พูดออกมาแล้วฉันจะไม่บอกใครว่าเธอพูดได้ ฉันรู้นะว่าเธอพูดได้! เพราะพวกเธอคือสัตว์สายลับแฝงตัวมา!
ช่วงนี้ไม่ว่าจะหันไปทางไหน ผู้คนก็ต่างพากันพูดถึงบรรดาก๊วน ‘สัตว์สายลับ’ ไม่ว่าจะเป็นหมึกกระดองสายลับ ปูสายลับ ลิงสายลับ ปลาตีนสายลับ โลมาสายลับ นากสายลับ จระเข้สายลับ หรือแม้แต่ค่างสายลับ ก็ล้วนเป็น สิ่งแปลกปลอมที่กลายเป็นจุดสนใจ จนเกิดเป็นไวรัลตามปรากฏในสื่อออนไลน์ต่าง ๆ
นอกจากก๊วนสายลับเหล่านี้จะสร้างความประทับใจให้กับผู้ที่เข้ามารับชมสารคดีแล้ว การปรากฏตัวของสัตว์สายลับยังมีภารกิจหลักเพื่อศึกษาพฤติกรรมและนิเวศวิทยาของสัตว์ป่า โดยการสร้างหุ่นจำลองเลียนแบบสัตว์ป่าและแฝงตัวเข้าไปในฝูง แต่การเป็นสายลับจำเป็นเช่นนี้จะมีความจำเป็นและมีประโยชน์ต่อสัตว์ป่าหรือไม่ วันนี้แอดมินชวนมาทำความเข้าใจว่าการใช้เทคโนโลยีเพื่อแฝงตัวเข้าไปศึกษาพฤติกรรมสัตว์ป่า ส่งผลต่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าได้อย่างไร?
ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของสัตว์สายลับ มาจากซีรี่ส์สารคดีธรรมชาติอย่าง Spy in the Wild หรือชื่อภาษาไทยคือ ‘สัตว์สายลับจอมส่องธรรมชาติ’ ผลิตโดย BBC และฉบับบรรยายภาษาไทยสามารถติดตามได้ทางช่องไทยพีบีเอส
ในสารคดีได้พาผู้ชมไปสัมผัสกับชีวิตสัตว์ป่าอย่างใกล้ชิด โดยการใช้ ‘สัตว์สายลับ’ หรือหุ่นยนต์ที่ออกแบบมาให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมและสัตว์ป่าได้อย่างแนบเนียน ซึ่งให้มีรูปร่างหน้าตาคล้ายสัตว์ป่าจริง ทั้งลักษณะทางกายภาพ การเคลื่อนที่ เสียงร้อง หรือแม้แต่สัญชาตญาณของสัตว์แต่ละชนิด และมีการติดตั้งซ่อนกล้องถ่ายวิดีโอไว้ เพื่อเก็บบันทึกภาพพฤติกรรมสัตว์ป่า แทนการเข้าไปใกล้โดยตรงของมนุษย์
ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้สามารถนำมาพัฒนาและต่อยอดในด้านการศึกษาและงานวิจัยสัตว์ป่า รวมถึงการอนุรักษ์สัตว์ป่าและถิ่นอาศัยได้ ประโยชน์ของการมีอยู่ของสัตว์สายลับที่เห็นได้ชัดเจนคือ ‘การรักษาระยะห่างระหว่างมนุษย์กับสัตว์ป่า’ ได้อย่างเหมาะสม
การเข้าใกล้สัตว์ป่าโดยไม่มีการป้องกันและไม่คำนึงถึงระยะที่ปลอดภัย จะทำให้สัตว์ป่ารู้สึกไม่ปลอดภัยและแสดงพฤติกรรมที่ผิดปกติ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายทั้งต่อตัวเราและต่อสัตว์ป่า รวมถึงการเข้าใกล้ของมนุษย์อาจทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคจากสัตว์ป่าสู่มนุษย์หรือมนุษย์สู่สัตว์ป่าได้
ดังนั้น การใช้สัตว์สายลับจะช่วยให้เราสามารถสังเกตพฤติกรรมของสัตว์ป่าได้จากระยะไกล โดยไม่สร้างความรู้สึกถูกคุกคาม ช่วยให้การศึกษาเป็นไปอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

สัตว์ป่าส่วนใหญ่มักมีพฤติกรรมระแวดระวังต่อสิ่งแปลกปลอม โดยเฉพาะมนุษย์ ดังนั้น วิธีการพรางตัวโดยใช้สัตว์สายลับ จะช่วยลดโอกาสที่สัตว์ป่าจะรับรู้ถึงการมีอยู่ของ ‘ผู้สังเกตการณ์’ และทำให้สามารถบันทึกภาพและข้อมูลพฤติกรรมสัตว์ป่าที่เป็นธรรมชาติได้อย่างแท้จริง
รวมถึงการใช้สัตว์สายลับยังช่วยในการ ‘ปกป้องถิ่นอาศัยของสัตว์ป่า’ เพราะการที่มนุษย์เข้าไปยังถิ่นอาศัย อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ ทั้งการทำลายพืชระดับล่าง การทิ้งร่องรอยต่าง ๆ หรือแม้แต่การรบกวนแหล่งอาหารและพื้นที่โดยรอบ การใช้สัตว์สายลับจะช่วยลดการบุกรุกพื้นที่ ทำให้ระบบนิเวศยังคงความสมบูรณ์และไม่ถูกรบกวน
และอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องระวังและตระหนักถึงในการศึกษาพฤติกรรมสัตว์ป่า คือต้อง ‘ไม่ไปเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสัตว์ป่า’ การปรากฏตัวของมนุษย์อาจทำให้สัตว์ป่าหลีกเลี่ยงหรือไม่แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ เช่น พฤติกรรมการล่าเหยื่อ การผสมพันธุ์ หรือการเลี้ยงดูลูกอ่อน เนื่องจากสัตว์ป่าอาจมีพฤติกรรมที่ตื่นตระหนกหรือพยายามหลบซ่อนศัตรู ซึ่งทำให้การศึกษาพฤติกรรมที่แท้จริงเป็นไปได้ยาก การใช้สัตว์สายลับที่กลมกลืนและแนบเนียนไปกับฝูงสัตว์ป่า จะช่วยให้เราสามารถสังเกตพฤติกรรมที่แท้จริง
แม้การใช้เทคโนโลยีสัตว์สายลับในการศึกษาพฤติกรรมและนิเวศวิทยาสัตว์ป่า ที่ถือเป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่มีความน่าสนใจ เพราะนอกจากจะได้ข้อมูลเชิงลึกที่มีความแม่นยำและเป็นธรรมชาติแล้ว ยังแสดงถึงการตระหนัก และเห็นความสำคัญของสัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม แต่ก็ควรคำนึงถึงความเครียดที่อาจจะเกิดขึ้นต่อสัตว์ป่าในอนาคต โดยการระมัดระวังและลดปฏิสัมพันธ์โดยตรงของสัตว์สายลับกับสัตว์ป่าให้น้อยที่สุด
และสิ่งที่สำคัญกว่าการเป็นสัตว์สายลับคือ ‘เหตุผลของการเป็นสัตว์สายลับ’ ที่เราทุกคนควรตระหนัก การแฝงตัวเข้าไปอย่างแนบเนียนแทนการเข้าไปโดยตรงของมนุษย์ และหลักการที่สำคัญในการรักษาระยะห่างที่เหมาะสมต่อสัตว์ป่า การปกป้องถิ่นอาศัยของสัตว์ป่า ไม่บุกรุกพื้นที่หรือไปรบกวนแหล่งอาหารและพื้นที่โดยรอบ รวมถึงการไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตามธรรมชาติของสัตว์ป่า ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นรากฐานสำคัญของการศึกษาและการอนุรักษ์สัตว์ป่าอย่างเหมาะสมและยั่งยืน
อ้างอิง
- Ethical Considerations in Wildlife Monitoring
- Technological Advances in Wildlife Monitoring and Conservation
- Using technology supports wildlife conservation | Endangered Wildlife Trust
- A Detailed Guide on the Use of Technology in Wildlife Conservation | Change Started
ผู้เขียน
สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว