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงพบเห็ดโคนบริเวณรังปลวก

 


เรื่อง ฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพประกอบ พัชริดา พงษปภัสร์ เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร