-
แนวปะการังเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพสูงสุดกว่าระบบนิเวศใดๆ และยังช่วยจุนเจือชีวิตผู้คนกว่า 500 ล้านคนทั่วโลกโดยตรง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในประเทศยากจน
-
แต่แนวปะการังเป็นหนึ่งในระบบนิเวศที่ถูกคุกคามมากที่สุดในโลก สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน รวมกับเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศในท้องถิ่นที่เพิ่มขึ้น
-
ในช่วงสามปีที่ผ่านมา แนวปะการังทั่วโลกได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การฟอกขาวของปะการัง อันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิพื้นผิวโลก ที่เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยมนุษย์
-
ตามรายงานของ UNESCO แนวปะการังในแหล่งมรดกโลกที่มีแนวปะการังทั้ง 29 แห่งจะล่มสลายลงภายในสิ้นศตวรรษนี้ หากเรายังคงปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างที่ดำเนินอยู่ในทุกวันนี้
-
การจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมตามข้อตกลงปารีส เป็นโอกาสเดียวที่จะช่วยให้แนวปะการังทั่วโลกอยู่รอดปลอดภัยต่อไป
เกิดอะไรขึ้นกับแนวปะการัง ?
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากมนุษย์ทำให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกเพิ่มขึ้นประมาณ 1 องศาเซลเซียส จากช่วงก่อนอุตสาหกรรม สิ่งนี้นำไปสู่เหตุการณ์การฟอกขาวของปะการังจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ประกอบกับการคุกคามในท้องถิ่นที่เพิ่มขึ้น ทำให้แนวปะการังเป็นหนึ่งในระบบนิเวศที่ถูกคุกคามมากที่สุดในโลก
เมื่อสภาวะต่างๆ เช่น อุณหภูมิเปลี่ยนแปลง ปะการังจะขับสาหร่ายที่มีชีวิตซึ่งอาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อของพวกมัน และรับผิดชอบต่อสีของมัน อุณหภูมิของมหาสมุทรที่พุ่งสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส เป็นเวลานานหลายสัปดาห์สามารถนำไปสู่การฟอกขาว ทำให้ปะการังกลายเป็นสีขาว หากปะการังฟอกขาวเป็นเวลานาน พวกมันก็จะตายในที่สุด เหตุการณ์การฟอกขาวของปะการังมักนำไปสู่การตายของปะการังจำนวนมาก
แนวปะการังทั่วโลกได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์ฟอกขาวเป็นเวลาสามปีติดต่อกัน แนวปะการังที่เป็นสัญลักษณ์ เช่น แนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟ (Great Barrier Reef) ในออสเตรเลียและหมู่เกาะทางตะวันตกเฉียงเหนือของฮาวายในสหรัฐอเมริกา ล้วนเคยประสบกับการฟอกขาวครั้งเลวร้ายที่สุดเป็นประวัติการณ์ด้วยผลกระทบร้ายแรง ตัวอย่างเช่น การฟอกขาวของแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟ ในปี 2016 และ 2017 ได้คร่าชีวิตปะการังไปประมาณ 50%
ปะการังไม่สามารถอยู่รอดได้ จากความถี่ของเหตุการณ์การฟอกขาวในปัจจุบัน และจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น หากอุณหภูมิยังคงสูงขึ้น เหตุการณ์การฟอกขาวจะเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงและมีความถี่มากขึ้น
นักวิทยาศาสตร์ประมาณการว่า แม้แต่เหตุการณ์ฟอกขาวที่เกิดขึ้นเพียงสองครั้งในหนึ่งทศวรรษก็สามารถคุกคามการอยู่รอดของปะการังได้ การประเมินทางวิทยาศาสตร์ระดับโลกครั้งแรกเกี่ยวกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อแนวปะการังมรดกโลก ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2017 โดย UNESCO คาดการณ์ว่า แนวปะการังในแหล่งมรดกโลกที่มีแนวปะการังทั้ง 29 แห่งจะล่มสลายลงในฐานะระบบนิเวศของแนวปะการังที่ใช้งานได้ภายในสิ้นศตวรรษนี้ หากมนุษย์ยังคงปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างที่ดำเนินอยู่ในทุกวันนี้
.
