ชวนทำความรู้จักเรื่องราวของ “เสือปลา” สัตว์ผู้ล่าขนาดเล็กแห่งระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่ปัจจุบันมีสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
.
.
สัตว์ผู้ล่าที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ แต่ “ใกล้สูญพันธุ์“
“เสือปลา” เป็นเสือชนิด Felis viverrina ในวงศ์ Felidae พื้นลําตัวสีเทา มีลายสีดําเป็นจุดกระจายอยู่ทั่วตัว
มักอาศัยอยู่ในป่าละเมาะหรือพุ่มไม้เล็กใกล้น้ำ หนองน้ำที่มีพืชน้ำจำพวกกก หรือตามริมทะเล ป่าชายเลน และลุ่มแม่น้ำทั่วไป
เสือปลาจะกินอาหารจำพวก ปลา ปู หอย หนู นก และสัตว์ขนาดเล็ก นอกจากนี้ยังเป็นสัตว์ผู้ล่าชั้นบนสูงสุดของห่วงโซ่อาหารในพื้นที่ชุ่มน้ำ
ปัจจุบัน เสือปลาอยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นผลมาจากการถูกล่าและการสูญเสียถิ่นอาศัย จากการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ประชากรของสัตว์ที่เป็นเหยื่อลดลง แหล่งอาหารและแหล่งหลบภัยจึงไม่เพียงพอ
สภาพที่เกิดขึ้นยังมีผลให้เกิดความเครียดในสัตว์ ทำให้อัตราการขยายพันธุ์ต่ำ ภูมิต้านทานโรคลดลง และเกิดการติดต่อโรคได้ง่าย
เสือปลาถูกจัดให้อยู่ในสถานะที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์/เสี่ยงสูญพันธุ์ (Vulnerable) ตามรายงานขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN Red List) และอยู่ในบัญชีที่ 2 ของอนุสัญญาการค้าระหว่างประเทศทั้งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์
.
.
ลักษณะของเสือปลา
เสือปลาเป็นสัตว์ในวงศ์เสือและแมว (Felidae) ถูกจัดเป็นกลุ่มเสือและแมวขนาดเล็ก ในกลุ่มของ Prionailurus โดยมีเครือญาติอีก 3 ชนิด ได้แก่ แมวดาว (Leopard cat), แมวป่าหัวแบน (Flat-headed cat) และแมวจุดสนิม (Rusty spotted cat)
เสือปลามีถิ่นที่อยู่อาศัยกระจายอยู่แถบเอเชีย เช่น ในป่าของประเทศอินเดีย เนปาล บังกลาเทศ, ริมทะเลสาบโตนเลสาบของกัมพูชา, พื้นที่ปากแม่น้ำสาละวิน อิรวดี สินธุโขง และสินธุ ส่วนในไทยเคยมีรายงานพบเสือปลาในป่าหลายแห่ง เช่น ใกล้อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์
โดยลักษณะทางกายภาพของเสือปลา มีรายละเอียดดังนี้
ส่วนหัว – กลมและยาว แก้มมีไฮไลท์สีขาว รอยดำดวงตา หูสั้นและกลม บริเวณหลังหูมีสีดำ จมูกมีสีชมพูหรือสีอิฐเข้ม
ลำตัว – มีขนาดตัวที่ใหญ่กว่าแมวบ้าน รูปร่างอ้วนหนาบึกบึน
ส่วนหาง – มีกล้ามเนื้อตั้งต่ำและหางสั้น มีแถบสีเข้มหกหรือเจ็ดแถบล้อมรอบ ซึ่งแตกต่างจากแมวดาว
ส่วนเท้า – มีเนื้อเยื่อที่เชื่อมระหว่างนิ้วเท้าและยังมีกรงเล็บที่ยื่นออกเล็กน้อย (สามารถหดกลับได้)
ทางด้านพฤติกรรม เสือปลาหากินทั้งกลางวันและกลางคืน เป็นสัตว์ที่หากินกับน้ำโดยเฉพาะ ไม่เคยห่างจากแหล่งน้ำเลย ชอบแหล่งน้ำที่ไหลช้าและนิ่ง เช่น หนองบึง ป่าชายเลน ฯลฯ ซึ่งจับสัตว์น้ำเป็นอาหาร เช่น ปลา หนู และนก อีกทั้งเสือปลามีนิสัยดุมากกว่าแมวทั่วๆ ไป และไม่มีทางเชื่องได้ง่าย
.
แมวป่าขนาดเล็ก 2 ชนิด ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย
ประเทศไทยมีแมวป่าขนาดเล็ก 2 ชนิด ได้แก่ เสือปลา ( Prionailurus viverrinus) และแมวดาว (Prionailurus bengalensis)
คนส่วนใหญ่ที่พบเห็นมักจะแยกชนิดไม่ออกระหว่างเสือปลาและแมวดาวเพราะหากมองเผินๆ สัตว์ทั้งสองชนิดนั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกัน
แต่จริงๆแล้วเสือปลาและแมวดาวมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน หากจดจำลักษณะเด่นของสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่งได้ ก็สามารถแยกประเภทได้เช่นกัน
เสือปลาจะมีสีพื้นออกเทาๆ ลายเป็นจุดเดี่ยว หรือเป็นลูกศรเล็กๆ แต่ไม่มีดอกดวง หางสั้นกว่าครึ่งหนึ่งของลำตัว
แต่แมวดาวสีพื้นจะออกน้ำตาลแกมเหลืองหรือแกมแดง ลายจุดจะเป็นดอกเป็นดวง หางยาวกว่าครึ่งหนึ่งของลำตัว
อีกทั้งยังมีพฤติกรรมต่างกันเล็กน้อย เสือปลาหากินทั้งกลางวันและกลางคืน เป็นสัตว์ที่หากินกับน้ำโดยเฉพาะ ไม่เคยห่างจากแหล่งน้ำเลย ชอบแหล่งน้ำที่ไหลช้าและนิ่ง เช่น หนองบึง ป่าชายเลน ฯลฯ
ต่างจากแมวดาวที่ส่วนใหญ่จะหากินเวลากลางคืนทั้งบนดินและต้นไม้ ชอบนอนในโพรง บางครั้งกระโจนจากต้นไม้เพื่อจับสัตว์กิน เป็นสัตว์ที่ว่ายน้ำเก่ง
.
ปัจจุบัน มูลนิธิสืบนาคะเสถียรร่วมกับหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการพัฒนาองค์ความรู้และข้อมูลทางชีววิทยา เพื่ออนุรักษ์ประชากรเสือปลาและถิ่นอาศัย ป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การสูญพันธุ์ ผ่านงานเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ในด้านความรู้ เพื่อการอนุรักษ์เสือปลาให้รอดพ้นจากสถานะเสี่ยงสูญพันธุ์ต่อไปในระยะยาว
อ้างอิง
-
เสือปลา มัจฉาพยัคฆ์ ตอนที่ 1 : เรื่องที่เราต้องรู้เกี่ยวกับเสือตัวเล็กแห่งพงไพร
-
เสือปลา นักล่าผู้สง่างามแห่งหนองน้ำ แมวป่าที่ใกล้สูญพันธุ์จากโลกนี้
-
Fishing Cat
อ้างอิงรูปภาพ
-
https://www.petcitiz.info/เสือปลา/
-
https://bit.ly/3nt9nsy
-
https://www.mr7land.com/
-
@CEG KMUTT & DNP