รวมอนุสัญญาระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม EP.2

รวมอนุสัญญาระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม EP.2

จากสัปดาห์ที่แล้ว เราได้ทำความรู้จักกับอนุสัญญาแรมซาร์หรืออนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ รวมถึงอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ กันไปแล้ว

วันนี้แอดมินจะพามาทำความรู้จัก และทำความเข้าใจกับอนุสัญญาระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อมอีก 3 อนุสัญญากันค่ะ

พิธีสารคาร์ตาเฮนาว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ (Cartagena protocol on biosafety)

เป็นพิธีสารต่อท้ายอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Cartagena Protocol on Biosafety to Convention on Biological Diversity) เป็นความตกลงระหว่างประเทศที่เน้นในเรื่องของการเคลื่อนย้ายสิ่งมีชีวิตข้ามเขตแดน ซึ่งสิ่งมีชีวิตใดๆ ก็ตาม ที่ได้รับการดัดแปลงทางพันธุกรรม (living modified organisms – LMOs) ที่อาจมีผลกระทบในทางลบต่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ตลอดจนกำหนดกระบวนการที่เหมาะสม สำหรับความตกลงในการแจ้งล่วงหน้า (Advance Informed Agreement)

และประเทศภาคีจะต้องใช้มาตรการทางกฎหมายการปกครองและมาตรการอื่น ๆ ที่จําเป็นและเหมาะสม เพื่อดําเนินการติดตามข้อบังคับที่ระบุในพิธีสารประเทศต่าง ๆ ต้องรับประกันว่าการพัฒนาการจัดการการขนส่ง การใช้การขนย้ายและการเผยแพร่สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมสู่ธรรมชาติจะต้องมีการป้องกันหรือลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อความหลากหลายทางชีวภาพ

สนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยทรัพยากรพันธุกรรมพืชเพื่ออาหารและการเกษตร (International Treaty on Plant Genetic Resources for Food and Agricultural: ITPGR)  

สนธิสัญญาฯ นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรพันธุกรรมพืชเพื่ออาหารและการเกษตรที่ยั่งยืน และการแบ่งปันผลประโยชน์ซึ่งเกิดจากการใช้ทรัพยากรนั้นอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกัน โดยสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืนและความมั่นคงทางอาหาร 

และสนธิสัญญาฯ นี้ ยังได้จำกัดขอบเขตเฉพาะเรื่อง “ทรัพยากรพันธุกรรมพืชเพื่ออาหารและการเกษตร” เท่านั้น ในขณะที่อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพจะมีขอบเขตครอบคลุมความหลายหลายทางชีวภาพทั้งหมดทุกประเภท แต่ไม่ได้มีบทบัญญัติครอบคลุมเกี่ยวกับเรื่องทรัพยากรพันธุกรรมพืชที่อยู่นอกถิ่นที่อยู่ (ex situ collection) และเรื่องสิทธิของเกษตรกรเป็นการเฉพาะ จึงอาจถือว่าสนธิสัญญาฯ นี้เป็นส่วนเสริมของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ

อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ

หรือ “อนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก” (The World Heritage Convention) เป็นความตกลงระหว่างรัฐภาคี (States Parties) ในการยอมรับและให้ความร่วมมือในการดำเนินการต่าง ๆ โดยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกมีวัตถุประสงค์ เพื่อการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการคุ้มครองและอนุรักษ์แหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม และทางธรรมชาติ ทั้งที่มีอยู่ในประเทศตนเองและประเทศอื่นให้ดำรงอยู่เป็นมรดกโลกสืบต่อไป

อ้างอิง

ผู้เขียน

+ posts

สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว