ไม่ว่าจะ ‘มนุษย์’ หรือ ‘สัตว์ป่า’ หรือการอยู่ร่วมกันในสังคมใดๆ สิ่งมีชีวิตย่อมมีหน้าที่ในระบบนิเวศเหล่านั้น มันเป็นธรรมชาติและข้อเท็จจริง ที่ทุกชีวิตจะมี ‘วัฏจักร’ คอยกำหนดเพื่อเป็นการสร้างสมดุล เฉกเช่นเดียวกับเรื่อง ‘เหี้ย’ ที่ได้กล่าวถึงบทบาทและความสำคัญกับ ‘สังคมเมือง’ ไปแล้วหลากมิติ
ก็ยังมีกรณีที่น่าสนใจเกี่ยวกับ ‘พญาแร้ง’ นกล่าเหยื่อที่มีการทำหน้าที่ใกล้เคียงกัน อีกทั้งยังถูกตีตราให้กลายเป็น ‘สัตว์ที่น่ากลัว’ ไม่เป็นมงคลต่อมนุษย์ แย่ไปกว่านั้น คือการสื่อถึง ‘ความตาย’ พบเจอแห่งหนใดถือว่าบุคคลคือคน ‘โชคร้าย’…ทั้งๆ ที่มันแค่ ‘ทำหน้าที่ตามธรรมชาติ’ ชนิดที่เป็นมหากุศลต่อสิ่งมีชีวิตแวดล้อม เสมือนเป็น ‘สัปเหร่อในป่าใหญ่’
‘พญาแร้ง’ (Red – Headed Vulture) เป็นนกขนาดใหญ่ เป็นสัตว์ในวงศ์เหยี่ยว (Family Accipitridae) หรือนกวงศ์ผู้ล่า (Bird of Prey) มีพฤติกรรมที่ไม่ค่อยชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ มักหากินอยู่ตามพื้นที่โล่งแจ้ง มักบินร่อนเป็นวงกลมบนท้องฟ้าระดับสูง สามารถร่อนกลางอากาศอยู่นานนับชั่วโมง โดยไม่ต้องกระพือปีก พบมากในทวีปเอเชียแถบประเทศอินเดีย จีน พม่า และอินโดจีน
สำหรับเมืองไทย ‘พญาแร้ง’ เป็น ‘แร้ง’ 1 ใน 3 ชนิดที่อดีตเคยเป็นสัตว์ประจำถิ่น มีเครือญาติในวงศ์เดียวกันอย่าง ‘แร้งเทาหลังขาว’ และ ‘เเร้งสีน้ำตาล’ ตามหลักวิชาการเชื่อว่า นกชนิดนี้มีวิวัฒนาการมาแล้วร่วมแสนปี โดยคาดว่า ‘บรรพบุรุษของแร้ง’ เลือกที่จะ ‘กินซาก’ เพื่อลดอัตราการแย่งอาหารกับนกนักล่าชนิดอื่น เชื่อว่า 99 เปอร์เซ็นต์ ‘แร้ง’ กินซากสัตว์เป็นอาหารหลักในการดำรงชีพ ดังนั้นมันจึงเป็นตัวแปรสำคัญ ต่อการควบคุมปริมาณ ‘ซากสัตว์’ ในป่าใหญ่
ส่วนที่มาของคำเรียก ‘พญาแร้ง’ มีการตั้งสมมติฐานว่า คำว่า ‘พญา’ ได้รับอิทธิพลจากภาษาท้องถิ่นทางภาคเหนือ สื่อถึงความมีอำนาจหรือความเป็นผู้นำ ขณะเดียวกันหากเปรียบเทียบกับวงศ์แร้ง 3 ชนิดที่พบในภูมิภาคอาเซียน พวกมันก็มีลำดับทางสังคมเช่นกัน
โดยมีการเฝ้าสังเกตการณ์ขณะ ‘ลงกินเหยื่อ’ จะพบว่า ‘พญาแร้ง’ จะเป็นชนิดแรกที่จะลงมากินซากสัตว์ก่อนแร้งชนิดอื่น และจะมีพฤติกรรมในการกลั่นแกล้ง – ขัดขวาง แร้งชนิดอื่นขณะลงมาจิกกินเนื้อสัตว์ด้วย จึงเป็นเหตุผลให้และชนิดนี้ถูกเรียกนำหน้าว่า ‘พญา’ ทั้งๆ ที่ขนาดลำตัวของมัน มีขนาดเล็กกว่า ‘แร้งเทาหลังขาว’ และ ‘แร้งสีน้ำตาล’
‘แร้ง’ กับ ‘คน’ เคยอยู่ร่วมกันโดยปราศจาก ‘อคติ’
เคยมีหลักฐานภาพถ่ายที่ถูกบันทึกไว้ในช่วงรัชสมัยร.5 พบว่าไทยเคยมี ‘แร้งเทาหลังขาว’ ปรากฎคู่กับ ‘ซากศพของมนุษย์’ และ ‘เชิงตะกอน’ บริเวณวัดสระเกศ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่ ‘กรุงเทพฯ’ กำลังประสบกับภาวะการแพร่ระบาดของ ‘อหิวาตกโรค’ (โรคห่า) แสดงให้เห็นถึงการอยู่อย่างพึ่งพาอาศัย ระหว่าง ‘คน’ กับ ‘สัตว์’ ได้อย่างชัดเจน

‘ผศ.น.สพ.ดร.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว’ หัวหน้าหน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนธรรมชาติ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เชื่อว่า การที่ให้ ‘แร้ง’ เข้ามาสู่กระบวนการการจัดการซากศพคนตาย เป็นคติที่มาจาก ‘รามายณะ’ (ในไทยรู้จักในชื่อ ‘รามเกียรติ์’) ซึ่งปัจจุบันยังมีบางแห่งสืบทอดความเชื่อดั้งเดิมอยู่ อย่าง ‘ธิเบต’ ที่ใช้ ‘แร้งหิมาลัย’ ในการกำจัดซากผู้เสียชีวิต เรียกว่า ‘การฝังฟ้า’ (Sky Burial) ถือเป็นการทำบุญใหญ่ครั้งสุดท้ายของมนุษย์
นอกจากนี้ ในทางวรรณกรรมสันสกฤตยังเชื่อว่า ‘แร้ง’ มีความใกล้เคียงกับ ‘นกสดายุ’ ที่ไปขัดขวาง ‘ทศกัณฐ์’ ขนาดที่ลักพาตัว ‘นางสีดา’ จนสิ้นชีพไป ซึ่งสอดคล้องกับคำเรียก ‘ร้านอาหารแร้ง’ ที่ชาวธิเบตเรียกว่า ‘สดายุ’ (Sadayu restaurant)
อย่างไรก็ดี เมื่อสังคมมนุษย์เข้าสู่ยุคการพัฒนาเรื่องการจัดการซากสัตว์ – ซากมนุษย์ มีระบบการดูแลด้านสุขอนามัยที่ดีขึ้น ผ่านรูปแบบของ ‘การฌาปนกิจ’ ทำให้ ‘แร้ง’ ต้องขาดอาหารและค่อยๆ รวมถึงปัจจัยการใช้ชีวิตของมนุษย์อื่นๆ ที่ทำหายไปจากสังคมไทย ก็มีปัจจัยอื่นๆ อาทิ การวางยาเบื่อ เพื่อกำจัดสุนัขจรจัด (ซึ่งแร้งบางชนิดมักอยู่ตามชุมชนชนบทแล้วมักพึ่งพาซากสัตว์เหล่านี้เป็นอาหาร)

การฟื้นฟู ‘พญาแร้ง’ เพื่อสมดุลและนิเวศอันสมบูรณ์
ขณะที่ ‘ป่าห้วยขาแข้ง’ ซึ่งมีรายงานการมีชีวิตอยู่ของ ‘พญาแร้ง’ ในระบบนิเวศ ก็ถึงคราว ‘สูญพันธุ์’ ไป ตามบันทึกโศกนาฏกรรมการสูญเสียพญาแร้ง ชิ้นสุดท้ายเมื่อ 30 กว่าปีก่อน ด้วยการถูกวางยาเบื่อ ‘ฟูราดาน’ โดย ‘นายพราน’ ที่ตั้งใจโรยบนรซาก ‘เก้ง’ ล่อ ‘เสือโคร่ง’
อย่างไรก็ดี ในแวดวงอนุรักษ์ ได้พยายามลงหลักปักฐานเพื่อการ ‘ฟื้นฟู’ ประชากรของ ‘พญาแร้ง’ อีกครั้ง ด้วยทรัพยากรสัตว์ป่าที่มีอยู่อย่างจำกัด (พญาแร้งในสวนสัตว์,พญาแร้งในกรงเลี้ยง) ภายใต้ ‘โครงการพญาแร้งคืนถิ่น’ จากความร่วมมือระหว่าง 4 องค์กรอนุรักษ์ของประเทศ ประกอบไปด้วย มูลนิธิสืบนาคะเสถียร องค์การสวนสัตว์ฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกรมอุทยานแห่งชาติฯ ซึ่งเป้าหมายสำคัญคือการฟื้นฟูประชากรพญาแร้ง เพื่อเพิ่มดัชนีความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่าห้วยขาแข้ง
กระทั่งเกิดผลลัพธ์ที่น่าพอใจ ที่พญาแร้งในกรงเพาะพันธุ์ทั้งใน ‘สวนสัตว์’ และ ‘กรงในป่าห้วยขาแข้ง’ สามารถผสมพันธุ์ และ ‘ออกไข่’ ไปจนถึงการ ‘ฟักตัว’ ของ ‘ลูกพญาแร้ง’ สำเร็จ ซึ่งประเทศไทยถือเป็นชาติแรกและชาติเดียวที่ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์พญาแร้งได้ในภูมิภาคอาเซียน

ทัศนคติที่ต้อง ‘ก้าวกระโดด’
เป็นที่รู้กันในเชิงวิชาการว่า ‘พญาแร้ง’ เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ ทำหน้าที่ในการกำจัดซากสัตว์ พวกมันมีความพิเศษเฉพาะตัว ในการย่อยสลายเชื้อโรคที่อยู่ในซากสัตว์ – จะช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับสัตว์ป่าหาในธรรมชาติยากได้ ไม่ว่าจะเป็น สมเสร็จ เสือโคร่ง กระทิง และวัวแดง ในพื้นป่าอนุรักษ์สำคัญของไทย
อย่างไรก็ดี แม้ในอดีตจะมีการอยู่ร่วมระหว่างมนุษย์กับแร้งจะถือเป็นเรื่องปกติ แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันสัตว์ชนิดนี้ถูกมองในแง่ลบ ใครเจออาจต้องประสบกับความอัปมงคล แต่ ณ วันนี้ หากใครได้พบเห็นพญาแร้งในธรรมชาติ อาจถือเป็น ‘ความโชคดี’ เพราะสัตว์ชนิดนี้เข้าข่ายเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เป็นอันดับต้นๆ ของโลก มีรายงานทางวิชาการระบุว่า ทั้งโลกอาจมี ‘พญาแร้ง’ เหลือเพียง 3,000 คู่เท่านั้น
ในระดับภูมิภาคนับตั้งแต่ประเทศอินเดียจนถึงอาเซียน ประเทศไทยกลายเป็นประเทศเดียวที่ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ ‘พญาแร้ง’ จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่สังคมไทยควรจะรับรู้ และร่วมกันอนุรักษ์สัตว์ชนิดนี้ ให้พวกมันได้ทำหน้าที่ในระบบนิเวศตามบทบาทที่ธรรมชาติกำหนดไว้
ขณะที่ในประเทศกัมพูชา แม้จะมีการพบพญาแร้งในธรรมชาติสูงที่สุดในภูมิภาคถึง 22 ตัว แต่รายงานล่าสุดพบว่ามีจำนวนลดลงเหลือ 11 ตัวเท่านั้น ซึ่งเชื่อว่ามีผลมาจากวิถีชีวิตและทัศนคติของคนท้องถิ่น ดังนั้น ‘การปรับทัศนคติของมนุษย์’ จึงมีส่วนสำคัญ ต่อการฟื้นฟูและเพิ่มประชากรของสัตว์ชนิดนี้อยู่ไม่น้อย

แล้วถ้าเราขาดมันไป นิเวศจะเป็นอย่างไร…
หัวหน้าหน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อฯ เล่าว่า ในประเทศอินเดียเคยมีงานวิจัยออกมา 1 ชิ้น ที่พบว่าการเกิด ‘โรคพิษสุนัขบ้า’ ในชุมชนที่เคยมีการทิ้งซากสัตว์ มันมีความสำคัญในเชิงตรงกันข้ามกับประชากรของแรงที่ลดลง (คนเป็นโรคนี้มากขึ้น ขณะที่แร้งมีจำนวนลดลง) ซึ่งมาจากปัจจัยการเพิ่มจำนวนของ ‘สุนัขจรจัด’ ที่เข้าไปกินซากวัวเพิ่มขึ้น บางขณะอาจมีการแย่งชิงอาหาร ส่งผลให้โรคพิษสุนัขบ้าแพร่ระบาดในหมู่สุนัขจรจัด
ดังนั้นการสูญหายไปของสัตว์ผู้กำจัดซากชนิดใดชนิดหนึ่ง ย่อมทำให้ระบบนิเวศนั้นๆ เกิดความเปลี่ยนแปลงได้เสมอ โดยเฉพาะการเกิดโรคอุบัติต่างๆ
“ถ้าเราสามารถดึงพญาแร้งกลับมาสู่ระบบนิเวศป่าห้วยขาแข้งได้ เราก็จะลดโอกาสการแพร่กระจายของโรคระบาดสัตว์ ซึ่งอาจเป็นโรคอุบัติใหม่ หรือโรคอุบัติซ้ำก็ได้ ซึ่งจะเป็นผลดีกับสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครองทุกชนิด ที่เป็นสมาชิกอยู่ในระบบนิเวศ ดังนั้นการฟื้นฟูสัตว์กินซากอย่างพญาแร้ง ส่วนหนึ่งคือการเติมเต็มสมาชิกในระบบนิเวศ และอีกส่วนหนึ่งคือการเติมความหลากหลายให้สมบูรณ์เพราะว่าเราไม่มีพญาแร้งอยู่ในธรรมชาติแล้ว” ไชยยันต์ กล่าว