‘ช้าง’ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมบนบกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ถึงแม้จะมีขนาดตัวที่ใหญ่และมองเห็นได้ชัดเจน แต่กลับซ่อนความลับที่น่าทึ่งไว้มากมาย หนึ่งในนั้นคือ พวกเขาเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่นอนน้อยที่สุดในโลก!
โดยทั่วไป สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่มีขนาดเล็ก มักใช้เวลานอนนานกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่ขนาดใหญ่กว่า เช่น ค้างคาวใช้เวลานอนวันละ 19 ชั่วโมง ตัวนิ่มใช้เวลานอนวันละ 18 ชั่วโมง ในขณะที่มนุษย์ใช้เวลานอนเฉลี่ยวันละ 8 ชั่วโมง เนื่องจากสัตว์ขนาดเล็กใช้พลังงานต่อน้ำหนักตัวมากกว่าสัตว์ขนาดใหญ่ ส่งผลให้ต้องการพักฟื้นร่างกายด้วยการนอนหลับที่มากขึ้น
จากการศึกษาพฤติกรรมของช้าง ทีมวิจัยพบว่า ช้าง เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่นอนน้อยที่สุด ณ เวลานี้ เฉลี่ยช้างนั้นนอนเพียงวันละ 2 ชั่วโมงเท่านั้น โดยช้างป่าเอเชีย (Asian Elephant) จะนอนเพียง 1 ถึง 3 ชั่วโมงต่อวัน มีช่วงเวลานอน 1 ถึง 2 ครั้ง (ช่วงเวลา 21.00 ถึง 05.00 น.)
ส่วนช้างป่าแอฟริกา (African Elephant) จะใช้เวลานอนเฉลี่ย 2 ชั่วโมงต่อวัน ในช่วงเวลาระหว่าง 02.00 ถึง 06.00 น และปัจจัยที่มีผลต่อการนอนหลับของพวกเขาคือ ลักษณะภูมิประเทศ อุณหภูมิ ความชื้น ช่วงเวลาพระอาทิตย์ขึ้น และพระอาทิตย์ตก
ลักษณะการนอนของช้าง ช้างสามารถนอนได้ทั้งในท่านอนและท่ายืน แต่ส่วนใหญ่มักจะนอนในท่ายืน โดยโน้มลำตัวไปข้างหน้าและแกว่งงวงเล็กน้อย ซึ่งช้างแม่แปรก หรือช้างผู้นำฝูง ก็จะมีพฤติกรรมการนอนในท่ายืน ซึ่งจะอยู่ในช่วงจำกัดการหลับลึก (REM: Rapid Eye Movement) ป้องกันการหลับลึก ทำให้ช้างยังคงรู้สึกตัวได้ตลอดเวลาเมื่อมีภัย เพื่อเป็นการเฝ้าระวังความปลอดภัยแก่ช้างในโขลง ส่วนลูกช้างทั่วไปจะนอนหลับในท่าตะแคงด้านข้างราบไปกับพื้น แบ่งเวลานอนวันละ 3 ถึง 4 ครั้ง และใช้เวลานอนแต่ละช่วง 10 นาที ถึง 2 ชั่วโมง
เวลาที่เหลือจากการนอนอีกประมาณ 22 ชั่วโมง ช้างจะใช้เวลามากที่สุดหมดไปการกินอาหาร เนื่องจากขนาดตัวที่หนัก 3 ถึง 4 ตัน ช้างจึงต้องการอาหารมากถึง 150 ถึง 200 กิโลกรัมต่อวัน และใช้พลังงานที่ได้จากการกินนั้นไปกับการเดินเที่ยวป่า เดินหาที่นอน และเดินหาอาหารในมื้อถัดไป
นอกจากนั้นยังพบว่า กิจกรรมในแต่ละวันของช้างไม่ได้ส่งผลต่อระยะเวลาการนอนหลับของช้างเลย แม้ว่าวันนั้นพวกเขาจะเดินทางไกล หรือวิ่งหนีศัตรูมาก็ตาม พวกเขาก็ยังคงใช้เวลาในการนอนเท่าเดิมหรือไม่นานไปกว่าเดิมมากนัก ช้างไม่ได้รู้สึกเหนื่อย เหมื่อยล้า หรือต้องการทดเวลานอนเพิ่มเติมแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ช้างเลือกที่จะใช้เวลานอนน้อยขนาดนี้อาจยังไม่แน่ชัด ทีมนักวิจัยยังคงต้องหาคำตอบกันต่อไป แต่เบื้องต้นพบว่า การนอนน้อยของช้างจะช่วยป้องกันตัวจากผู้ล่า หรือศัตรูได้เป็นอย่างดี เนื่องจากขนาดตัวที่ใหญ่โดดเด่น จึงต้องมีความพร้อมที่จะหนีจากนักล่าได้ตลอดเวลา และนี่อาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้พวกเขาดำรงชีวิตอยู่รอดจนถึงยุคปัจจุบัน
อ้างอิง
- Inactivity/sleep in two wild free-roaming African elephant matriarchs – Does large body size make elephants the shortest mammalian sleepers? | PLOS ONE
- กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ผู้เขียน
สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว