‘สวัสดีปีงูเล็ก’ ชวนรู้จัก 10 เรื่อง(ไม่)ลับ ฉบับคนกลัวงูห้ามพลาด!

‘สวัสดีปีงูเล็ก’ ชวนรู้จัก 10 เรื่อง(ไม่)ลับ ฉบับคนกลัวงูห้ามพลาด!

ขึ้นชื่อว่า ‘งู’ จะมีพิษหรือไม่มีพิษ ก็ดูไม่เป็นมิตรทั้งนั้นแหละ

หลายคนอาจมองว่างูเป็นสัตว์ที่น่าเกลียด น่ากลัวและอันตราย แต่จริง ๆ แล้ว งูก็เป็นสัตว์อีกหนึ่งชนิดที่น่าสนใจและมีความสำคัญไม่น้อยเลยทีเดียว แต่กลับถูกทำให้เข้าใจผิดด้วยการเหมารวมว่างูทุกตัวต้องมีนิสัยเหมือนกัน 

วันนี้แอดมินจึงจะขอพาไปไขความลับทั้ง 10 ข้อ ที่จะทำให้คุณรู้จักพฤติกรรมและเข้าใจธรรมชาติของงู สามารถรับมือกับงูได้อย่างปลอดภัยและมีความมั่นใจมากขึ้น หรืออาจช่วยให้ความกลัวที่มีในใจลดน้อยลงก็เป็นได้

1. งูส่วนใหญ่ไม่มีพิษ : ในโลกปัจจุบันมีงูมากกว่า 3,000 ชนิด สามารถพบได้ทุกที่ยกเว้นในทวีปแอนตาร์กติกา ไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์ กรีนแลนด์ และนิวซีแลนด์ จากงูทั้งหมด 3,000 ชนิด พบงูไม่มีพิษประมาณ 2,400 ชนิด หรือคิดเป็นร้อยละ 80 ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 600 ชนิด เป็นงูมีพิษ และมีเพียง 200 ชนิดเท่านั้น หรือคิดเป็นเพียงร้อยละ 7 ที่มีนิสัยก้าวร้าวและอาจทำร้ายมนุษย์ได้

2. งูมีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศ : งูเป็นได้ทั้งผู้ล่าและเหยื่อ มีความสำคัญในระบบห่วงโซ่อาหาร ช่วยควบคุมประชากรสัตว์ฟันแทะ อย่างหนู เป็นอาหารที่สำคัญของสัตว์ผู้ล่า และช่วยลดการแพร่กระจายของโรคที่มากับสัตว์เหล่านั้นได้ หากไม่มีงู ระบบนิเวศอาจเสียสมดุลจนเกิดปัญหากับการเกษตรและสิ่งแวดล้อมตามมา

3. งูแสงอาทิตย์เป็นงูไม่มีพิษ : ความเชื่อผิด ๆ ที่ว่า ถ้าหากใครโดนงูแสงอาทิตย์กัดแล้ว จะมีชีวิตอยู่ได้เพียง 1 คืนเท่านั้นและจะเสียชีวิตในรุ่งเช้าเมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว งูแสงอาทิตย์เป็นงูไม่มีพิษ แถมมีนิสัยรักสงบ ไม่ก้าวร้าว ไม่รุกรานใครก่อน และที่สำคัญงูแสงอาทิตย์เป็นงูที่กินงูพิษ ทั้งงูเห่า และงูจงอาง จนได้รับฉายาว่า ‘งูนักกำจัดงูพิษ งูแสงอาทิตย์เป็นงูใจดี’

4. งูมีลิ้น 2 แฉก : ลิ้นของงูมีหน้าที่สำคัญมากในการรับรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว โดยเฉพาะกลิ่น ซึ่งเป็นอวัยวะรับกลิ่นที่ไวและมีประสิทธิภาพสูงมาก การมีลิ้น 2 แฉกนั้น จะช่วยเพิ่มพื้นที่ในการสัมผัสกับกลิ่น ทำให้งูสามารถรับกลิ่นได้มากขึ้นและแม่นยำยิ่งขึ้น และงูสามารถระบุทิศทางของกลิ่นได้ โดยการเปรียบเทียบความเข้มข้นของกลิ่นที่ได้รับจากแต่ละแฉก

5. งูชอบแลบลิ้นออกมาบ่อย ๆ : งูมักมีพฤติกรรมการแลบลิ้น เพื่อจะช่วยให้รับรู้กลิ่นในอากาศและบนพื้นดินได้อย่างรวดเร็ว หาอาหารหรือหลบภัย โดยการตวัดลิ้นสัมผัสอากาศ แล้วนำลิ้นไปแตะเพดานปาก บริเวณที่เรียกว่า Jacobson’s organ เป็นอวัยวะที่อ่านค่ากลิ่น แทนการใช้จมูกดมได้ 

