‘วันคุ้มครองโลก’ (Earth Day) มีความสำคัญต่อโลกอย่างไร

‘วันคุ้มครองโลก’ (Earth Day) มีความสำคัญต่อโลกอย่างไร

‘วันคุ้มครองโลก’ หรือ ‘Earth Day’ เป็นเรื่องราวที่มากกว่าเทรนด์บนโซเชียลมีเดีย กิจกรรมระดับโลกที่ส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้กลายเป็นกิจกรรมที่มีความหมายในการขับเคลื่อนเรื่องราวเชิงนิเวศและจัดการกับความไม่สมดุลที่เกิดขึ้นบนโลก

.
วันคุ้มครองโลก หรือวันที่ 22 เมษายนของทุกปี เป็นวันที่ปรากฎอยู่ในสมุดบันทึกของนักเคลื่อนไหวด้านสภาพอากาศ คนทานมังสวิรัติ และผู้บริโภคที่ใส่ใจต่อประเด็นนี้ในทุกที่ทั่วโลก แต่… มันมีความสำคัญอย่างไร ? และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร เรื่องราวในตอนนี้มีคำตอบ
.

‘วันคุ้มครองโลก’ คืออะไร ?

‘วันคุ้มครองโลก’ หรือ Earth Day ถือเป็นปฏิกิริยาที่มีต่อการเติบโตของอุตสาหกรรม ในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรม มลพิษทางอากาศที่เพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณผ่านการปล่อยมลพิษจากโรงงาน การเป็นเจ้าของรถยนต์ และระบบอำนวยความสะดวกทั่วไปของชีวิตมนุษย์ นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1950 จนมาถึงทศวรรษที่ 1960 ณ จุดนั้น ยังไม่ค่อยมีใครเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบจากมลพิษดังกล่าว

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นเมื่อ ราเชล คาร์สัน ตีพิมพ์หนังสือ Silent Spring (ชื่อภาษาไทย ‘ฤดูใบไม้ผลิอันเงียบงัน’) ในปี 1962 หนังสือเล่มนี้ได้กลายเป็นหนังสือขายดีของ New York Times ซึ่งสามารถทำยอดขายได้ครึ่งล้านเล่มใน 24 ประเทศ ประเด็นสำคัญที่หนังสือได้นำเสนอ คือ การมุ่งสร้างความตระหนักต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมและผลกระทบจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่มนุษย์เป็นผู้ก่อ ทำให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างมลภาวะกับสุขภาพของมนุษย์ ซึ่งถือเป็นเนื้อหาที่แปลกใหม่มากในช่วงเวลานั้น

กระทั่ง 8 ปีต่อมาในปี 1970 ‘วันคุ้มครองโลก’ ก็ได้ริเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการเพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญ ความตื่นตัว ความตระหนักต่อประเด็นทางสิ่งแวดล้อม และมันถูกมองว่าเป็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้ผู้คนออกมาช่วยกันเป็นกระบอกเสียงทางสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างสุขภาพที่ดีให้กับประชาชนและคนรุ่นต่อไปในอนาคต
.

วันคุ้มครองโลกครั้งแรก
หนังสือพิมพ์ The New York Time ตีพิมพ์ข่าววันคุ้มครองโลกครั้งแรก

 

ใครเป็นผู้สร้าง วันคุ้มครองโลก อย่างเป็นทางการ ?

