ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี ที่พญาแร้งได้สูญพันธุ์ไปจากป่าเมืองไทย หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ทางองค์การสวนสัตว์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พยายามที่จะฟื้นฟูประชากรพญาแร้งมาโดยตลอด แต่ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ต่อมาจึงได้ริเริ่ม ‘โครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย เพื่อเป็นต้นแบบในการฟื้นฟูประชากรแร้งในพื้นที่ธรรมชาติ ของประเทศไทย’ โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับ องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เพื่อฟื้นฟูประชากรพญาแร้ง และหวังให้พญาแร้งได้กลับมาโบยบินเหนือผืนป่าเมืองไทย อีกครั้ง
‘ต้าวเหม่ง’ ถือเป็น ‘ลูกพญาแร้งตัวแรก’ ภายใต้โครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทยเพื่อเป็นต้นแบบในการฟื้นฟูประชากรแร้งในพื้นที่ธรรมชาติของประเทศไทย และเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความหวังครั้งใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น
วันนี้แอดมินจะพาทุกคนมาย้อน Timeline นับตั้งแต่พญาแร้งสูญพันธุ์จนถึงวันที่ต้าวเหม่งฟักออกมาจากไข่ ว่ากว่าจะมีวันนี้ เราผ่านอะไรกันมาบ้าง?
ประเทศไทยมีพญาแร้งในกรงเลี้ยงที่ได้มาจากการพลัดหลงจากการอพยพผ่านประเทศไทย และได้รับมอบจากสวนสัตว์พาต้า รวมทั้งหมด 6 ตัว ถูกนำมาดูแลเพื่อฟื้นฟูสภาพที่สวนสัตว์นครราชสีมา จำนวน 4 ตัว (คู่นุ้ย-แจ๊ค และ คู่ใบบัว-ตาล) และมีสมาชิกใหม่อย่าง ‘ต้าวเหม่ง’ (ลูกของแม่นุ้ย-พ่อแจ๊ค) เพิ่มมาอีก 1 ตัว
และอยู่ในกรงฟื้นฟูบริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จำนวน 2 ตัว (คู่ป๊อก-มิ่ง) และสมาชิกใหม่อย่าง ‘51’ ที่เป็นลูกพญาแร้งตัวแรกที่เกิดในถิ่นอาศัยเดิม กลางป่าห้วยขาแข้ง
14 กุมภาพันธ์ 2535 พญาแร้งฝูงสุดท้ายสูญพันธุ์ไปจากป่าเมืองไทย
จากเหตุการณ์พรานวางยาเก้งเพื่อหวังให้เสือโคร่งมากิน แต่กลับกลายเป็น ‘พญาแร้ง’ ที่ลงมากินซากกว่า 30 ตัว และตายยกฝูงในคราวเดียว วันนี้จึงถือเป็นวันที่เราได้สูญเสียพญาแร้งไปจากป่าธรรมชาติของประเทศไทย และในปีนี้พญาแร้งจึงถูกกำหนดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535
1 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ริเริ่มโครงการ ‘โครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย เพื่อเป็นต้นแบบในการฟื้นฟูประชากรแร้งในพื้นที่ธรรมชาติ ของประเทศไทย’
จากเหตุการณ์ในครั้งนั้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการฯ โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับ องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เพื่อฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยเดิม และเป็นต้นแบบในการฟื้นฟูประชากรแร้งในพื้นที่ธรรมชาติของประเทศไทย โดยมีพื้นที่ดำเนินงาน ได้แก่ 1) พื้นที่มรดกโลกธรรมชาติทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง 2) พื้นที่อนุรักษ์ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือทางตอนใต้ ที่มีศักยภาพเป็นถิ่นอาศัยของนกกลุ่มแร้งโดยเน้นชนิดเป้าหมาย 2 ชนิด คือพญาแร้งและแร้งเทาหลังขาว 3) สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และ 4) สวนสัตว์นครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 – 30 กันยายน 2568
พ.ศ. 2564 แม่นุ้ยวางไข่ครั้งแรก แต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากไข่ที่ได้ไม่มีเชื้อ
องค์การสวนสัตว์ได้พยายามจับคู่ผสมพันธุ์ให้กับพญาแร้งนุ้ยมาซักระยะ แต่ยังไม่สำเร็จ เนื่องจากไข่ที่แม่นุ้ยเคยวางนั้น เป็นไข่ที่ไม่ได้รับการผสมกับน้ำเชื้อของพญาแร้งตัวผู้ จึงไม่มีโอกาสได้พัฒนาเป็นตัวอ่อน แต่ถือเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าในกระบวนการเลี้ยงพญาแร้งในกรงเลี้ยง
14 กุมภาพันธ์ 2565 ปล่อยพญาแร้งคู่ป๊อก-มิ่ง ในกรงฟื้นฟูหน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
ทางโครงการฯ ได้พาพญาแร้งป๊อก (ตัวผู้) และมิ่ง (ตัวเมีย) เข้าสู่กรงฟื้นฟูขนาด 20×40 เมตร สูง 20 เมตร บริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เพื่อหวังให้พญาแร้งทั้งสองจะจับคู่กัน และวางไข่ในถิ่นอาศัยเดิม
17 มกราคม 2566 แม่นุ้ยวางไข่สำเร็จ!
