ก่อกำเนิดโลกภายใน 24 ชั่วโมง 

ก่อกำเนิดโลกภายใน 24 ชั่วโมง 

นักธรณีวิทยาจะทำการศึกษาในเรื่องของ ธรณีกาล (Geological time scale) หรือกาลเวลาทางธรณีวิทยาซึ่งได้จำแนกและจัดหมวดหมู่กาลเวลาตลอดอายุไขของโลกออกเป็นช่วงเวลาต่างๆ แต่หากเราจินตนาการถึงเส้นเวลาการก่อกำเนิดในระยะเวลาสี่พันห้าร้อยล้านกว่าปีของโลกที่ถูกบีบอัดให้เหลือเพียง 24 ชั่วโมงหรือในหนึ่งวัน โดยแต่ละชั่วโมงคิดเป็นประมาณ 187.5 ล้านปี ผ่านการวิวัฒนาการของโลกและการถือกำเนิดของเผ่าพันธุ์มนุษย์ในระยะเวลาเพียงไม่กี่นาที 

การทำความเข้าใจเส้นเส้นเวลานี้ช่วยให้เราเห็นภาพยุคสมัยอันกว้างใหญ่ของการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา การเคลื่อนตัวของทวีปอย่างช้าๆ การเพิ่มขึ้นและล่มสลายของความหลากหลายทางชีวภาพในแต่ละยุคสมัย  

00:00 น. โลกกำลังก่อตัว 

เริ่มต้นด้วยวินาทีแรกของการถือกำเนิดโลกในช่วงเวลาเที่ยงคืน เรื่องราวของโลกเริ่มต้นขึ้น บริเวณพื้นที่ใจกลางของ เนบิวลาสุริยะ (Planetary nebula) ซึ่งเป็นกลุ่มเมฆก๊าซและฝุ่นขนาดมหึมาที่เหลืออยู่จากการระเบิดของซุปเปอร์โนวา (Supernova) ห้วงจักรวาลนี้หมุนวนไปพร้อมกับวัตถุดิบของดาวเคราะห์ในอนาคต ถือเป็นจุดเริ่มต้นของระบบสุริยะของเรา พื้นที่บริเวณนี้มีแรงโน้มถ่วงเริ่มต้นทำงานอย่างไม่หยุดยั้ง โดยดึงอนุภาคมารวมกันจนกลายเป็นกระจุกที่ใหญ่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง  

อนุภาคเหล่านี้ได้กระจุกตัวกันจนเกิดมวลเพียงพอที่จะจุดชนวนนิวเคลียร์ฟิวชัน (Nuclear fusion) ภายในแกนกลาง ก่อกำเนิดเป็นดาวฤกษ์อย่างดวงอาทิตย์ แรงดึงดูดของดาวแรกเกิดสร้างเนบิวลาโดยรอบจนกลาย เป็นจานดาวเคราะห์ก่อนเกิด (Protoplanetary disk) ซึ่งหมายถึง แผ่นจานสสารระหว่างดาวอัดแน่นไปด้วยแก๊สที่หมุนวนไปรอบๆ ดาวฤกษ์ที่กำลังก่อตัวขึ้นใหม่ ในบริเวณรอบดวงอาทิตย์ ฝุ่นและหินภายใต้แรงโน้มถ่วงรวมตัวกันเป็นดาวเคราะห์ขนาดเล็ก โลกซึ่งเป็นดาวเคราะห์ก่อกำเนิดที่กำลังเติบโตซึ่งยังคงสะสมมวลสารอยู่ต่อเนื่องเช่นกัน  

ต่อมาอัตราการชนของอุกกาบาตพุ่งสูงขึ้นจากฝนอุกกาบาตจำนวนมหาศาลที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของพื้นผิวโลกจากพลวัตกระบวนการสร้างสรรค์และการทำลาย บางทฤษฎีชี้ให้เห็นว่าผลกระทบเหล่านี้ยังก่อให้เกิดส่วนประกอบที่จำเป็นสำหรับสิ่งมีชีวิต เช่น น้ำและสารประกอบอินทรีย์ ซึ่งเป็นสิ่งปูทางสำหรับการเกิดขึ้นของสรรพชีวิตในที่สุด 

ช่วงเวลานี้ได้เกิดสมมติฐาน การชนขนาดยักษ์ของดาวเคราะห์ที่มีนามว่า ธีอา (Theia) ได้พุ่งชนเข้ากับโลก ผลกระทบจากภัยพิบัติครั้งนี้ได้ผลักเศษหินจำนวนมหาศาลขึ้นสู่วงโคจรรอบโลก ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็รวมตัวกันเป็นดวงจันทร์ เหตุการณ์นี้มีผลกระทบอย่างมากต่อโลก โดยทำให้แกนเอียงและสภาพอากาศมีความเสถียรภาพมากขึ้น มีส่วนทำให้เกิดสภาวะที่จำเป็นสำหรับสิ่งมีชีวิต 

01:00 น. เกิดนรกบนผิวดิน 

โลกได้ก่อตัวจากภายในที่แตกต่างกันออกไป โดยมีแกนกลางเหล็กหนาแน่นที่ล้อมรอบด้วยเปลือกโลก (Crust) และเนื้อโลก (Mantle) โลกยุคแรกนี้ถูกเปรียบเป็นภาพว่าเสมือนกับนรก 

โดยพื้นผิวเกิดการหลอมละลายและถูกถล่มด้วยการชนอย่างไม่หยุดยั้งของดาวเคราะห์และดาวหางที่หลงเหลืออยู่ การชนกันอย่างรุนแรงเหล่านี้มีส่วนช่วยเพิ่มมวลสารและมีบทบาทสำคัญในพัฒนาการของพื้นผิวโลก รวมถึงการเกิดของสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่ายที่อาจกลายเป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนาชั้นบรรยากาศและมหาสมุทร  

ประมาณ 03:30 น. กำเนิดมหาสมุทร 

ความร้อนที่สะสมมากขึ้น ร่วมกับการสลายตัวของสารกัมมันตภาพรังสีภายในโลก ทำให้เกิดการระเบิดและพ่นก๊าซของภูเขาไฟที่รุนแรง รวมถึงไอน้ำ คาร์บอนไดออกไซด์ ไนโตรเจน และก๊าซอื่นๆ ในปริมาณเล็กน้อยออกสู่ชั้นบรรยากาศ เมื่อดาวเคราะห์เริ่มเย็นลง ไอน้ำก็ควบแน่นก่อกำเนิดเป็นฝนตกลงมาสร้างมหาสมุทรแห่งแรก ซึ่งปกคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของผิวโลก 

หลังเวลา 03:44 น. เกิดสัญญาณแรกของชีวิต 

โลกเปลี่ยนจากยุคแห่งขุมนรกไปสู่ บรมยุคอาร์เคียน (Archaean aeon) ซึ่งเป็นเวลาที่สัญญาณแรกของชีวิตปรากฏขึ้นจากทฤษฎี ซุปแห่งการเริ่มต้น (primordial soup) นักวิทยาศาสตร์ได้สันนิษฐานว่า สิ่งมีชีวิตรูปแบบแรกมีต้นกําเนิดมาจากแหล่งน้ำดั้งเดิมบนโลกซึ่งมีอินทรียวัตถุที่ซับซ้อน เชื่อกันว่าอินทรียวัตถุที่นําไปสู่การก่อตัวของสิ่งมีชีวิต ได้ก่อตัวขึ้นจากสารอนินทรีย์ บนชั้นบรรยากาศที่ลดลงของโลกเกิดการเย็นตัวลง เพียงพอสำหรับหินแข็งที่จะก่อตัว และมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ก็ปกคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลก เกาะภูเขาไฟกระจายอยู่บนภาคพื้นดิน โดยพ่นก๊าซออกมาส่งผลให้ชั้นบรรยากาศหนาขึ้น ซึ่งประกอบไปด้วยก๊าซไนโตรเจน คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และแอมโมเนียเป็นหลัก ก่อให้เกิดสภาวะที่สมบูรณ์แบบสำหรับการเริ่มต้นชีวิต 

แม้ว่าต้นกำเนิดที่แท้จริงของชีวิตยังคงเป็นหนึ่งในความลึกลับที่ยิ่งใหญ่ที่สุดทางวิทยาศาสตร์ แต่หลักฐานชี้ให้เห็นถึงสิ่งมีชีวิตแรกเริ่มเป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวที่แสนจะเรียบง่าย รูปแบบชีวิตแรกๆ นั้นไม่ต้องการออกซิเจนในการดำรงชีวิตเพราะขณะนั้นยังไม่มีออกซินเจนในชั้นบรรยากาศ 

ประมาณ 05:20 น. หลักฐานของสิ่งมีชีวิตชนิดแรก 

การพัฒนาที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในเวลานี้คือการปรากฏตัวของ ไซยาโนแบคทีเรีย (Cyanobacteria) หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน เป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตรูปแบบแรกสุดที่สามารถสังเคราะห์แสงได้ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้แสงแดดในการแปลงคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำให้เป็นอินทรียวัตถุหลังจากนั้นจึงปลดปล่อย ออกซิเจนออกมา ซึ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อชั้นบรรยากาศโลกในเวลาต่อมา เช่น เหตุการณ์ออกซิเดชั่นครั้งใหญ่ (Great Oxidation Event) ที่ส่งผลให้ระดับออกซิเจนในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 

หลักฐานเหล่านี้อ้างอิงจากการค้นพบ สโตรมาโตไลต์ (stromatolites) หรือฟอสซิลสาหร่ายที่มีโครงสร้างหลายชั้นเกิดจากการเจริญเติบโตของไซยาโนแบคทีเรียในน้ำตื้น ถือเป็นหลักฐานโดยตรงที่เก่าแก่ที่สุดเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตบนโลก มักพบโครงสร้างเหล่านี้ในการก่อตัวของหินโบราณ 

ขณะเดียวกันเปลือกโลกได้เกิดการเคลื่อนตัวอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การกำเนิดของทวีปแรกๆ ผืนดินเหล่านี้มีขนาดเล็กและเคลื่อนที่ได้ง่ายกว่าในยุคปัจจุบัน แต่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาธรณีวิทยาของโลก ภาคพื้นทวีปที่เริ่มเกิดเสถียรภาพประกอบกับการหมุนเวียนของวัสดุ (Material) ระหว่างพื้นดิน อากาศ และทะเลผ่านกระบวนการผุกร่อนและการกัดเซาะ มีส่วนช่วยในการสร้างสภาพแวดล้อมที่หลากหลายมากขึ้น 

หลัง 10:40 น. วิวัฒนาการอันสลับซับซ้อน 

โลกก็ไม่ใช่หินแห้งแล้งในอวกาศอีกต่อไป แต่เป็นดาวเคราะห์ที่มีชีวิต ซึ่งเต็มไปด้วยจุลินทรีย์และเตรียมพร้อมสำหรับวิวัฒนาการทางชีววิทยาขั้นต่อไป จากการเข้าสู่ยุคโพรเทอโรโซอิก (The Proterozoic Eon) ซึ่งเป็นยุคที่ครอบคลุมตั้งแต่ประมาณ 2.5 พันล้านถึง 541 ล้านปีก่อน มหายุคนี้ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา บรรยากาศ และชีวภาพที่สำคัญ ซึ่งเป็นรากฐานของการวิวัฒนาการของชีวิตที่ซับซ้อน  

เกิดการก่อตัวของมหาทวีปโรดิเนีย (Rodinia) มีบทบาทสำคัญในการกำหนดสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมของโลก ผืนดินขนาดมหึมาเหล่านี้ส่งผลต่อการไหลเวียนของมหาสมุทรและรูปแบบสภาพอากาศ นำไปสู่ช่วงที่อุณภูมิของโลกลดต่ำลง จนเกิดสภาพอากาศน้ำแข็งปกคลุมไปรอบโลก เราเรียกเหตุการณ์นี้ว่า ลูกบอลหิมะ (Snowball Earth) ซึ่งเชื่อกันว่านำไปสู่การวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่มีความซับซ้อนมากขึ้นเนื่องจากความจำเป็นในการปรับตัวท่ามกลางสภาพอากาศที่เลวร้าย เช่น การเกิดขึ้นของเซลล์ยูแคริโอต (Eukaryote) จากกระบวนการ เอนโดซิมไบโอซิส (Endosymbiosis) คำว่า ‘symbiosis’ อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตสองชนิดที่อยู่ร่วมกันในลักษณะที่ทั้งได้รับประโยชน์และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อความอยู่รอด ซึ่งเป็นการที่เซลล์หนึ่งกลืนกินอีกเซลล์หนึ่ง แต่แทนที่จะย่อยมัน เซลล์ทั้งสองกลับสร้างความสัมพันธ์ทางชีวภาพ ซึ่งมีโครงสร้างภายในที่ซับซ้อน รวมถึงนิวเคลียสที่มีสารพันธุกรรมของเซลล์ ความซับซ้อนของเซลล์นี้ทำให้เกิดความหลากหลายและความสามารถในการปรับตัวมากขึ้น  

20:00 น. หลักฐานของสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ (Multicellular) 

หลักฐานของสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์เริ่มปรากฏให้เห็นในช่วงเวลานี้ และถือเป็นเหตุการณ์ทางวิวัฒนาการที่สำคัญ ก่อเกิดความหลากหลายทางชีวภาพและการแสดงเซลล์พิเศษที่ทําหน้าที่ต่างกัน ส่งผลให้มีโครงสร้างและพฤติกรรมที่ซับซ้อนมากขึ้น 

ช่วงเวลานี้จะได้เห็นวิวัฒนาการของสัตว์กลุ่มแรก สาหร่าย และพืชพรรณ ที่มีความซับซ้อนและเป็นการวางรากฐานสำหรับระบบนิเวศในอนาคต เกิดการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ ทำให้เกิดการรวมตัวกันทางพันธุกรรม ซึ่งช่วยเร่งการวิวัฒนาการอย่างมีนัยสำคัญ ความหลากหลายทางพันธุกรรมที่มากขึ้นจะส่งผลต่อความสามารถในการปรับตัวและความยืดหยุ่นของประชากรต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม 

ก่อนสิ้นสุดยุคในเวลา 20:39 น. มีการก่อกำเนิดของสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ที่ซับซ้อนที่เก่าแก่ที่สุดที่รู้จัก จากหลักฐานการค้นพบซากดึกดําบรรพ์ทั่วโลก สิ่งนี้มีชื่อว่า อีดีแอคารัน (Ediacaran) สิ่งมีชีวิตลึกลับเหล่านี้ มักมีร่างกายอ่อนนุ่ม มีรูปร่างและขนาดที่หลากหลาย ถือเป็นก้าวสำคัญในวิวัฒนาการของชีวิตสัตว์ 

ยุคนี้ช่วยให้มองเห็นการทดลองชีวิตด้วยโครงสร้างหลายเซลล์ในยุคแรกๆ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการแพร่กระจายความหลากหลายของสัตว์ในยุคแคมเบรียน (Cambrian)  

21:05 น. ความหลากหลายที่รวดเร็ว 

เข้าสู่บรมยุคฟาเนอโรโซอิก (Phanerozoic Eon) เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า การระเบิดแคมเบรียน (Cambrian explosion) สิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลกมีความหลากหลายอย่างรวดเร็ว จากการเกิดขึ้นของไฟลัมสัตว์ที่สําคัญส่วนใหญ่ (The major animal phyla) และสร้างรากฐานสําหรับระบบนิเวศสมัยใหม่ การปรากฏตัวของสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อนซึ่งมีส่วนที่แข็ง เช่น เปลือกหอย ทำให้เป็นยุคที่มีบันทึกซากดึกดำบรรพ์มากมาย ปัจจัยที่เอื้อต่อวิวัฒนาการนี้ ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของออกซิเจนในชั้นบรรยากาศ การพัฒนาชั้นโอโซน และอาจเป็นไปได้ว่าวิวัฒนาการของผู้ล่า ส่งผลให้สิ่งมีชีวิตมีความซับซ้อนและหลากหลายมากขึ้น 

ในยุคออร์โดวิเชียน (Ordovician) เกิดความหลากหลายของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในทะเลและพบหลักฐานแรกเกี่ยวกับพืชบก เมื่อถึงยุคไซลูเรียน (Silurian) พืชมีท่อลำเลียง (Tracheophyta) กลุ่มแรกจะตั้งอาณานิคมบนพื้นดิน เปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมบนบกอย่างมีนัยสำคัญ และปูทางไปสู่ระบบนิเวศที่ซับซ้อนมากขึ้น 

ต่อมาใน ยุคดีโวเนียน (Devonian) มักถูกเรียกว่า ‘ยุคแห่งปลา’ เนื่องจากมีปลาหลากหลายชนิดที่น่าทึ่งวิวัฒนาการในช่วงเวลานี้ ควบคู่ไปกับสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำกลุ่มแรกซึ่งเป็นเครื่องหมายของการเปลี่ยนผ่านของสัตว์มีกระดูกสันหลังจากน้ำสู่บก ถัดมาใน ยุคคาร์บอนิเฟอรัส (Carboniferous) ดาวเคราะห์ถูกครอบงำด้วยป่าเฟิร์นและพืชดึกดำบรรพ์อื่นๆ อันกว้างใหญ่ ซึ่งนำไปสู่การก่อตัวของแหล่งถ่านหินที่กว้างขวางจากการทับถมของซากพืช อีกทั้งยังได้เห็นวิวัฒนาการของแมลงและการครอบงำของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำบนบกอีกด้วย  

ในยุคเพอร์เมียน (Permian) มีความหลากหลายของสัตว์เลื้อยคลานและการปรากฏตัวครั้งแรกของ ซีแนปซิด (Synapsids) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ก่อให้เกิดสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลานี้จบลงด้วยเหตุการณ์การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ (Mass extinction) ที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลก นั่นคือเหตุการณ์การสูญพันธุ์แบบเพอร์เมียน-ไทรแอสซิก (Permian–Triassic extinction event) ซึ่งกวาดล้างประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ของสิ่งมีชีวิตทั้งหมด 

22.40 น. ยุคของไดโนเสาร์ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น 

ในมหายุคมีโซโซอิก (Mesozoic Era) แบ่งออกเป็น 3 ยุค ได้แก่  ยุคไทรแอสซิก (Triassic)  เป็นช่วงที่มีการถือกำเนิดของไดโนเสาร์กลุ่มแรก ควบคู่ไปกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในยุคแรกๆ และบรรพบุรุษของนกสมัยใหม่ สัตว์ทะเลยังมีความหลากหลายด้วยการปรากฏตัวของกลุ่มปลาสมัยใหม่และสัตว์เลื้อยคลานทะเลกลุ่มแรก  

ยุคจูราสสิค (Jurassic) ถือเป็นยุคทองของไดโนเสาร์ ซึ่งพวกมันกลายเป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังที่มีความสำคัญบนบก การแตกตัวของ มหาทวีปแพนเจีย (Pangea) ออกเป็นทวีปเล็กๆ ทำให้เกิดแหล่งที่อยู่อาศัยที่หลากหลาย ตั้งแต่ป่าเขียวชอุ่มไปจนถึงทะเลทรายที่แห้งแล้ง ทำให้เกิดความหลากหลายของสายพันธุ์ไดโนเสาร์อย่างมาก พืชในช่วงเวลานี้ยังเห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญด้วยการแพร่กระจายของยิมโนสเปิร์ม (Gymnosperms) และการปรากฏตัวครั้งแรกของพืชดอก 

ในยุคครีเทเชียส (Cretaceous) นำมาซึ่งวิวัฒนาการและความหลากหลายของไดโนเสาร์ ควบคู่ไปกับการพัฒนาพันธุ์ไม้ดอก ซึ่งเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศบนบกและห่วงโซ่อาหารอย่างมาก อย่างไรก็ตาม การสิ้นสุดของยุคนี้ก็ได้มีเหตุการณ์การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่เกิดขึ้นอีก ซึ่งอาจเกิดจากการปะทุของภูเขาไฟและการชนของดาวเคราะห์น้อย เหตุการณ์นี้นำไปสู่การสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์และสายพันธุ์อื่นๆ อีกมากมาย ปูทางให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกลายเป็นสัตว์บกที่โดดเด่น  

รัชสมัยของไดโนเสาร์ต้องเผชิญกับจุดจบอย่างกะทันหันและหายนะ เหตุการณ์การสูญพันธุ์ยุคครีเทเชียส-พาลิโอจีน (Cretaceous–Paleogene extinction event)  ถือเป็นการสิ้นสุดของมหายุคมีโซโซอิก และการสิ้นสุดการครอบงำของไดโนเสาร์ หลักฐานแสดงให้เห็นว่าการรวมกันของการปะทุของภูเขาไฟ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบของดาวเคราะห์น้อยหรือดาวหางขนาดใหญ่ใกล้กับคาบสมุทรยูกาตัน (Yucatán Peninsula) ในเม็กซิโกมีส่วนทำให้เกิดเหตุการณ์การสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์ประมาณสามในสี่ของโลก 

23:40 น. ยุคของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 

เป็นการถือกำเนิดขึ้นของ มหายุคซีโนโซอิก (Cenozoic Era) ซึ่งดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในชีวมณฑลของโลก โดยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้เพิ่มขึ้นเพื่อครองผืนดิน ทะเล และอากาศ ในช่วงเวลาสุญญากาศที่เหลือจากการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์ 

ในยุคนี้มีลักษณะเฉพาะคือการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศที่น่าทึ่ง การก่อตัวของทวีปสมัยใหม่ และวิวัฒนาการของรูปแบบสิ่งมีชีวิตที่หล่อหลอมโลกดังที่เรารู้จักในปัจจุบัน ยุคพาลีโอจีน (Paleogene) ภูมิอากาศของโลกในตอนแรกจะอบอุ่นและชื้น ส่งผลให้มีป่าเขียวชอุ่มที่ทอดยาวตั้งแต่ขั้วโลกไปจนถึงเส้นศูนย์สูตร 

อย่างไรก็ตาม เมื่อยุคสมัยดำเนินไป เหตุการณ์การระบายความร้อนที่สำคัญนำไปสู่การพัฒนาทุ่งหญ้าและความเสื่อมโทรมของป่าเขตร้อน ผลักดันให้เกิดการปรับตัวเชิงวิวัฒนาการในอาหารของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและการเคลื่อนย้าย 

23:58:45 น. กำเนิดบรรพบุรุษมนุษย์ 

ยุคสมัยนีโอจีน (Neogene) โลกจะได้เห็นการขยายตัวของทุ่งหญ้า ซึ่งได้รับแรงหนุนจากสภาพอากาศโลกที่เย็นลงและทำให้แห้งมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมนี้เอื้อต่อวิวัฒนาการของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทุ่งหญ้า เช่น ม้า วัว และ แอนทิโลป ซึ่งปรับตัวให้เข้ากับภูมิประเทศที่เปิดโล่งด้วยฟันพิเศษและระบบย่อยอาหาร สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่กินเนื้อก็มีวิวัฒนาการเช่นกัน โดยแมว สุนัข และหมีมีความโดดเด่นมากขึ้น 

อีกทั้งยังปรากฏ วิวัฒนาการของโฮมินิดส์ (Hominids) ซึ่งเป็นบรรพบุรุษโดยตรงของมนุษย์ในปัจจุบันอีกด้วย โดยเริ่มปรากฏครั้งแรกจากหลักฐานที่พบในแอฟริกา โดยมีลักษณะสองเท้าที่ช่วยให้สามารถเดินทางข้ามทุ่งหญ้าสะวันนาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นซึ่งเปลี่ยนแปลงวิถีการวิวัฒนาการของมนุษย์ 

การก่อกำเนิดของ ยุคควอเทอร์นารี (Quaternary) ซึ่งเป็นยุคน้ำแข็งที่ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานและการวิวัฒนาการครั้งสำคัญของมนุษย์มาจนถึงปัจจุบัน มีผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อภูมิอากาศของโลกและสิ่งมีชีวิต วัฏจักรของการแช่แข็งและการละลายเหล่านี้หล่อหลอมภูมิทัศน์ สร้างแหล่งที่อยู่อาศัยใหม่ และขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงวิวัฒนาการของพืชและสัตว์ 

ในช่วงเวลานี้ก็เกิดการวิวฒนาการของบรรพบุรุสายพันธุ์เดียวกับเราอย่าง โฮโมเซเปียนส์ (Homo sapiens) ซึ่งแปลว่า ผู้ทรงปัญญา เป็นมนุษย์ยุคใหม่ที่วิวัฒนาการทางด้าน การพัฒนาเครื่องมือ ภาษา และโครงสร้างทางสังคมที่ซับซ้อนทำให้สายพันธุ์นี้สามารถแพร่กระจายไปทั่วโลก และปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย  

หลังเวลา 23.59 น. มนุษย์เรียนรู้การทำเกษตร 

มีการปฏิวัติเกษตรกรรมเกิดขึ้น การเปลี่ยนแปลงจากสังคมนักล่าและคนเก็บของเร่ร่อนไปสู่ชุมชนเกษตรกรรมที่ตั้งถิ่นฐานนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของผลกระทบที่สำคัญต่อมนุษย์บนโลก เกษตรกรรมเอื้อต่อการเติบโตของจำนวนประชากร การพัฒนาเมือง และการเจริญรุ่งเรืองของอารยธรรม 

อย่างไรก็ตาม ยังนำไปสู่การตัดไม้ทำลายป่า ความเสื่อมโทรมของดิน และการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญครั้งแรกของโลกธรรมชาติด้วยมือของมนุษย์  

เกิดการปฎิวัติอุตสาหกรรม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการผลิต การขนส่ง และการสื่อสารนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ กลายเป็นแหล่งพลังงานที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนี้ ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และการเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยมนุษย์ 

จนถึงกลางศตวรรษที่ 20 ได้มีเหตุการณ์ที่เรียกว่า “การเร่งความเร็วครั้งใหญ่” (The Great Acceleration)  ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการเติบโตแบบทวีคูณของจำนวนประชากรมนุษย์ การใช้ทรัพยากร และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยียังคงเปลี่ยนแปลงสังคมมนุษย์ต่อไป แต่ยังนำไปสู่การทำลายแหล่งที่อยู่อาศัย การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ มลพิษ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด 

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีความสำคัญมากจนนักวิทยาศาสตร์หลายคนโต้แย้งว่าเป็นจุดเริ่มต้นของยุคใหม่ทางธรณีวิทยา นั่นคือ แอนโทรโปซีน (Anthropocene) มนุษย์ได้กลายเป็นสปีชีส์ที่สร้างผลกระทบให้กับโลกมากที่สุด เราทำให้ ‘ภาวะโลกร้อน’ เกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ต่อพื้นดิน น้ำ สิ่งมีชีวิต สิ่งแวดล้อมและชั้นบรรยากาศ 

เมื่อเราเขาสู่วินาทีสุดท้ายของการเดินทางผ่านม่านประวัติศาสตร์การก่อกำเนิดของโลกใน 24 ชั่วโมงนี้ มนุษยชาติก็ยืนอยู่บนทางแยก การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากสายพันธุ์ของเราได้คุกคามเสถียรภาพของระบบดาวเคราะห์ที่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิต การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมก่อให้เกิดความเสี่ยงยงต่อการสูญพันธุ์ที่มีอยู่ไม่เพียงแต่ต่อสายพันธุ์อื่น ๆ นับไม่ถ้วนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงตัวเราเองอีกด้วย 

โดยสรุปแล้วนั้น การเดินทางแห่งจินตนาการนี้ผ่านประวัติศาสตร์ 4.5 พันล้านปีของโลกที่อธิบายเส้นเวลาให้รวบรัดออกมาภายใน 24 ชั่วโมงนั้นเราได้เรียนรู้ตั้งแต่การก่อตัวของดาวเคราะห์ที่ลุกเป็นไฟในช่วงเช้าตรู่ ไปจนถึงรุ่งอรุณของชีวิตในมหาสมุทรโบราณ ข้ามยุคสมัยของความหลากหลายทางชีวภาพอันเหลือเชื่อ และการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ การเพิ่มขึ้นของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และผลกระทบอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนจากน้ำมือของมนุษย์ 

เราจึงมีความจำเป็นต้องตระหนักถึงผลกระทบที่ตามมา และทำงานเพื่อหาแนวทางแก้ไขในแนวทางของการยกย่องสายใยแห่งชีวิตอันซับซ้อนซึ่งมีวิวัฒนาการมาเป็นเวลาหลายพันล้านปี ด้วยการทำความเข้าใจตำแหน่งของเราที่ปรากฏเพียงไม่กี่นาทีในประวัติศาสตร์อันยาวนานของโลกใบนี้ เพื่อที่จะจะสามารถชื่นชมความล้ำค่าของช่วงเวลาปัจจุบันและบทบาทของเราในการกำหนดอนาคตได้ดีขึ้น 

อ้างอิง  

ผู้เขียน

+ posts

ชายหนุ่มผู้หลงไหลในกาแฟไม่ใส่น้ำตาล รักการเดินทางไปกับสินค้าของแบรนด์ Patagonia