ทำไมแนวปะการังถึงสำคัญ ?
แนวปะการังเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพสูงสุดของระบบนิเวศใดๆ ทั่วโลก แม้จะมีพื้นที่น้อยกว่า 0.1% ของพื้นมหาสมุทร แต่แนวปะการังเป็นที่อยู่อาศัยมากกว่าหนึ่งในสี่ของสายพันธุ์ปลาทะเลทั้งหมด
นอกจากนี้ แนวปะการังยังให้บริการระบบนิเวศที่หลากหลาย เช่น อาหารเพื่อการยังชีพ การป้องกันน้ำท่วม และให้ประโยชน์กับอุตสาหกรรมการประมงและการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
ดังนั้นการหายตัวไปของพวกเขาจะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ
คาดว่า แนวปะการังช่วยจุนเจือชีวิตผู้คนกว่า 500 ล้านคนทั่วโลกโดยตรง ที่พึงพิงอาศัยแนวปะการังเพื่อการดำรงชีวิตในแต่ละวัน ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศที่ยากจน การประเมินในปี 2014 ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Global Environmental Change ประเมินมูลค่าทางสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจของแนวปะการังว่ามีมูลค่าสูงถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
แนวปะการังยังเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญของความสมบูรณ์ของระบบนิเวศทั่วโลก สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนล่วงหน้าถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้นกับระบบอื่นๆ ที่มีความละเอียดอ่อนน้อยกว่า เช่น พื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำ หากประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเร่ง เมื่อผ่านจุดเปลี่ยนของการอยู่รอดของแนวปะการังแล้ว การเสื่อมสภาพของระบบอื่นๆ อาจลดลงอย่างรวดเร็ว และเราจะไม่สามารถแก้ไขอะไรได้อีก
.
สิ่งที่เราสามารถทำได้เพื่อปกป้องแนวปะการัง ?
การจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกให้ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งสอดคล้องกับข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นโอกาสเดียวสำหรับการอยู่รอดของแนวปะการังทั่วโลก หากข้อตกลงมีการดำเนินการอย่างสมบูรณ์ เราน่าจะเห็นความเข้มข้นของคาร์บอนในบรรยากาศลดลง สิ่งนี้จะช่วยปรับปรุงสภาพการอยู่รอดของแนวปะการัง และทำให้มาตรการอื่นๆ ในการช่วยเหลือแนวปะการังประสบความสำเร็จ มาตรการอื่นๆ ในที่นี้ เช่น การจัดการกับมลภาวะในท้องถิ่น และการทำประมงที่ทำลายล้าง จะไม่สามารถรักษาแนวปะการังได้หากไม่ลดก๊าซเรือนกระจกลงให้สำเร็จ
การเสริมสร้างความมุ่งมั่นต่อข้อตกลงปารีสจะต้องสะท้อนให้เห็นในข้อตกลงระดับโลกอื่นๆ ทั้งหมด เช่น เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตัวอย่างเช่น SDG 13 เรียกร้องให้มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ
นอกจากนี้ ยังต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจกระแสหลักและแนวทางปฏิบัติทางเศรษฐกิจหมุนเวียน สิ่งเหล่านี้ถูกเน้นใน SDG 8 (การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืน) และ SDG 12 (รูปแบบการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน) ระบบเศรษฐกิจจำเป็นต้องเคลื่อนไปสู่สถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำอย่างรวดเร็ว เพื่อทำให้อุณหภูมิโลกลดลง
การขับเคลื่อนความคิดทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ยังต้องรวมถึงผลประโยชน์ที่ได้รับจากแนวปะการัง ซึ่งปัจจุบันไม่ได้นำมาพิจารณาในธุรกิจกระแสหลักและการเงิน ดังนั้นการรักษาและฟื้นฟูแนวปะการังจึงควรถือเป็นสินทรัพย์ และควรมีการลงทุนระยะยาวเพื่อการอนุรักษ์
การลงทุนควรรวมถึงการสนับสนุนการวิจัยทางชีววิทยาของแนวปะการัง เช่น การคัดเลือกพันธุกรรมของปะการังทนความร้อนที่สามารถทนต่ออุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้น
อ้างอิง Coral reefs and climate change
Photo : Bawah Reserve
ผู้เขียน
ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม