ปลายฝนที่ผ่านมาถ้าใครมีเพื่อนสนใจในพรรณไม้ หรือได้ติดตามพวกข่าวสารธรรมชาติเสียหน่อย น่าจะเคยปัดฟีดผ่านตาต้นไม้หน้าตาแปลกประหลาดต้นหนึ่ง สีเขียวมรกต มีแต่ดอกไม่มีต้นหรือใบ แถมจิ๋วขนาดแค่หัวไม้ขีด แต่ที่เตะตาที่สุดคือหน้าตาของมัน มองดูคล้ายนกฮูกตาโตมีหูน้อย ๆ สองข้างกำลังจ้องมองมายังกล้อง สื่อจึงพร้อมใจกันเรียกชื่อของพืชนี้ว่า “พิศวงตานกฮูก”
เราบังเอิญได้มีโอกาสไปดูดอกพิศวงตานกฮูกมาอย่างงง ๆ ก่อนไปก็คิดว่าสงสัยจะหายากแน่เพราะขนาดของมันแค่หัวไม้ขีดแต่อยู่บนเขาลูกย่อมที่ชื่อว่าดอยหัวหมด หาหัวเข็มหมุดอันเดียวกลางภูเขาทั้งลูกจะไปหาเจอได้ยังไง!
แต่แค่ขับรถออกจากตัวเมืองอุ้มผางผ่านถนนสายถนนหลวงสาย 1090 ลัดเลาะไต่เขาไปไม่ไกล อยู่ ๆ ก็เห็นรถจอดเรียงรายอยู่ข้างถนนกลางป่า มีร้านน้ำร้านลูกชิ้นเคลื่อนที่เร็ว (CIA) คนปูเสื่อปิกนิกครกส้มตำกันเป็นกลุ่ม ทางเดินขึ้นเขาโล่งเตียน เดินขึ้นไปไม่ไกลก็มีต้นเป้งขึ้นเป็นกลุ่มโคนต้นมีกิ่งไม้เล็ก ๆ ปักล้อมหัวเข็มหมุดเขียวมรกตอันจิ๋วอยู่ตรงกลาง
.
เจอแล้ว! พิศวงตานกฮูกที่ตามหา!
จะเฮก็เฮได้ไม่เต็มปากยังไม่ทันได้ใช้ความพยายามเลยก็เจอเสียแล้ว เราได้แต่ถ่ายรูปตามเขาไปอย่างงง ๆ กลับมาถึงบ้านก็ยังงง ๆ อยู่พักใหญ่ถึงจะตั้งสติได้และเริ่มค้นข้อมูลเกี่ยวกับต้นพิศวงตานกฮูกและพืชตระกูลนี้ด้วยความสงสัย เพื่อที่พบว่าแทบไม่มีข้อมูลของพรรณไม้นี้ในเชิงนิเวศเลย
เอกสารที่ออกมาส่วนใหญ่เป็นการบรรยายชนิดใหม่ไม่ค่อยน่าสนุกเท่าไหร่สำหรับคนที่ไม่ใช่สายอนุกรมวิธานอย่างเรา ยังดีมีเอกสารจากฮ่องกงพูดเรื่องการผสมเกษรออกมาสองสามฉบับ อย่างน้อย ๆ ก็พอจะมีคนทำงานวิจัยเรื่องนิเวศที่เราอยากรู้บ้าง
.
กลุ่มพิศวงในป่าเขตร้อนและกึ่งร้อนชื้น
พิศวงตานกฮูกที่ใคร ๆ เรียก หรือชื่อจริง พิศวงไทยทอง [Thismia thaithongiana Chantanaorr. & Suddee] นั้นเป็นพืชแสนประหลาดในวงศ์ Thismia ที่มีชีวิตลี้ลับหาข้อมูลเกี่ยวกับพวกมันได้ยากแสนยาก ด้วยวงชีวิตที่เป็นพืชอาศัยรา (mycoheterotrophic) ตามปรกติจะหลบอยู่ใต้ดินมีช่วงเวลาสั้น ๆ ให้ได้สังเกตเพียงช่วงระยะดอกของพวกมันเท่านั้น ดอกรึก็แสนจะเล็ก อวบน้ำ ง่ายต่อการบุบสลาย ทำให้นักพฤกษศาสตร์ต่างถอดใจกับความยากในการศึกษานิเวศวิทยาของพวกมัน
พวกมันเป็นพรรณไม้ลึกลับอยู่จนทุกวันนี้ อย่างตอนนี้เราพึ่งพบพรรณไม้ในกลุ่มพิศวงแค่ประมาณ 70 ชนิดเท่านั้น โดยพบกระจายตัวตามเขตร้อนและกึ่งร้อนชื้นโดยเฉพาะในอุษาคเนย์บ้านเราที่จะหนาแน่นเป็นพิเศษ
.
ใครผสมเกสรให้พิศวง?
ความน่าสนใจของพวกมันอีกเรื่องหนึ่งคือการผสมเกสร นับเป็นเรื่องลี้ลับเรื่องหนึ่งที่เรียกร้องความสนใจของนักพฤกษศาสตร์เพราะช่วงเวลาบานของดอกที่แสนสั้นเลยทำให้การศึกษาแมลงผสมเกสรของพวกมันทำได้ยากมาก ๆ
ก่อนนี้มีคนเสนอทฤษฎีการผสมเกสรของพิศวงไว้หลายแบบ ทั้งพิศวงผสมด้วยตัวเอง ผสมโดยแมลง หรือผสมโดยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แต่เอกสารที่เจอบอกไว้ชัดเจนว่าเป็นแมลงในกลุ่มแมลงวันตัวจิ๋ว คนเขียนถึงกับบอกว่าข้อมูลของพืชเหล่านี้น้อยเพราะแค่เห็นดอกมันก็ยากมากแล้ว พวกเขาโชคดีที่มีกลุ่มนึงอยู่ใกล้มหาลัยเลยมีโอกาสศึกษาจนได้พบตัวผสมเกสรของมัน
.
.
โดยส่วนใหญ่แล้วพืชอาศัยรา (ดอกดิน กล้วยไม้อาศัยรา) จะถูกกดดันด้วยการกระจายที่จำกัดเพราะต้องพึ่งพาราและโฮสของราในการกระจายพันธุ์ ดังนั้นพืชเหล่านี้ส่วนใหญ่มักไม่เรื่องมากในการผสมเกสร พวกมันมักเลือกที่จะผสมในดอกเดียวกันเองและออกแบบดอกให้ไม่ซับซ้อนเพื่อว่าแมลงอะไรก็ได้บังเอิญผ่านมาจะได้แวะผสมให้มันได้ง่าย ๆ
แต่พิศวงกลับต่างออกไป ดอกของมันมีโครงสร้างที่ซับซ้อนมาก (ภาพหน้าตัดพิศวงตานกฮูก) ดอกที่ถูกสร้างเหมือนค่ายกลบ่งบอกว่ามันเลือกที่จะผสมข้ามดอกมากกว่าผสมในดอกเดียวกัน และยังเลือกผู้ที่จะมาผสมให้ว่าจะต้องเป็นคู่หูวิวัฒนาการร่วมกันมาเท่านั้น ถึงจะสามารถผ่านค่ายกลอันซับซ้อนนี้จนตลอดรอดฝั่ง
.
.
สำหรับพิศวงแล้ว คู่หูผู้ผสมเกสรให้มันคือตัว บั่วรา (fungus gnats) ซึ่งเป็นแมลงขนาดจิ๋วที่เรามักเห็นตอมอยู่บนดอกเห็ดราเสมอ ๆ พวกมันมักวางไข่บนดอกเห็ดและตัวอ่อนอาศัยกินดอกเห็ดเป็นอาหาร
งานวิจัยพบว่ามีแมลงถึง 5 กลุ่มถูกดึงดูดเข้ามาที่ดอกของพิศวง T. tentaculata แต่มีเพียงบั่วราเท่านั้นที่ฝ่าด่านอรหันต์อันซับซ้อนของดอกเข้าไปและสามารถเก็บเอาเกสรออกมาได้ แสดงว่าพิศวงกับบั่วราวิวัฒนาการมาร่วมกันจริง ๆ
นักวิจัยคิดว่าพิศวงอาศัยภาพและกลิ่นประกอบกันในการดึงดูดบั่วราให้เข้ามาช่วยผสมเกสร นี่อาจเป็นเหตุผลให้พิศวงตานกฮูกถึงมีสีเขียวมรกต และพิศวง T. tentaculata จึงมีสีส้มเหลืองสดใส และยังพบหยดน้ำเล็ก ๆ คล้ายน้ำหวานอยู่ภายในดอกซึ่งพวกเขาก็ยังไม่มั่นใจว่าหยดน้ำเล็ก ๆ นี้มีไว้เพื่ออะไรแต่อาจจะมีไว้หลอกแมลงว่าดอกไม้นี้มีน้ำหวานดึงดูดใจให้เข้ามาตอมก็เป็นได้
.
.
ให้ฝนพาเมล็ดไป
เมื่อพิศวงได้รับการผสมจากตัวบั่วราและติดฝัก ฝักของมันจะมีรูปร่างคล้ายแก้วไวน์ซึ่งเป็นรูปร่างเดิมของทรงดอกของมัน ภายในแก้วบรรจุด้วยเมล็ดขนาดจิ๋ว ๆ เอาไว้จนเต็ม จากงานวิจัยพบว่า T. tentaculata ที่พบในฮ่องกงนั้นอาศัยหยดน้ำฝนเป็นตัวช่วยในการกระจายเมล็ด พวกมันจะรอให้ฝนหยดลงในฝักเพื่อดีดเมล็ดให้กระเด็นออกไป
กระจายเมล็ดด้วยวิธีนี้ถึงจะประกันได้ว่ามีความชื้นจากฝนเพียงพอสำหรับการงอกของเมล็ดพวกมัน แต่ก็มีข้อด้อยตรงระยะการกระจายเมล็ดค่อนข้างน้อย โดยเฉลี่ยเมล็ดจะถูกดีดออกไปได้แค่ฟุตเดียวเท่านั้น สำหรับพิศวงตานกฮูกของไทยเรายังไม่มีการศึกษาเรื่องการกระจายเมล็ดแต่อย่างไร
.
.
พิศวงอาศัยราและต้นไม้ในการหาอาหาร อาศัยบั่วราในการผสมเกสร ทำให้พรรณไม้ในกลุ่มนี้ต้องอาศัยชีวิตถึงสองกลุ่มเพื่อให้ครบถ้วนการดำรงชีวิต ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าขาดแรงกดดันจากกระบวนการคัดเลือกทางธรรมชาติอย่างเข้มข้นและผ่านร้อนหนาวมานานนับล้านปีอยู่รอดมาได้ถึงตอนนี้
กระนั้นเลยชีวิตมันก็ต้องน่ากังวลเมื่อเจอกับกระแสตื่นพิศวงตานกฮูกร้อนแรงเหมือนแม่เหล็กดึงดูดคนให้หลั่งไหลมาดูให้เห็นกับตาซักครั้ง ส่วนหนึ่งก็นึกดีใจที่คนทั่ว ๆ ไปให้ความสนใจกับต้นไม้น้อย ๆ นี้บ้าง อีกส่วนก็กลัวว่าการจัดการของเจ้าของพื้นที่จะไม่ทันการณ์กับจำนวนนักท่องเที่ยวที่ไหลหลากเข้ามา
คงต้องขอฝากความหวังไว้กับเจ้าของพื้นที่ผู้อยู่ใกล้และมีความรู้ความเข้าใจ อย่าให้วิวัฒนาการนับล้านปีต้องมาจบที่รุ่นเราเลย
อ้างอิง
-
Thismia thaithongiana (Dioscoreaceae: Thismieae), a new species of mycoheterotroph from an unusual habitat
-
Thismia and its unusual number of specialist relationships
-
A symbiotic balancing act: arbuscular mycorrhizal specificity and specialist fungus gnat pollination in the mycoheterotrophic genus Thismia (Thismiaceae)
-
Thismia hongkongensis (Thismiaceae): a new mycoheterotrophic species from Hong Kong, China, with observations on floral visitors and seed dispersal
-
กล้วยปลวก พืชอาศัยราอีกชนิดนึง
-
Floral structure in Thismia (Thismiaceae: Dioscoreales): new insights from anatomy, vasculature and development