ไม่มีใครต้องการ ‘เขี้ยวพะยูน’ เท่าพะยูนอีกแล้ว เมื่อความเชื่อสวนทางกับการอนุรักษ์ จะทำอย่างไรให้คุณค่าของสัตว์อยู่เหนือความเชื่อผิดๆ

ไม่มีใครต้องการ ‘เขี้ยวพะยูน’ เท่าพะยูนอีกแล้ว เมื่อความเชื่อสวนทางกับการอนุรักษ์ จะทำอย่างไรให้คุณค่าของสัตว์อยู่เหนือความเชื่อผิดๆ

ถ้าต้องทำลายสิ่งหนึ่งเพียงเพราะเชื่อว่าสิ่งนั้นจะทำให้ชีวิตเราดีขึ้น มันคือความเชื่อที่ถูกต้องจริงหรือ? ขนาดเจ้าของยังไม่สามารถรักษาชีวิตตัวเองได้เลย แล้วของสิ่งนั้นจะปกป้องชีวิตคนอื่นได้อย่างไร

ทำไมสัตว์ที่มีวิวัฒนาการสูงสุดอย่างมนุษย์บางคนถึงมักคิดว่าตัวเองอยู่เหนือกว่าสัตว์ชนิดอื่น ๆ เพียงเพราะพวกเขาพูดไม่ได้ เลยไม่สามารถแก้ต่างหรือปกป้องตัวเองได้ บางครั้งมนุษย์ก็มักทำอะไรตามใจชอบ เพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเอง โดยไม่สนใจความรู้สึกของผู้อื่นและความถูกต้องใด ๆ ทั้งสิ้น

ไม่เว้นแม้แต่ ‘พะยูน’ แม้ประชากรจะอยู่ในขั้นวิกฤต พบซากพะยูนเกยตื้นตายอย่างต่อเนื่อง แต่กลับมีคนบางจำพวกซ้ำเติมด้วยการตัดหัวเพื่อเอา ‘เขี้ยว’ จากความไม่รู้และความเชื่อผิด ๆ ที่สืบต่อกันมา วันนี้แอดมินชวนมาทำความรู้จักกับเขี้ยวพะยูนว่าคืออะไรและมีความสำคัญอย่างไร? และเหตุผลว่าทำไมการครอบครองเขี้ยวพะยูนถึงเป็นความเชื่อที่ผิด

ฟันเขี้ยวหรืองาพะยูน (Tusk) เป็นฟันคู่หน้าของขากรรไกรบน สามารถพบได้ในพะยูนตัวเต็มวัยเท่านั้น โดยเฉพาะตัวผู้ที่จะมีลักษณะของฟันเขี้ยวที่เห็นได้ชัดเจน ส่วนในตัวเมียนั้นฟันเขี้ยวอาจไม่โผล่ออกมาหรือมีขนาดเล็กมากจนแทบมองไม่เห็น

แม้พะยูนจะไม่ใช้ฟันเขี้ยวในการเคี้ยวอาหาร เนื่องจากพะยูนเป็นสัตว์กินพืชที่ใช้ริมฝีปาก (Upper horny plate) ซึ่งเป็นแผ่นแข็ง ๆ ช่วยงับและใช้ฟันกรามช่วยบดหญ้าทะเลและพืชอาหาร แต่ฟันเขี้ยวก็มีความสำคัญอย่างมากในการทำนายอายุของพะยูน 

เมื่อพะยูนตัวผู้เข้าสู่ช่วงตัวเต็มวัย อายุประมาณ 13 ถึง 14 ปี จะพบลักษณะของฟันเขี้ยวที่ยาวยื่นออกมาให้เห็นชัดเจน โดยภายในเนื้อฟันจะมีชั้นของการเจริญเติบโตซ้อนทับกัน ลักษณะคล้ายกับวงปีในต้นไม้ ซึ่ง 1 ชั้นเนื้อฟัน = พะยูนอายุ 1 ปี ดังนั้นลักษณะการเจริญเติบโตของเนื้อฟันจึงสามารถบ่งบอกถึงอายุของพะยูนได้

และยิ่งไปกว่านั้น เขี้ยวพะยูนถือเป็นลักษณะเด่นที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของความเป็นตัวผู้ที่มีต่อตัวเมียในช่วงฤดูผสมพันธุ์ เพิ่มอัตราการจับคู่ การขยายพันธุ์ และนำมาซึ่งความสามารถในการรักษาพันธุกรรมและดำรงเผ่าพันธุ์ของตัวเองไว้ได้

พะยูนที่มีตำแหน่งเป็นถึงตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง แต่ด้วยสถานการณ์วิกฤตที่พะยูนได้เผชิญอยู่ในปัจจุบัน ทั้งถิ่นอาศัยลดลง หญ้าทะเลหายเกลี้ยง และต้องต่อสู้กับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว หากเขี้ยวพะยูนมีคุณวิเศษจริง ก็ควรปกป้องให้พะยูนมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่านี้มิใช่หรือ ไม่ใช่ปล่อยให้พะยูนต้องเผชิญกับสถานการณ์อันโหดร้ายเช่นนี้ 

ความเชื่อ แม้บางครั้งอาจไม่ได้อยู่บนฐานของความจริงหรือความถูกต้องตามหลักเหตุและผลที่ควรจะเป็น แต่อย่างน้อยความเชื่อเหล่านั้นต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นจากการกระทำของตนเอง และหากมองให้ลึกลงไปถ้าการที่เราเชื่อว่าเขี้ยวพะยูนเป็นเครื่องรางของขลังได้จริง เหตุใดพะยูนถึงเกยตื้นตายและถูกซ้ำเติมด้วยการโดนตัดหัวได้ง่ายดายขนาดนี้ ตามที่ได้ปรากฏในข่าวและสื่อต่าง ๆ

หากความเชื่อเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก อย่างน้อยความจริงที่ว่า ‘พะยูนเป็นสัตว์ป่าสงวน’ ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 29 ‘ห้ามมิให้ผู้ใดค้าสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากสัตว์ป่าดังกล่าวหรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าดังกล่าว ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 29 มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 89 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ถึง 15 ปีหรือปรับตั้งแต่ 300,000 ถึง 1,500,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ’ คงเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับ ผู้ที่ทำผิดกฎหมายก็ควรที่จะได้รับผลของการกระทำ ทั้งทางโลกและทางธรรม

ท้ายที่สุด หากไม่เชื่อในกฎหมาย กฎแห่งกรรมก็น่าจะเป็นคำตอบ เพราะใครที่ทำอะไรไว้ก็ย่อมได้รับผลของการกระทำนั้นเสมอ เตรียมตัวไว้ได้เลย

อ้างอิง

ผู้เขียน

+ posts

สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว