การฟื้นคืนธรรมชาติ หรือ Rewilding เป็นแนวคิดเชิงนิเวศใหม่หมาดที่ได้รับการยอมรับมากขึ้นทุกทีในแวดวงสิ่งแวดล้อม โดยถูกจัดให้ใกล้เคียงกับหลักคิดเรื่องการทำเกษตรยั่งยืน หรือ Permaculture ซึ่งเน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติรวมทั้งพยายามฟื้นฟูระบบนิเวศซึ่งถูกทำลายโดยกิจกรรมของมนุษย์ให้ฟื้นคืนกลับมา การฟื้นคืนธรรมชาติเสนอให้มนุษย์เป็นแนวหน้าในการช่วยเหลือธรรมชาติให้กลับมามีความหลากหลายทางชีวภาพและความอุดมสมบูรณ์เช่นเดิมเหมือนกับก่อนที่มนุษย์จะบุกรุกเข้าไป
ปัจจุบัน การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหมายถึงความพยายามกีดกันหรือปรับปรุงกระบวนการทางธรรมชาติ หรือการจัดการสิ่งแวดล้อมโดยคำนึงถึงสิ่งมีชีวิตสปีชีส์เดียวเป็นหลัก การฟื้นคืนธรรมชาติคือการปล่อยให้ธรรมชาติหาจุดสมดุลของตัวเอง ซึ่งในบางครั้งอาจหมายถึงการคืนแผ่นดินให้ธรรมชาติจัดการ เพื่อให้ในท้ายที่สุด ระบบนิเวศจะอยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างยั่งยืน นี่คือการสร้างอนาคตที่มนุษย์และธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศโลกอย่างเท่าเทียมกัน แทนที่จะจัดการแบบแบ่งแยกราวกับเป็นขั้วตรงข้ามกันและกัน
มนุษย์ได้สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมนานัปการ ที่สำคัญเช่นการเปลี่ยนผืนป่าให้กระจัดกระจายเป็นหย่อมเล็กหย่อมน้อยเนื่องจากการใช้พื้นที่เพื่อกิจกรรมของมนุษย์ การฟื้นคืนธรรมชาตินั้นทำได้หลายกระบวนการ แต่สิ่งที่ดูจะได้รับความสนใจจากสื่อมากที่สุดคือการปล่อยสัตว์ขนาดใหญ่ โดยเฉพาะผู้ล่าที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหารกลับคืนสู่ธรรมชาติที่ครั้งหนึ่งพวกมันเคยอยู่อาศัยก่อนจะสูญหายไป เช่น การปล่อยหมาป่าในพื้นที่ที่มีกวางจำนวนมาก ซึ่งหมาป่าจะเป็นผู้ล่าที่จัดการควบคุมประชากรกวางตามธรรมชาติ เพื่อให้ประชากรกวางไม่มากเกินไปและกัดกินพืชพรรณจนหมด การจำกัดประชากรกวางยังทำให้ระบบนิเวศมีความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น เนื่องจากมีแหล่งอาหารเพิ่มขึ้นพอที่จะให้สัตว์ชนิดอื่นอยู่อาศัย
อีกหนึ่งวิธีการฟื้นคืนธรรมชาติคือการสร้างระเบียงป่าที่เชื่อมระหว่างพื้นที่ป่าสองแห่งซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นป่าผืนเดียวกันแต่ถูกตัดขาดเนื่องจากสิ่งปลูกสร้างของมนุษย์ วิธีดังกล่าวทำให้สัตว์แต่ละชนิดพันธุ์สามารถเข้าหากันได้ รวมถึงแก้ไขปัญหาการผสมพันธุ์ภายในครอบครัวเดียวกันที่จะทำให้ยีนอ่อนแอ การฟื้นคืนธรรมชาติยังรวมถึงการปลูกพืชท้องถิ่นในพื้นที่ที่ถูกบุกรุกโดยชนิดพันธุ์ต่างถิ่น (alien species) การฟื้นฟูพืชท้องถิ่นจะช่วยให้แมลงซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ท้องถิ่นกลับคืนมาและเกิดเป็นห่วงโซ่อาหารเฉกเช่นในอดีต
เมื่อดำเนินการฟื้นคืนธรรมชาติ กระบวนที่เหลือคือการปล่อยให้ธรรมชาติจัดการตัวเองและควรจำกัดการรบกวนระบบนิเวศโดยมนุษย์ เราสามารถสรุปเหตุผลที่เราควรฟื้นคืนธรรมชาติได้ดังนี้
ความหลากหลายทางชีวภาพ
กิจกรรมของมนุษย์ได้ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพไปอย่างมาก จากรายงานโดย WWF ที่เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2557 มนุษย์ได้ทำให้จำนวนประชากรสัตว์หายไปกว่าครึ่งหนึ่งโดยใช้ระยะเวลาเพียง 40 ปีเท่านั้น โดยการล่า ทำลายถิ่นที่อยู่อาศัย และการปล่อยมลภาวะ การฟื้นคืนธรรมชาติจะเปิดโอกาสให้ระบบนิเวศฟื้นคืนสู่สภาวะดั้งเดิมอีกครั้ง
ระบบจะอยู่ได้ด้วยตัวเอง
ตามแนวคิดของการทำเกษตรยั่งยืน เมื่อความหลากหลายทางชีวภาพถูกปล่อยให้งอกงาม ระบบนิเวศก็จะสามารถคงอยู่ได้ด้วยตัวเอง พื้นที่ดังกล่าวจะเข้าสู่จุดสมดุล กล่าวคือมนุษย์ไม่จำเป็นต้องไปยุ่งเกี่ยวกับระบบนิเวศเพื่อพยุงให้ระบบดังกล่าวดำเนินไปได้ การทำเกษตรยั่งยืนคือการที่เราใส่พลังงานและเวลาเข้าไปในแปลงให้น้อยที่สุด การฟื้นคืนธรรมชาติก็ยึดหลักเช่นเดียวกัน
ป้องกันไม่ให้เกิดการสูญพันธุ์
การปล่อยสัตว์หรือพืชกลับคืนสู่ธรรมชาติในถิ่นที่อยู่อาศัยดั้งเดิมเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ช่วยปกป้องไม่ให้สัตว์และพืชดังกล่าวสูญพันธุ์ สัตว์ขนาดใหญ่ในหลายพื้นที่ เช่น หมาป่าและลิงซ์บนพื้นที่สูง หรือไบซันบนที่ราบของอเมริกา สัตว์เหล่านี้เกือบสูญพันธุ์เนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์ การคืนถิ่นที่อยู่อาศัยดั้งเดิมซึ่งครั้งหนึ่งสัตว์เหล่านั้นเคยอาศัยและเอาตัวรอดได้ นับว่าเป็นวิธีหนึ่งที่ปกป้องไม่ให้สัตว์เหล่านั้นสูญพันธุ์ การปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติไม่ได้กินความแค่สัตว์ป่า แต่รวมถึงพืชและแมลงซึ่งถูกคุกคามโดยมนุษย์เช่นกัน
การท่องเที่ยว
นักวิจารณ์หลายคนโจมตีแนวคิดฟื้นคืนธรรมชาติว่าอาจกระทบต่อผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ของประชาชนที่จำเป็นต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การคืนพื้นที่สูงให้กลับเป็นป่าจะทำลายชีวิตความเป็นอยู่ของผู้เลี้ยงแกะซึ่งใช้ประโยชน์พื้นที่ดังกล่าว อย่างไรก็ดี การฟื้นคืนธรรมชาติก็สามารถสร้างโอกาสเชิงพาณิชย์ได้เช่นกัน ตัวอย่างสำคัญเช่นวาฬ ปัจจุบัน อดีตชาวประมงนักล่าวาฬได้มองเห็นโอกาสทางธุรกิจจากการพานักท่องเที่ยวมาชมปลาวาฬแทนที่การล่า ซาฟารีก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่พื้นที่ธรรมชาติสามารถสร้างผลประโยชน์ทางการเงินได้ อีกทั้งยังสามารถนำเงินรายได้ส่วนหนึ่งเข้าสมทบการอนุรักษ์ในพื้นที่ที่ธรรมชาติเริ่มกลับคืนมาได้อีกด้วย
ทำให้เราใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น
ความนิยมในการท่องเที่ยวธรรมชาติหรือซาฟารีสะท้อนให้เห็นว่าการที่เราได้เข้าไปใกล้ชิดกับธรรมชาตินั้นมีความสำคัญเช่นกัน การฟื้นคืนธรรมชาติจึงไม่ได้ก่อประโยชน์ต่อผืนดินหรือสัตว์ป่าเท่านั้น แต่ยังดีต่อตัวเราอีกด้วย โดยการที่เราได้ไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศที่ใหญ่กว่า แทนที่จะเป็นสิ่งมีชีวิตนักทำลายเพียงอย่างเดียว การได้เข้าไปสัมผัสใกล้ชิดกับธรรมชาติ ยังถือเป็นโอกาสที่เราจะได้ทำความสะอาดจากสภาพแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้นอีกด้วย