6. งูไม่ได้ยินเสียง แต่รับรู้การสั่นสะเทือน : งูไม่มีหูภายนอกเหมือนมนุษย์ แต่รับรู้ได้จากการรับแรงสั่นสะเทือนบริเวณหน้าท้องผ่านพื้นดินได้ดี ดังนั้นการเดินหนัก ๆ หรือเคาะพื้นแรง ๆ อาจทำให้งูรู้สึกถึงอันตรายและเลื้อยหนีไปเองได้

7. งูเป็นสัตว์ที่สายตาสั้นมาก : งูเป็นสัตว์ที่สายตาไม่ค่อยดีนัก จึงมีวิวัฒนาการด้านระบบประสาทในการรับกลิ่นและการสัมผัสแรงสั่นสะเทือนเป็นหลัก แทนการมองหาเหยื่อ

8. พิษงูมีหลายประเภท : พิษของงูบางชนิดรุนแรงมากจนสามารถฆ่าคนได้ภายในเวลาไม่กี่นาที ในขณะที่งูพิษบางชนิดอาจทำให้เกิดอาการเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีอาการเลยก็ได้ ประเภทของพิษงูที่สามารถพบได้ในประเทศไทย เช่น 

  • Neurotoxin พิษที่ทำลายระบบประสาท ทำให้เหยื่อเกิดอาการชา ปวดเมื่อย กล้ามเนื้ออ่อนแรง หายใจลำบาก และอาจถึงแก่ชีวิตได้ พบได้ในงูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม งูทับสมิงคลา 
  • Hemotoxin พิษที่ทำลายระบบไหลเวียนเลือด ทำให้เกิดการอักเสบ บวม เลือดออก และอาจทำให้เกิดภาวะเลือดแข็งตัวผิดปกติ พบได้ในงูแมวเซา งูกะปะ และงูเขียวหางไหม้
  • Myotoxin พิษที่ทำลายกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดอาการปวดเมื่อย กล้ามเนื้ออ่อนแรง และอาจทำให้กล้ามเนื้อตายได้ พบได้ใน งูทะเล

9. งูไม่มีพิษก็มีสีสันสดใสได้ : อีกหนึ่งความเข้าใจผิดที่คนหลายคนคิดว่า งูที่มีสีสันสดใสจะเป็นงูพิษเท่านั้น ซึ่งอาจไม่ใช่เสมอไปเพราะงูไม่มีพิษหลายชนิดก็มีสีสันสดใสได้ เช่น งูปล้องฉนวนลาว

10. งูสามารถลอกคราบได้ตลอดชีวิต : งูจะลอกคราบเป็นระยะ ๆ ตลอดชีวิต งูวัยอ่อนมักจะลอกคราบมากกว่างูที่โตเต็มวัย เนื่องจากยังอยู่ในช่วงเจริญเติบโต นอกจากนี้ งูยังมักจะลอกคราบก่อนการสืบพันธุ์หรือหลังจากคลอดลูกอีกด้วย แม้ว่าการลอกคราบจะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเจริญเติบโตของงู แต่การลอกคราบยังมีเพื่อช่วยกำจัดปรสิตที่อาจทำอันตรายต่องูได้

และหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น เช่น ต้องปะทะกับงูโดยตรง พยายามตั้งสติและรักษาระยะห่าง ห้ามเข้าไปยุ่งหรือพยายามจับงูเด็ดขาด ออกจากบริเวณนั้นให้เร็วที่สุด และแจ้งเจ้าหน้าที่หรือติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กู้ภัย หรือหน่วยงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทันที

หรือหากมีเหตุการณ์ที่ร้ายแรงกว่านั้นเกิดขึ้น ถูกงูกัดโดยไม่แน่ใจว่างูตัวนั้นคืองูอะไรมีพิษหรือไม่ ให้ทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้เร็วที่สุด ขั้นตอนแรก ตั้งสติ หากมีน้ำสะอาดและสบู่อยู่ให้รีบล้างแผลทันที ดามบริเวณที่ถูกงูกัด ด้วยผ้า หรือด้วยวัสดุที่มีลักษณะแข็ง เพื่อให้เคลื่อนไหวน้อยที่สุด ไม่ควรขันชะเนาะ เพราะไม่สามารถป้องกันการดูดซึมพิษงูได้ และถ้ารัดแน่นเกินไปอาจทำให้เกิดเนื้อเน่าตายได้ วางอวัยวะส่วนที่ถูกงูกัดให้ต่ำกว่าหรือระดับเดียวกับหัวใจ สุดท้ายรีบไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด หรือเรียกรถพยาบาลมารับทันที

ท้ายที่สุด ไม่เพียงแต่เราที่กลัวงู แต่งูก็กลัวเราเช่นกัน หากไม่มีเหตุจำเป็นที่ต้องป้องกันตัวหรือปะทะกัน งูก็มักจะเลือกวิธีการหลบหนีเสียมากกว่า ดังนั้นหากเราไม่เข้าไปใกล้หรือรบกวนแหล่งอาศัย งูก็จะไม่มารุกรานกับเราเช่นกัน ต่างคนต่างสัตว์ต่างอยู่กันดีที่สุด

อ้างอิง

ผู้เขียน

+ posts

สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว