หากพูดถึง ‘หนู’ ภาพแรกที่นึกถึงคืออะไร ?
สัตว์ตัวเล็ก ๆ วิ่งเร็ว สกปรก น่าขยะแขยง อาศัยอยู่ในท่อระบายน้ำ และกองขยะ แต่มีสิ่งหนึ่งที่ทุกคนคิดเหมือนกันคือ “สกปรก” หนูถูกมองว่าเป็นสัตว์ที่น่ารังเกียจ หากในบ้านมีหนูนั่นคงไม่ใช่เรื่องน่ายินดีอย่างแน่นอน และหนูก็ยังเป็นศัตรูพืชที่เกษตรกรไม่ชอบอีกด้วย
ไม่ว่าใครก็ไม่ชอบหนู แต่หนูนั้นน่ารักกว่าที่คิดนะ วันนี้แอดมินจะพามาทำความรู้จักกับหนูในอีกมุมหนึ่งกันค่ะ let’s go!
‘หนู’ นักเตือนภัยตัวจิ๋ว
ย้อนไปตั้งแต่สมัยเดินเรือ บนเรือกะลาสีแทบทุกลำต้องมีหนูไว้เฝ้าดูเวลาเรือรั่ว หรือมีน้ำเข้าเรือ หนูจะวิ่งพล่าน นั่นก็เพราะว่าหนูมีประสาทสัมผัสไว ตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ได้ดีและรวดเร็ว ในธรรมชาติหากเราเห็นหนูวิ่งแตกตื่นออกมาจำนวนมากให้ตีความก่อนได้เลยว่ากำลังมีอันตรายเกิดขึ้น
หนูไม่ดื่มน้ำ หนูก็อยู่ได้
เจอร์บัว (Jerbor) หรือหนูจิงโจ้ทะเลทราย เป็นหนูที่มีความอดทนและสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศที่แห้งแล้งได้ดี มันไม่ต้องดื่มน้ำ อาศัยความชื้นจากรากไม้และพืชในทะเลทรายก็เพียงพอแล้ว อีกทั้งยังมีนิสัยกระโดดไปมาเหมือนจิงโจ้ เพื่อลดการสัมผัสบนพื้นที่ร้อนระอุอีกด้วย
แหล่งโปรตีนของสัตว์ทั้งหลาย
สายใยอาหาร (Food web) และห่วงโซ่อาหาร (Food chain) เป็นศัพท์ที่เรียนกันมาตั้งแต่มัธยม กล่าวถึงการบริโภคของผู้ผลิต และผู้บริโภคอันดับต่าง ๆ ซึ่งผู้บริโภคอันดับที่หนึ่งที่มักถูกยกขึ้นมาก็คือ “หนู” ซึ่งจัดเป็นอาหารชั้นยอดของทั้งสัตว์น้ำ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์เลื้อยคลาน นก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม แม้แต่มนุษย์เอง “หนู” ก็เป็นหนึ่งในเมนูโปรดของสัตว์เหล่านี้ทั้งสิ้น
นักปลูกชั้นยอด
หนูก็เป็นสัตว์อีกหนึ่งชนิดที่ช่วยกระจายเมล็ดพืชในธรรมชาติ (Seed dispersal) โดยเฉพาะหนูป่าในเขตร้อน หนูบางชนิดมีการสะสมเมล็ดที่ได้มาไว้ภายในรังใต้ดิน ตลอดการเดินทางอาจมีบางเมล็ดตกหล่นระหว่างทำการสะสม หมายความว่าเมล็ดส่วนที่ตกหล่นได้ถูกกระจายไปทั่วเส้นทาง และหนูหนึ่งตัวสามารถเดินทางได้ไกลถึง 2-3 กิโลเมตร เมล็ดพืชจึงถูกขยายพันธุ์ด้วยวิธีธรรมชาติโดยเจ้าหนูนั่นเอง
นักขุดชั้นเยี่ยม
หนูส่วนใหญ่อาศัยอยู่ที่ไหน? คำตอบคือ ใต้ดิน นอกจากหนูจะเป็นนักปลูกแล้วยังเป็นนักขุดอีกด้วย หนูหนึ่งตัวสามารถขุดอุโมงค์ทอดยาวไปได้หลายกิโล อุโมงค์และโพรงที่กว้างขวาง ทำให้ชั้นดินเกิดช่องว่าง อากาศจึงไหลเวียนได้ดียิ่งขึ้น ถือเป็นการพรวนดินในธรรมชาติอย่างหนึ่ง นอกจากนี้โพรงยังเป็นที่อยู่อาศัยให้แก่สัตว์ใต้ดินชนิดอื่น ๆ อีกมากมาย
ผู้จำหน่ายเชื้อรา
พืชในป่ามีความสัมพันธ์ร่วมกันกับเชื้อรามาเป็นระยะเวลานาน เชื้อราในดินจะทำการย่อยซากพืช ซากสัตว์จนเป็นสารอาหารแก่พืช ในขณะที่พืชให้พลังงานแก่เชื้อราในการเจริญเติบโต ซึ่งหนูเป็นตัวกลางที่ทำให้เชื้อรากับพืชได้มาเจอกัน จากเชื้อราที่ติดตามตัวหนูตลอดการเดินทาง
เจอ “หนูผี” อย่าทำน้อน
หนูผีอยู่ในอันดับ Soricidae กลุ่มเดียวกับตุ่น มีสายตาและหูไม่ค่อยดี แต่มีประสาทการดมกลิ่นที่ดีมาก จึงมักใช้จมูกสอดส่ายหากลิ่นหรือเหยื่อตามพื้นดิน และยังมีระบบการเผาผลาญสูงทำให้หากินตลอดเวลา หนูผีสามารถกินได้ทั้งแมลงและเมล็ดพืช อีกทั้งยังช่วยกำจัดแมลงภายในบ้าน และกินหนูตัวเล็ก ๆ แต่ไม่ทำลายข้าวของเหมือนกลุ่ม Rodentia หรือหนูบ้านแน่นอน
หนูไม่ได้สกปรกนะ
แม้ชื่อเสียงของหนูจะเต็มไปด้วยเรื่องของความสกปรก แต่รู้หรือไม่ว่าหนูเป็นสัตว์ที่รักสะอาดและเกลียดการทำตัวสกปรก หนูจะดูแลตัวเองเป็นประจำ 2-3 ชั่วโมงในหนึ่งวัน บ่อยกว่าเหมียวด้วยซ้ำ!
Mouse กับ rat แปลว่าหนูทั้งคู่ แต่คนละชนิดกัน
Rat หมายถึงหนูตัวใหญ่ มีขนาด 40 เซนติเมตรขึ้นไป หรือที่เรารู้จักกันในนาม “หนูท่อ” มักอาศัยตามท่อระบายน้ำในเขตเมือง หรืออีกหนึ่งชนิด คือ หนูพุก อาศัยอยู่ในรูตามคันนาที่ขุดไว้ ที่เราสามารถจับมากินได้นั่นเอง และ Mouse หมายถึงหนูตัวเล็ก ๆ มีขนาดประมาณ 12-20 เซนติเมตร เช่น หนูหริ่ง หนูจี๊ด หนูนา สามารถปีนต้นไม้ได้อย่างคล่องแคล่ว
มีทุกวันนี้ได้ก็เพราะ “หนู”
ในอเมริกามีการใช้หนูตะเภาในห้องทดลองกว่า 2.5 ล้านตัวต่อปี และในเมืองไทยก็มีการใช้หนูทดลองเช่นกัน หนูเหล่านี้จะต้องได้รับการทดลองด้วยพิษ เชื้อโรค วัคซีน แรงกดดัน ฉายรังสี ยาชนิดใหม่ ตัดต่อพันธุกรรม ปลูกถ่าย และสร้างเนื้อเยื่อ หนูถือเป็นสัตว์ชนิดต้น ๆ ที่ใช้ในการทดลองอะไรใหม่ ๆ หรือที่เรียกว่า “หนูทดลอง” เนื่องจากหนูมีช่วงชีวิตที่สั้น เติบโตไว เหมาะเป็นสัตว์ทดลองได้ในปัจจุบัน
หนูอยู่คู่กับมนุษย์มาเป็นเวลานาน เกือบทุกครั้งที่เกิดโรคระบาด และการทดลองผลิตภัณฑ์ หนูต้องสละชีวิตและความเจ็บปวดเพื่อให้มนุษย์นั้นอยู่รอดต่อไป อีกทั้งเบื้องหลังการตัดต่อพันธุกรรม การปลูกถ่ายอวัยวะ หนูก็คือสัตว์ที่อยู่เบื้องหลัง (ทั้งนี้ยังไม่ได้รวมถึงกระต่าย สุนัข หมู ลิงและสัตว์อื่น ๆ) และในระบบนิเวศ หนูมีบทบาทหน้าที่ต่าง ๆ มากมาย แต่เรากลับมองว่าหนูเป็นสัตว์สกปรก น่าขยะแขยง ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าหนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของมนุษย์ก็คือหนู “ผู้เสียสละที่แท้จริงของเรา”
รู้หรือไม่ว่า ประเทศรัสเซียได้สร้างอนุสาวรีย์หนูทดลอง ซึ่งตั้งอยู่ที่สวนสาธารณะด้านหน้าสถาบันเซลล์วิทยาและพันธุกรรมศาสตร์ เพื่อระลึกถึงหนูทดลองที่ถูกใช้งาน
อ้างอิง
- https://animals.mom.me/rodents-ecosystem-7390.html
- https://www.bloggang.com/m/mainblog.php?id=enso&month=23-07-2013&group=9&gblog=6
- https://news.mongabay.com/2011/11/giant-rat-plays-big-ecological-role-in-dispersing-seeds/
- https://www.rentokil.co.id/en/my-pest-control-quick-tips/10-interesting-facts-about-rats/
- https://www.cooperpest.com/blog/mice-vs-rats