วุฒิสมาชิกวิสคอนซิน เกย์ลอร์ด เนลสัน อดีตผู้ว่าการรัฐวิสคอนซิน ผู้มีสมญญาว่า ‘ผู้ว่าการนักอนุรักษ์’ ถือเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการผลักดันให้เกิด ‘วันคุ้มครองโลก’ ขึ้น เนลสันพร้อมกับเพื่อร่วมงานรู้สึกหดหู่กับสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมในสหรัฐอเมริกา หลังจากการรั่วไหลของน้ำมันครั้งใหญ่ในแคลิฟอร์เนีย เนลสันจึงพยายามมองหาช่องทางให้สาธารณชนได้แสดงออกแบบเดียวกับการต่อต้านสงครามเวียดนาม แต่มุ่งมาที่ประเด็นการสร้างจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากเนลสันแล้ว เดนนิส เฮย์ส คืออีกหนึ่งบุคคลสำคัญที่ขับเคลื่อนให้งานนี้เกิดขึ้น ในฐานะผู้ประสานงาน ตลอดจนทีมงานที่ช่วยกันผลักดันอีก 85 คน ด้วยแนวคิดที่อยากผลักดันให้วันคุ้มครองโลกเป็นงานในระดับชาติ มีรูปแบบการเคลื่อนไหวจากฐานล่างขึ้นสู่ด้านบน ทีมงานได้ส่งเทียบเชิญกิจกรรมไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ องค์กร ตลอดจนหน่วยงานทางศาสนา และสื่อมวลชน ซึ่งได้รับความสนใจจากสื่อเป็นจำนวนมาก มีการประโคมข่าวเรื่องนี้หลายต่อหลายครั้ง และส่งผลให้ชาวอเมริกันประมาณ 20 ล้านคนออกมาเคลื่อนไหวและทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การทำความสะอาดสวนสาธารณะ การเก็บขยะ ตลอดจนรณรงค์ปัญหาเรื่องมลพิษ
.

เกย์ลอร์ด เนลสัน
โปสเตอร์วันคุ้มครองโลกครั้งแรก

 

ทำไมวันคุ้มครองโลกถึงมีความสำคัญ ?

วันคุ้มครองโลกครั้งแรกถือเป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นงานที่เชื่อมโยงประเด็นทางการเมือง​กับสิ่งแวดล้อมเข้าไว้ด้วยกัน กิจกรรมที่เกิดขึ้นยังเป็นการรวมตัวกันของพรรครีพับลิกันและเดโมแครต ผู้คนจากทุกชนชั้นได้มาแสดงออกร่วมกันโดยไม่คำนึงถึงหน้าที่การงาน ศาสนา หรือฐานะทางสังคม ซึ่งความเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกันในสังคมนี่เองได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในเวลาต่อมา

วันคุ้มครองโลกครั้งแรกได้นำไปสู่การก่อตั้งสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา และทำให้มีการผ่านกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่สำคัญหลายฉบับ อาทิ พระราชบัญญัติการศึกษาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พระราชบัญญัติความปลอดภัยและอาชีวอนามัย และพระราชบัญญัติอากาศบริสุทธิ์ จากนั้นมีพระราชบัญญัติน้ำสะอาดตามมาอีกสองปีต่อมา และปูทางไปสู่พระราชบัญญัติสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ และที่สำคัญคือ พระราชบัญญัติยาฆ่าแมลง สารฆ่าเชื้อรา และสารกำจัดหนูแห่งสหพันธรัฐ จากกฎหมายมากมายที่ออกมา มีการกล่าวอ้างว่ากฎหมายเหล่านี้ได้ช่วยชีวิตผู้คนนับล้านจากโรคภัยไข้เจ็บและความตาย ในขณะเดียวกันก็ปกป้องสัตว์ป่านับไม่ถ้วนจากการสูญพันธุ์

เนื่องจากวันคุ้มครองโลกได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนอย่างใหญ่หลวงในสหรัฐอมริกา ในปีต่อๆ มางานนี้จึงกลายเป็นแรงผลักดันให้นานาประเทศหันมาขับเคลื่อนวาระทางสิ่งแวดล้อมกันอย่างจริงจัง ในปี 1990 ได้เกิดการระดมพลผู้คนจาก 141 ประเทศออกมาเคลื่อนไหวในวันคุ้มครองโลก มีรายงานผู้คนเข้าร่วมมากถึง 200 ล้านคน ปรากฎการณ์ครั้งนั้นอ้างว่าทำให้เกิดการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (UNCED) หรือที่รู้จักในชื่อการประชุมริโอ หรือ Earth Summit ในปี 1992 และก่อให้เกิดปฏิญญารีโอว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ซึ่งประกอบด้วย 27 หลักการที่เกี่ยวกับสิทธิและความรับผิดชอบของประชาชาติในการดำเนินงานพัฒนาเพื่อปรับปรุงความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น และแผนแม่บทของโลกสำหรับการดำเนินงานที่จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
.

ร่วมรักษาป่าใหญ่ ผ่านระบบ Thai QR Code

ผู้เขียน

Website | + posts

ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม