‘วันดื่มนมพืชโลก’ หรือ World Plant Milk Day กำหนดขึ้นในวันที่ 22 สิงหาคมของทุกปี ให้เป็น ‘วันดื่มนมพืชโลก’ เพื่อเฉลิมฉลองและรณรงค์ให้ทุกคนหันมาใส่ใจสุขภาพของตนเองและสิ่งแวดล้อมด้วยนมทางเลือกที่ทำมาจากพืช
ทุกครั้งที่เราไปห้างสรรพสินค้าเพื่อซื้อนม ระหว่างที่เรากำลังเลือกซื้อ เราจะพบว่ามีนมมากมายหลายชนิดให้เราเลือก ไม่ว่าจะเป็นนมจากสัตว์ และนมจากพืชอย่างนมอัลมอนล์ นมถั่วเหลือง นมข้าวโอ๊ต และอื่น ๆ อีกมากมาย ตั้งวางเรียงรายอยู่บนชั้นขาย ให้เราได้เลือกซื้อกลับไปดื่มที่บ้าน
คำถามคือ แล้วเราจะเลือกนมชนิดไหน(ถึงจะ)ดี
นมจากสัตว์ที่เราดื่มกันทุกวันนี้อย่างนมวัว ปริมาณ 250 มิลลิลิตรซึ่งเป็นขนาดกล่องนมมาตรฐาน จะมีปริมาณโปรตีนอยู่ที่ 8 กรัม คาร์โบไฮเดรต 12 กรัม และไขมันอยู่ระหว่าง 2-8 กรัม ส่วนนมจากพืชอย่างนมถั่วเหลืองจะมีปริมาณโปรตีนสูงสุดอยู่ที่ 7 กรัม ซึ่งถือว่านมถั่วเหลืองมีปริมาณโปรตีนที่ใกล้เคียงกับนมวัวมากที่สุด
นมอัลมอนล์ และนมข้าวโอ๊ตมีปริมาณโปรตีนอย่างน้อยที่สุด 1-2 กรัม นอกจากนี้ในนมถั่วเหลืองยังมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยปรับสมดุลของร่ายกาย ลดปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับอาการหลังการหมดประจำเดือน (menopausal symptoms) หรืออาจมีผลป้องกันหรือปรับเปลี่ยนภาวะความผิดปกติของร่างกายหรือการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น มะเร็งบางชนิด โรคหัวใจและหลอดเลือด สารนี้มีชื่อว่า ‘ไอโซฟลาโวน’ ซึ่งมีการทำงานคล้ายกับฮอร์โมนเพศหญิง หรือเรียกว่าเป็นเอสโตรเจนธรรมชาติที่อาจช่วยเพิ่มระดับเอสโตรเจนในร่างกาย และแม้ว่านมจากพืชจะมีปริมาณคาร์โบไฮเดรต และไขมันที่น้อยกว่านมจากสัตว์ แต่ไขมันที่ได้รับในนมจากพืชนั้นเป็น ‘ไขมันดี หรือ HDL’
นมแต่ละชนิดนั้นต่างก็มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป แล้วเราควรจะเลือกนมชนิดไหนถึงจะดีกับเรา ? ถ้าหากร่างกายเราแพ้น้ำตาลแลคโตสในนมวัว หรือไม่ชอบดื่มนมวัว นมจากพืชก็อาจเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับเรา แต่ถ้าเรามองที่คุณค่าทางสารอาหารเพียงอย่างเดียว นมวัวก็ยังคงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด แล้วถ้าเราเทียบเฉพาะนมจากพืชและนมจากสัตว์ที่มีคุณค่าทางสารอาหารที่ใกล้เคียงหรือเท่ากัน และร่างกายเราก็ไม่ได้แพ้น้ำตาลแลคโตส
คำถามต่อมา แล้วนมชนิดไหนถึงจะดีทั้งต่อตัวเราและสิ่งแวดล้อม?
ในทุกขั้นตอนของการผลิตนม มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่แตกต่างกัน การผลิตนมจากสัตว์หรือนมวัว 1 แก้ว ต้องใช้พื้นที่เกือบ 4 ตารางกิโลเมตรในการผลิต และพื้นที่นั้นอาจมาจากการตัดไม้ทำลายป่า ทำลายแหล่งที่อยู่ของสัตว์ป่า เพื่อเปลี่ยนมาใช้ในการทำปศุสัตว์ อย่างการเลี้ยงวัว และอีกส่วนหนึ่งคือใช้สำหรับการผลิตอาหารสัตว์ ส่วนนมจากพืชก็ต้องเปลี่ยนแปลงพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์เช่นเดียวกัน แต่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับการผลิตนมจากสัตว์
นมวัว 1 แก้ว ต้องใช้น้ำประมาณ 120 ลิตรในการผลิต ซึ่งใช้สำหรับการเลี้ยงวัวและการผลิตอาหาร ส่วนนมอัลมอนด์ต้องใช้น้ำ 70 ลิตรต่อแก้ว ในการปลูกต้นอัลมอนล์ต้องใช้น้ำอย่างสม่ำเสมอเกือบตลอดปี จึงจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ในขณะที่นมจากพืชอย่างนมถั่วเหลือง และนมข้าวโอ๊ต ใช้น้ำน้อยที่สุดเพียง 5-10 ลิตรต่อแก้วเท่านั้น
การผลิตนมจากพืชมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 0.1 – 0.2 กิโลกรัมต่อแก้ว ในขณะที่การผลิตนมวัวนั้นมีการปล่อยก๊าซมีเทนออกมาจากการเรอและการผายลมของวัวมากถึง 0.5 กิโลกรัมต่อแก้ว!
รัฐบาลนิวซีแลนด์มีแผนเสนอการเก็บภาษีการปล่อยก๊าซมีเทนที่เกิดจากการเรอและการผายลมของวัว ซึ่งการผายลมและเรอของวัวทั่วโลกนั้นมีปล่อยก๊าซมีเทนมากถึง 15% ของปริมาณทั้งหมด!
หากเราจะเลือกว่านมชนิดไหนดีที่สุด ถ้าเราสามารถเลือกดื่มได้ทั้งนมจากพืชและนมจากสัตว์ การเลือกซื้อโดยการคำนึงถึงแค่คุณค่าทางสารอาหารอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ เราควรคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ดังนั้นนมจากพืชโดยเฉพาะนมข้าวโอ๊ตและนมถั่วเหลืองอาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสม ดีทั้งต่อตัวเราและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดอีกด้วย
เรื่อง อัครวิชญ์ จันทร์พูล
ภาพประกอบ ภัสราภรณ์ ล้อประกานต์สิทธิ์
ถอดความจาก Jonathan J. O’Sullivan and Grace E. Cunningham: Which type of milk is best for you?
อ้างอิง