ก่อนที่เราจะมาทำความรู้จักกับอนุสัญญาระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เราต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าอนุสัญญาคืออะไร
อนุสัญญา หรือ Convention หมายถึง ความตกลงกันระหว่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ทำเป็นหนังสือสัญญาระหว่างประเทศหลายประเทศ หรือระหว่างองค์การระหว่างประเทศที่มาประชุมร่วมกัน เพื่อวางบทบัญญัติเป็นกฎเกณฑ์เพื่อสร้างเป็นกฎหมายขึ้นมา
วันนี้แอดมินจะพามาทำความรู้จักกับอนุสัญญาระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อมทั้ง 3 อนุสัญญากันค่ะ
อนุสัญญาแรมซาร์ หรืออนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ (Ramsar Convention on Wetlands)
อนุสัญญาแรมซาร์เป็นข้อตกลงระหว่างรัฐบาล ซึ่งได้กำหนดกรอบการทำงานสำหรับความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยมีวัตถุประสงค์เริ่มต้นเพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำ ในการอนุรักษ์ถิ่นที่อยู่อาศัยของนกน้ำ ต่อมาขอบเขตการดำเนินงานของอนุสัญญาฯ ได้ขยายครอบคลุมกว้างขึ้น
โดยประเด็นที่เกี่ยวข้องตามภาระหน้าที่ในการดำเนินงานตามพันธกรณีของอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ มี 5 ประเด็นด้วยกัน คือ วัฒนธรรมและพื้นที่ชุ่มน้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำในเมือง การอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งทะเล และบริการจากระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ รวมถึงยับยั้งการสูญหายของพื้นที่ชุ่มน้ำในโลก
ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศหรือแรมซาร์ไซต์ จำนวน 14 แห่ง หนึ่งในนั้นคือ อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) : (The Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora) หรือ อนุสัญญาวอชิงตัน (Washington Convention)
อนุสัญญาไซเตส มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความมั่นใจว่าการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่า ว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของชนิดพันธุ์นั้น ๆ ในธรรมชาติ โดยเฉพาะชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์หรือถูกคุกคาม วิธีการอนุรักษ์ทำได้โดยการสร้างเครือข่ายทั่วโลก ในการควบคุมการค้าระหว่างประเทศทั้งสัตว์ป่าและพืชป่าที่มีชีวิต ซาก รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์ป่า
กลไกสำคัญของอนุสัญญาไซเตส คือ การกำหนดให้ประเทศภาคีจะต้องมีมาตรการภายในที่เหมาะสมในการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามอนุสัญญาฯ โดยต้องมีการควบคุมการนำเข้า ส่งออก หรือส่งผ่านตัวอย่างชนิดพันธุ์ที่ระบุไว้ในบัญชีของไซเตส และมีบทลงโทษต่อผู้กระทำการฝ่าฝืน
และปี 2526 ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันแก่อนุสัญญาไซเตส และเข้าเป็นภาคีสมาชิกลำดับที่ 78 ของโลก
อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity: CBD)
อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศที่มีเจตนารมณ์ให้รัฐบาลทุกประเทศ มีการพัฒนาโดยไม่ละทิ้งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติไป โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 3 ข้อ คือ เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน รวมถึงเพื่อแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม
และปี 2547 ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันแก่อนุสัญญา CBD และเข้าเป็นภาคีสมาชิกลำดับที่ 188 ของโลก
อ้างอิง
- สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 13 (ชลบุรี)
- ไซเตสคืออะไร – กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
- ภาคีอนุสัญญา – กลไกการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารความหลากหลายทางชีวภาพ
ผู้เขียน
สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว