‘หมูหริ่ง’ ชื่อเป็นหมู แต่ไม่ใช่หมู

‘หมูหริ่ง’ ชื่อเป็นหมู แต่ไม่ใช่หมู

ทุกคนอาจสงสัยว่า ‘หมูหริ่ง’ คือตัวอะไร ความจริงแล้วน้อง ‘ไม่ใช่หมู’ แต่น้องถูกจัดอยู่ในวงศ์เดียวกันกับ ‘เพียงพอน’ และเราสามารถพบน้องหมูหริ่งได้ทั่วประเทศไทย อีกทั้งน้องยังเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535

แล้วหมูหริ่งคือตัวอะไรกันนะ

หมูหริ่ง (Hog Badger) หรือ หมูดิน เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดกลาง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Arctonyx collaris อยู่ในวงศ์ Mustelidae ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกันกับเพียงพอน โดยหมูหริ่งอยู่ในสกุล Arctonyx นับเป็นสิ่งมีชีวิตเพียงชนิดเดียวที่ยังคงสืบเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบัน

หน้าตาหมูหริ่งเป็นอย่างไร

‘หมูหริ่ง’ เป็นสัตว์ที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายหมู ขนตามตัวสีเหลืองเทาหรือดำ ขนบริเวณหน้าสีขาว เป็นแถบที่แก้มและหน้าผาก จมูกยื่นยาวคล้ายจมูกหมู หูมีขนาดเล็ก ขนยาว และหางค่อนข้างสั้น หมูหริ่งจะมีต่อมผลิตกลิ่นตัวที่ค่อนข้างเหม็นสาบเพื่อใช้ในการขับไล่ศัตรู และมีอุ้งเล็บตีนแหลมคม ซึ่งต่างจากหมูและหมูป่าที่เท้าจะเป็นกีบ

หมูหริ่ง

พฤติกรรมการหากินของหมูหริ่ง

ปกติหมูหริ่งจะออกหากินเวลากลางคืน กลางวันนอนหลบซ่อนตัวตามโพรงดินซึ่งขุดขึ้นเอง และมีทางเข้าออกได้หลายทาง บางทีหมูหริ่งอาจนอนตามซอกหิน เป็นสัตว์ชอบออกหากินและอยู่ตามลำพังตัวเดียว แต่ในฤดูผสมพันธุ์จะอยู่เป็นคู่ และบางครั้งอาจออกหากินเวลากลางวัน หมูหริ่งชอบขุดคุ้ยดินหาอาหารกินโดยใช้จมูกและเล็บเท้าที่แข็งแรง หมูหริ่งสามารถกินอาหารได้หลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น ผลไม้ หน่อไม้ รากพืช หรือสัตว์หน้าดินต่างๆ เช่น ไส้เดือน กิ้งกือ แมลง ปกติน้องเป็นสัตว์ค่อนข้างดุร้าย แม้ศัตรูที่มีขนาดใหญ่กว่า น้องก็ไม่เกรงกลัวแต่อย่างใด

หมูหริ่งสำคัญอย่างไรในระบบนิเวศ

หมูหริ่งเป็นหนึ่งในสัตว์ที่คอยควบคุมประชากรของสัตว์หน้าดิน และมีส่วนช่วยในการกระจายเมล็ดพันธุ์พืชไปยังพื้นที่ต่างๆ ตามเส้นทางที่น้องเดิน

ปัจจุบันภัยคุกคามที่สำคัญของหมูหริ่ง เกิดจากมนุษย์เข้าไปล่าเพื่อนำมาทำเป็นยาแผนโบราณ และ IUCN ยังได้กำหนดให้หมูหริ่งอยู่ในสถานะสิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (Near Threatened) เนื่องจากสูญเสียพื้นที่ที่อยู่อาศัยและถูกล่าโดยมนุษย์อีกด้วย


เรื่อง อัครวิชญ์ จันทร์พูล
ภาพประกอบ ภัสราภรณ์ ล้อประกานต์สิทธิ์

อ้างอิง