รู้หรือไม่? ‘แร้ง’ วางไข่ครั้งละหนึ่งฟอง

รู้หรือไม่? ‘แร้ง’ วางไข่ครั้งละหนึ่งฟอง

‘แร้ง’ เป็นสัตว์กินซาก หรือเทศบาลประจำผืนป่า และจัดอยู่ในกลุ่มของนกขนาดใหญ่ แต่ขนาดตัวที่ใหญ่ของมัน กลับแปรผกผันกับจำนวนไข่ที่วาง หรือสรุปสั้น ๆ ได้ว่า แร้งจะวางไข่เพียง 1 ฟอง ในหนึ่งรังเท่านั้น!

โดยทั่วไปของนกสามารถวางไข่ได้ครั้งละหลายฟอง ขึ้นอยู่กับชนิดพันธุ์ และปัจจัยสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ที่แตกต่างกันออกไป แต่นกในกลุ่มแร้งนั้น จะวางไข่เพียงแค่ 1 คลัตช์ (clutch คือจำนวนไข่ทั้งหมดที่นกวางไข่ต่อการทำรังแต่ละครั้ง) ทำรังง่าย ๆ บนต้นไม้ และใช้เวลาประมาณ 40-60 วัน ในการฟักไข่ ขึ้นอยู่กับชนิดแร้ง บางครั้งสามารถพบไข่ของแร้งได้ถึง 2 คลัตช์ แต่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้ไม่บ่อยนัก

นกชนิดอื่นมีวิวัฒนาการให้วางไข่ได้หลายฟอง เนื่องจากต้องการเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของลูกนก และเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ รักษาพันธุกรรมที่แข็งแกร่งของชนิดพันธุ์ตัวเองไว้ แต่การที่แร้งมีวิวัฒนาการให้วางไข่เพียง 1 คลัตช์ อาจจะปลอดภัยมากกว่า เนื่องจากแร้งเป็นสัตว์กินซาก ซากสัตว์ที่มีก็มีอยู่อย่างจำกัด ต้องรอเวลาเท่านั้น แร้งจึงต้องแข่งขันกันเพื่อหาอาหาร การที่สามารถควบคุมจำนวนประชากรให้เพียงพอต่ออาหารได้ ก็จะลดการต่อสู้ และลดการแก่งแย่งทรัพยากร

นอกจากประชากรแร้งเดิมจะได้ประโยชน์จากการลดการแข่งขันแล้ว ยังช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของลูกนกที่เกิดใหม่ด้วย เพราะการที่มีลูกนกในรังหลายตัว อาจจะเป็นจุดสนใจของนักล่า แร้งที่มีลูกนกเพียงตัวเดียวในรัง สามารถช่วยลดโอกาสที่ลูกนกจะถูกนักล่าจับกินได้

ไม่เพียงเท่านี้ ในช่วงแรกเกิด ลูกนกต้องการอาหารในปริมาณมาก และต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะบินได้พ่อแม่แร้งจึงต้องใช้ทั้งเวลาและพลังงานในการดูแลลูกนก การวางไข่เพียงฟองเดียว ช่วยให้แร้งมีทรัพยากร เพียงพอที่จะเลี้ยงดูลูกนกให้รอด และสามารถช่วยให้พ่อแม่แร้งมีพลังงานเพียงพอที่จะดูแลลูกนกจนโตได้

รวมถึง แร้งบางชนิดอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้ง ทำให้อาหารและน้ำมีอย่างจำกัด การวางไข่เพียงฟองเดียว ทำให้พวกมันสามารถอยู่รอดพ้นในสภาพแวดล้อมแบบนี้ต่อไปได้

จากเหตุการณ์ ‘พญาแร้งฝูงสุดท้าย ถูกวางยาตายยกฝูง จากเหตุการณ์พรานวางยาเนื้อเก้งเพื่อหวังให้เสือโคร่งมากิน ณ ป่าห้วยขาแข้ง’ เมื่อ 32 ปีก่อน จากการแทรกแซงของ ‘มนุษย์’ ครั้งนั้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นของงานอนุรักษ์ และโครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้ง ให้กลับมาโบยบินเหนือผืนป่าอีกครั้ง

การฟื้นฟูประชากรพญาแร้ง ถือเป็นโจทย์ที่ยากและเป็นงานที่ท้าทายของนักอนุรักษ์ ‘การทำให้สัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วจากธรรมชาติกลับคืนมา ยากยิ่งกว่าการทำให้มันหายไปหลายเท่าตัว’ ต้องเพิ่มการดูแล เฝ้าระวัง และติดตามพฤติกรรมอย่างสม่ำเสมอ 

เพราะการที่แร้งและพญาแร้งวางไข่เพียง 1 ฟองต่อฤดูผสมพันธุ์ อัตราการผสมพันธุ์ต่ำ ก็ยิ่งทำให้แนวโน้มของประชากรพญาแร้งฟื้นตัวได้ช้าลง รวมถึงพ่อแม่พันธุ์ที่มีจำนวนน้อย ก็จะยิ่งลดอัตราการจับคู่ผสมพันธุ์ สัตว์กลุ่มแร้งมีความอ่อนไหว ถ้าปัจจัยไม่เอื้ออำนวย แร้งก็จะไม่ผสมพันธุ์ ยิ่งทำให้การฟื้นฟูประชากรยากขึ้นเป็นทวีคูณ

นอกจากการเฝ้าติดตามประชากรแล้ว ยังคงต้องทำงานควบคู่ไปกับการทำวิจัย จัดทำฐานข้อมูลวิชาการ รวมถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจ และสร้างความตระหนักรู้ในการอนุรักษ์แร้งและพญาแร้งต่อสาธารณชน

อ้างอิง

ผู้เขียน

+ posts

สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว