ทุกสิ่งมีชีวิตไม่ว่าจะเป็น ‘มนุษย์’ หรือ ‘สัตว์’ ล้วนสำคัญและมีบทบาทที่เกี่ยวเนื่องกับระบบนิเวศแวดล้อม ไม่ว่าจะในผืนป่าห่างไกล หรือใจกลางเมืองใหญ่
เรามักเห็นภาวะการพึ่งพากันในลักษณะต่างๆ ของสิ่งมีชีวิต ที่เกี่ยงเนื่องกับวัฎจักรทางธรรมชาติที่หมุนเวียน ผ่านการสร้างสมดุลทางนิเวศ ที่แม้บางขณะก็ลึกลับซับซ้อน – บางขณะอาจเป็นภาพที่ไม่คุ้นชิน
อย่างการทำหน้าที่ของ ‘เหี้ย’ ที่เรามักพบเห็นตามสวนสาธารณะ แหล่งน้ำ หรือตามพื้นที่ต่างๆ ในป่าคอนกรีต ก็เป็นส่วนหนึ่งของการมีปฏิสัมพันธ์ต่อสภาพแวดล้อมของพวกมัน ซึ่งส่งผลบางประการต่อการดำรงชีวิตของคน
แม้ในทรรศนะของคนทั่วไป ‘เหี้ย’ อาจเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีพฤติกรรม ‘น่าขนลุก’ สำหรับคนหมู่มาก แต่ในทางนิเวศวิทยา ถือเป็นสัตว์ที่มีประโยชน์ต่อการรักษาสมดุลของนิเวศได้เป็นอย่างดี
‘เหี้ย’ (water monitor lizard) เป็นหนึ่งใน 4 สัตว์ตระกูล ‘เหี้ย’ ที่พบได้ในเมืองไทย มันเป็นสัตว์เลื้อยคลาน ที่กระจายตัวในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พวกมันมักอาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำ หรือตามแหล่งที่มีอาหาร อาศัย ‘รัง’ ที่มักไว้ตามพื้นที่ร่มรื่น หรือใต้ต้นไม้ ทำให้เราสามารถพบพวกมันได้ในทุกภาคของประเทศ

ลักษณะทางกายภาพที่เฉพาะตัวของเหี้ย คือ มีผิวหนังเป็นเกล็ด ‘ลายดอก’ ขนาดความยาวของลำตัว (ในช่วงวัยเจริญพันธุ์) มีความยาวตั้งแต่ 2 – 3 เมตร เท้า (ตีน) มีลักษณะเป็น ‘กรงเล็บ’ คล้ายสัตว์นักล่า ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้สามารถปีนป่ายที่สูงได้ ฟันมีความคล้ายกับ ‘ฟันปลาช่อน’ มีคุณสมบัติใน ‘การเฉือน’ มีลิ้นที่เป็นแฉกคล้ายกับสัตว์จำพวกงูและกิ้งก่า ซึ่งสามารถรับได้ทั้งกลิ่นและความร้อน ‘เหี้ย’ มีลักษณะพิเศษอยู่อย่างหนึ่งคือ ‘มีตาที่สาม’ บริเวณส่วนหัว ใช้ในการรับแสงด้วย
การกระจายพันธุ์ เหี้ยสามารถออกไข่ได้โดยเฉลี่ย 30 ฟอง ส่วนการรับพลังงาน ‘เหี้ย’ ในฐานะ ‘ผู้ล่า’ (Predator) สามารถกินสัตว์ทุกชนิดที่มีขนาดเล็กกว่า อาทิ เต่า หนู นก ไก่ และกบ โดยจะกินเหยื่อทั้งตัว แล้วค่อยสำรอกเอาเศษซากออกมา หลังได้รับสารอาหารแล้ว

บทบาทสำคัญอีกประการของ ‘เหี้ย’ ในระบบนิเวศ ถูกจัดว่าเป็น ‘ผู้กินซาก’ (Scavenger) ซึ่งทั้ง 2 หน้าที่มีความสำคัญต่อวงจรของธรรมชาติ ตามหลักของ ‘ห่วงโซ่อาหาร’ (Food Chain) และ ‘สายใยอาหาร’ (Food Web) ซึ่งเป็นกระบวนการถ่ายทอดพลังงาน โดยการกินอาหารจากสิ่งมีชีวิตระดับหนึ่งไปยังสิ่งมีชีวิตอีกระดับหนึ่งต่อเนื่องกัน ทำให้เกิดการถ่ายทอดพลังงานในรูปอาหาร ระหว่างสิ่งมีชีวิตที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อน
“ถ้าไม่มี ‘เหี้ย’ ในระบบนิเวศ การเกิดโรคระบาดที่มาจากซากสัตว์อาจจะเกิดง่ายขึ้น ยิ่งในภาวะปัจจุบันที่เหี้ยพบให้เห็นในเมืองเป็นหลัก ตามกลไกของการพัฒนาความเป็นเมืองที่ไปไกลมากขึ้น เหี้ยจึงมีสถานะในห่วงโซ่อาหารที่สูงขึ้น อย่างการกินหนูในเมือง อาจเป็นส่วนช่วยในการจำกัดประชากรของหนูได้ หมายความว่า ‘สัตว์ที่เป็นพาหะ’ ก็จะลดลงตามไปด้วย”
‘รุจิระ มหาพรหม’ นักวิจัยสัตว์ป่าและกรรมการสมาคม Save Wildlife Thailand (SWT) อธิบายความสำคัญของ ‘เหี้ย’ ที่มีทั้งแง่ ‘การเป็นผู้ล่า’ และ ‘การเป็นผู้กำจัดซาก’ ซึ่งส่วนเกี่ยวเนื่องกับระบบนิเวศเมือง แต่ขณะเดียวกัน เหี้ยยังเป็นภาพจำที่ไม่สวยงามของคนเท่าไหร่นัก
สัญญะของ ‘เหี้ย’ กับความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ
ในมุมวรรณกรรม – ความเชื่อ ‘รุจิระ’ เล่าให้ฟังว่า ‘พระพุทธเจ้า’ แต่ปางก่อน ก็เคยเสวยพระชาติเป็น ‘เหี้ย’ ผ่านการบอกเล่าของ ‘นิบาตชาดก’ หมวดเอกนิบาต ชาดกเรื่องที่ 138 ‘โคธชาดก’ครั้งหนึ่งพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็น ‘เหี้ยโคธบัณฑิต’ ขณะเดียวกัน ก็ปรากฏเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนัง ที่ ‘วัดคงคาราม’ จังหวัดราชบุรี
ดังนั้น ‘เหี้ย’ อาจไม่ใช่ ‘สัตว์ชั้นต่ำ’ หรือเป็น ‘เสนียดจัญไร’ ตามแบบที่ทุกคนเคยคิด
เคยมีการตั้งข้อสังเกตว่า ‘เหี้ย’ อาจเป็นพาหนะของ ‘พระพิรุณ’ โดยมีสมมติฐานจากนักวิชาการ ที่คาดเดาถึง ‘เหี้ย’ ในอดีตอาจไม่ได้หมายถึง ‘สัตว์เลื้อยคลาน’ อย่างในยุคปัจจุบันเพียงอย่างเดียว อาจหมายถึงสัตว์ชนิดอื่นๆ ที่มีลักษณะทางกายภาพใกล้เคียงกัน อาทิ จระเข้ และงูใหญ่ (พญานาค)

นอกจากนี้’ตัวเหี้ย’ ยังเป็นภาพปรากฎอยู่บน ‘กลองมโหระทึก’ ซึ่งเป็นวัตถุโบราณระดับสูงอายุนับ 2,000 ปี มีความสำคัญในแง่โบราณคดีของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย ‘มโหระทึก’ จะถูกใช้ประกอบพิธีกรรม ที่เกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ อย่าง ‘พิธีขอฝน’ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลอาจเป็นการสื่อถึงความใกล้ชิดระหว่าง ‘ตัวเหี้ย’ กับ ‘แหล่งน้ำ’ และอาจมีนัยการแสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมของสัตว์ชนิดนี้ต่อ ‘ความอุดมสมบูรณ์’ ของระบบนิเวศด้วย
ขณะเดียวกัน ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เคยปรากฎกาพย์ที่ระบุถึง ‘ตัวเหี้ย’ ใน ‘กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง’ ซึ่งเป็นงานประพันธ์ของ ‘เจ้าฟ้ากุ้ง’ แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ช่วงหนึ่งได้มีการกล่าวถึงตัวเหี้ย ระบุความว่า
“ตะกวดเหี้ยเมียเข้าไข่ ในโพรงไม้ได้เปนรัง ตัวน้อยกระจ้อยหวัง รูปจระเข้เล่ห์หมือนกันฯ” เป็นการยืนยันได้ว่า เหี้ยอยู่ในระบบนิเวศของไทยมาอย่างยาวนาน สามารถพบเห็นได้ไม่ยาก และมีความใกล้ชิดกับสังคมของมนุษย์อยู่มิใช่น้อย
ยิ่งมองไปในเชิงภาษาศาสตร์ ‘เหี้ย’ มีชื่อวิทยาศาสตร์ เรียกว่า ‘Varanus salvator’ ในภาษาละตินหมายถึง ‘การเตือนภัย’ (Varanus ในภาษาอังกฤษ คือ Waran) ขณะที่บางคนให้ความหมายถึงความเป็น ‘ผู้ช่วยเหลือ’ (Salvator ในภาษาอังกฤษ คือ savior) ซึ่งแตกต่างจากความหมายตามภาษาปากของคนไทยที่ถือว่าเป็นคำหยาบคาย หรือสิ่งที่ไม่ดี มีความอัปมงคล
หากมองตามหลักฐานที่ปรากฏผ่านหน้าประวัติศาสตร์ – วรรณกรรม ‘เหี้ย’ อาจไม่ใช่สัตว์ที่พึงน่ารังเกียจ แต่ทรงคุณค่าทั้งในความหมายและพฤติกรรมทางธรรมชาติ ที่ล้วนมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศรอบข้าง
เปลี่ยนทัศนคติ มอง ‘เหี้ย’ ไม่เหี้ย
แม้ปัจจุบัน ‘เหี้ย’ จะมีสถานะการถูกคุกคามที่ต่ำ (Least Concerned) มีความเสี่ยงน้อยต่อการสูญพันธุ์จากธรรมชาติ แต่หากเราพิจารณาจากพฤติกรรมของ ‘มนุษย์’ ที่ส่วนใหญ่มักรังเกียจและพยายามต่อต้านการมีสัตว์ชนิดนี้ ร่วมใช้ประโยชน์ร่วมกับคนในพื้นที่สาธารณะ อาจเป็นมิติที่น่ากังวลในระยะยาว
ในระดับนานาชาติ มีการเปิดเผยสถานะของ ‘แลน’ หรือ ‘ตะกวด’ (clouded monitor lizard) ซึ่งเป็นญาติกับ ‘เหี้ย’ มีรายงานจาก องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature) หรือ ไอยูซีเอ็น (IUCN) ว่ากำลังอยู่ในระดับ ใกล้ถูกคุกคาม (Near Threatened) เพราะเกิดการล่าต่อเนื่อง
ดังนั้น มนุษย์โดยเฉพาะ ‘คนในเมือง’ อาจต้องปรับทัศนคติต่อการมอง ‘ตัวเหี้ย’ ในฐานะของ ‘เพื่อนร่วมระบบนิเวศ’ เชื่อว่า ข้อมูลความสำคัญด้านธรรมชาติวิทยา และเรื่องราวต่างๆ ที่ออกมาในรูปแบบงานวรรณกรรม จะส่งเสริมให้ทุกคนมองมันอย่างไร้ซึ่ง ‘อคติ’
เพราะ ‘เหี้ย’ หาใช่สิ่งอัปมงคล อย่างที่ ‘มนุษย์’ เราในยุคปัจจุบันตีตราพวกมัน
อ้างอิง
- ภาพเปิดเรื่อง ภาพถ่ายโดย Erik Karits