แม่นุ้ยแห่งสวนสัตว์โคราช วางไข่แห่งความหวังได้สำเร็จ! ถือเป็นความสำเร็จอีกขั้นที่จะนำไปสู่เป้าหมายที่ตั้งใจไว้
25 มกราคม 2566 ทีมงานได้นำไข่ของแม่นุ้ยเข้าตู้ฟักเพื่อเพิ่มอัตราการรอดชีวิต
หลังจากที่ปล่อยให้แม่นุ้ยกกไข่เอง 8 วัน และทีมงานก็นำไข่เข้าตู้ฟัก เพื่อเพิ่มอัตราการรอดชีวิตให้กับลูกพญาแร้ง ซึ่งเป็นวิธีที่จะทำให้แม่นุ้ยวางไข่ใบที่สอง ซึ่งเป็นไปตามคาด แต่ไข่ใบที่สองนี้ไม่สำเร็จ ไข่พัฒนาเป็นตัวอ่อนแล้วแต่ไม่สมบูรณ์ที่จะฟักเป็นตัว
14 กุมภาพันธ์ 2566 ประกาศให้วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น ‘วันรักษ์พญาแร้ง’
จากเหตุการณ์ ‘พญาแร้งฝูงสุดท้าย’ ถูกวางยาตายยกฝูง และสูญพันธุ์ในครานั้น จึงถือเอาวันนี้ของทุกปี เป็น ‘วันรักษ์พญาแร้ง’ และถูกจัดขึ้นครั้งแรกวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อให้ได้เราตระหนักและเห็นความสำคัญของพญาแร้ง ผู้ที่ได้รับสมญานามว่า ‘เทศบาลประจำผืนป่า’
10 มีนาคม 2566 ลูกพญาแร้งฟักออกจากไข่ใบแรกในไทยได้สำเร็จ!
ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จในการเพาะพันธุ์พญาแร้ง หลังสูญพันธุ์ไปนานกว่า 30 ปี และได้ทำการตั้งชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า ‘ต้าวเหม่ง’
10 มีนาคม 2567 ต้าวเหม่ง อายุครบ 1 ขวบ
จากการติดตามและดูแลอย่างใกล้ชิดของทีมงานพบว่า ต้าวเหม่งพญาแร้งเพศเมีย ‘มีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงดี มีรูปร่างหน้าตาและสัดส่วนสมตามวัย’
หลังจากนี้จะเกิดอะไรขึ้น?
ในขั้นตอนของ ‘การปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ’ ทีมงานต้องมั่นใจว่าพญาแร้งที่ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ จะสามารถตั้งประชากรใหม่และอยู่รอดได้ จำนวนและสัดส่วนเพศของพญาแร้งในธรรมชาติ จำเป็นต้องได้รับการศึกษาเพิ่มเติม เพราะพญาแร้งใช้เวลา 10-15 ปี หรือมากกว่านั้น ในการเข้าสู่วัยผสมพันธุ์ ขั้นตอนนี้ต้องใช้ระยะเวลา และความอดทน และก่อนปล่อยพญาแร้งจะต้องผ่านการปรับสภาพให้คุ้นเคยกับถิ่นอาศัยเดิม หากโครงการฯ ประสบความสำเร็จ พญาแร้งจะกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ ช่วยรักษาสมดุลของธรรมชาติ และสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อมต่อไป
ผู้เขียน
สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว