29 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันอนุรักษ์เสือโคร่งโลก (Global Tiger Day)

29 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันอนุรักษ์เสือโคร่งโลก (Global Tiger Day)

‘วันอนุรักษ์เสือโคร่งโลก’ (Global Tiger Day) ตรงกับวันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี

โดยในปีนี้ 2565 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้จัดกิจกรรมวันเสือโคร่งโลกภายใต้แนวคิด “TIGERS NEXT GEN เสือโคร่งต้องไปต่อ”

เสือโคร่ง (Panthera tigris) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม อยู่ในอันดับสัตว์กินเนื้อ (Carnivora) ในวงศ์ Felidae เสือโคร่งจัดเป็นเสือชนิดที่ใหญ่ที่สุด และเป็นสัตว์กินเนื้อที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในไทยอีกด้วย

เสือโคร่งมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศคือ เป็นผู้ล่าอันดับสูงสุดของระบบนิเวศ และเป็นหนึ่งใน Keystone species ที่คอยควบคุมประชากรสัตว์กินพืช (Herbivore) ไม่ให้ประชากรของสัตว์กินพืชที่เป็นเหยื่อมีมากเกินไป รวมถึงสัตว์ผู้ล่าขนาดกลางและขนาดเล็ก เพื่อรักษาสมดุลในระบบนิเวศป่า การมีอยู่ของเสือโคร่งจึงถือเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าและระบบนิเวศได้เป็นอย่างดี

และช่วงครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา เสือโคร่งในผืนป่าของไทยมีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการทำงานอย่างหนักของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ที่นำเอาระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart patrol) เข้ามาใช้ โดยพบเสือโคร่งมากที่สุดในบริเวณผืนป่าตะวันตก ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง จึงเป็นแหล่งอนุรักษ์เสือโคร่งที่สำคัญของประเทศไทย

ถ้ารวมผืนป่าตลอดแนวด้านตะวันตกของไทยเข้ากับป่าตามแนวชายแดนของพม่า จะทำให้พื้นที่นี้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของเสือโคร่งมากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากอินเดีย

วันอนุรักษ์เสือโคร่งโลก

ถึงแม้ว่าในไทยแนวโน้มของประชากรเสือโคร่งจะเพิ่มมากขึ้น แต่ปัจจุบันเสือโคร่งอินโดจีน (Panthera tigris corbetti) ยังอยู่ในสถานะภาพใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) ของ IUCN รวมถึงอนุสัญญา CITES กำหนดให้เสือโคร่งอยู่ในบัญชีที่ 1 คือห้ามทำการค้าโดยเด็ดขาด ซึ่งภัยคุกคามที่สำคัญของเสือโคร่ง ล้วนเกิดจากน้ำมือมนุษย์ทั้งสิ้น ทั้งการทำลายหรือเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของเสือโคร่ง การล่าเพื่อการค้า การซื้อขายครอบครอง รวมถึงการล่าสัตว์ป่าที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่งอีกด้วย

วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกๆ ปี จึงกำหนดให้เป็น ‘วันอนุรักษ์เสือโคร่งโลก’ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเสือในระบบนิเวศ และสร้างความตะหนักถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรเสือโคร่งและถิ่นที่อยู่อาศัย โดยวันอนุรักษ์เสือโคร่งถูกกำหนดขึ้นจากการประชุมว่าด้วยเรื่องเสือโคร่ง (Tiger Summit) ในปี พ.ศ. 2553 ณ เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก

และในวันนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ร่วมกับองค์กรภาครัฐ และภาคเอกชน ที่เกี่ยวข้องด้านการอนุรักษ์เสือโคร่ง 10 หน่วยงาน และทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียร โดยมีคุณภานุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิ เป็นผู้แทนมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ร่วมกิจกรรมเสวนาภายใต้แนวคิด “TIGERS NEXT GEN เสือโคร่งต้องไปต่อ” ณ ลานกิจกรรมศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก จังหวัดสุพรรณบุรี

กิจกรรมถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

เราสามารถร่วมกันอนุรักษ์เสือโคร่งได้โดยการปกป้องผืนป่าที่เป็นบ้านหลังเดียวของเสือโคร่ง เพื่อให้สัตว์เหล่านี้ “ได้ไปต่อ” และดำรงอยู่คู่กับโลกตราบนานเท่านาน


เรื่อง/ภาพ ภัสราภรณ์ ล้อประกานต์สิทธิ์

อ้างอิง