‘พะยูนไทยยังวิกฤต’ จะเกิดอะไรขึ้น? เมื่อหญ้าทะเลตายและระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งกำลังจะพัง

‘พะยูนไทยยังวิกฤต’ จะเกิดอะไรขึ้น? เมื่อหญ้าทะเลตายและระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งกำลังจะพัง

‘ระยะเวลาเพียงแค่ 1 เดือน พบซากพะยูนเกยตื้นกว่า 9 ตัว’ 
‘ในเวลาไม่ถึง 1 ปี มีพะยูนเกยตื้นตายไปแล้วถึง 32 ตัว’
‘และคาดว่าปีนี้ พะยูนจะเกยตื้นตายมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาถึง 3 เท่า!’

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พะยูนไทยถือว่าอยู่ในภาวะวิกฤตอย่างรุนแรง และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งในเดือนตุลาคมเพียงเดือนเดียว มีรายงานการพบซากพะยูนเกยตื้นกว่า 9 ตัว แบ่งเป็น จังหวัดภูเก็ต 3 ตัว จังหวัดสตูล 3 ตัว จังหวัดตรัง 2 ตัว และจังหวัดกระบี่ 1 ตัว 

ทีมสัตวแพทย์ สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ทำการชันสูตรเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้พะยูนเกยตื้นตาย พบว่า ซากที่เป็นซากสดและสามารถชี้ให้เห็นถึงสาเหตุการตายได้มีเพียง 4 ตัว 3 ใน 4 ตัวนี้ มีสาเหตุมาจากการขาดสารอาหารและเกิดอาการป่วย และอีก 1 ตัว เกิดจากการติดอวนเครื่องมือของชาวประมง

เมื่อปี 2565 มีการสำรวจประชากรพะยูน พบว่ามีอยู่ประมาณ 273 ตัว โดยพื้นที่ฝั่งอ่าวไทยพบ 31 ตัว และพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามันพบ 242 ตัว และแม้จะยังไม่ครบ 1 ปี แต่ในระยะเวลา 9 เดือนนี้ พบพะยูนเกยตื้นตายไปแล้วถึง 32 ตัว และปีนี้แนวโน้มการเกยตื้นตายจะสูงเกินค่าเฉลี่ยต่อปี ถึง 3 เท่า ทำให้ในปัจจุบันคาดว่าเหลือพะยูนในฝั่งอันดามันไม่ถึง 120 ตัว ลดลงเกือบครึ่งในระยะเวลาเพียง 5 ปี เท่านั้น

ตัวเลขเหล่านี้บอกอะไร?

ชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์พะยูนไทยที่ถือว่าอยู่ในภาวะวิกฤต และสาเหตุการตายส่วนใหญ่เกิดจากการขาดสารอาหาร เนื่องจากแหล่งอาหารหลักของพะยูน คือ หญ้าทะเล กำลังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง การหายไปของหญ้าทะเลไม่เพียงแต่ส่งผลต่อพะยูนเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งอีกด้วย

‘หญ้าทะเล’ ถือเป็นแหล่งอาหารและถิ่นอาศัยของสัตว์ทะเลหลายชนิด โดยเฉพาะพะยูนที่ต้องพึ่งพาหญ้าทะเลในการดำรงชีวิต แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งที่ไม่เหมาะสม รวมถึงมลพิษจากน้ำเสีย ทำให้หญ้าทะเลหลายพื้นที่เสื่อมโทรมและตายไป ส่งผลให้พะยูนขาดอาหาร ป่วย และเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ในอนาคต

เมื่อหญ้าทะเลตาย ระบบนิเวศจะไม่สมดุล เพราะหญ้าทะเลมีบทบาทสำคัญในการกรองน้ำ ลดการกัดเซาะชายฝั่ง และสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับสัตว์ทะเล การสูญเสียหญ้าทะเลทำให้ระบบนิเวศนี้พังทลาย เกิดผลกระทบเป็นห่วงโซ่ต่อระบบนิเวศ ทำให้สิ่งมีชีวิตที่พึ่งพาระบบนี้ เช่น พะยูน หอยชักตีน เต่าทะเล และสัตว์น้ำอื่น ๆ เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ออกมาให้ข้อมูลและได้มีมาตรการรับมือในการอนุรักษ์ โดยการเร่งสำรวจประชากรพะยูน การแพร่กระจาย และการสัมภาษณ์ประชาชนในพื้นที่ มีแผนช่วยเหลือพะยูนเกยตื้นมีชีวิต โดยผู้นำชุมชนจะเข้าร่วมอบรมการกู้ชีพพะยูนกับเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิตของพะยูน ศึกษาอาหารทดแทนหญ้าทะเล เช่น สาหร่ายทะเล เพื่อทดแทนแหล่งหญ้าทะเลที่เสื่อมโทรม มีการกำหนดนโยบายและแผนฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน

รวมถึงได้ขอความร่วมมือจากชุมชนชายฝั่งไม่ทำประมงในพื้นที่คุ้มครอง หรือพื้นที่แหล่งหญ้าทะเล เน้นย้ำไปยังผู้ประกอบการนำเที่ยว ประชาชน และนักท่องเที่ยวให้ช่วยกันประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ การมีส่วนร่วม ในการอนุรักษ์พะยูน รวมถึงประมงชายฝั่งให้งดเดินเรือในแหล่งหญ้าทะเล หากจำเป็นต้องเดินเรือผ่านแนวเขตหญ้าทะเล หรือพื้นที่เสี่ยงในการอพยพเคลื่อนย้ายพะยูน ให้ใช้ความเร็วตามที่กำหนด เพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพของชุมชนชายฝั่งควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ต่อไปอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม หากพบเจอพะยูนเกยตื้นให้รีบแจ้งไปยังหน่วยงานของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หรือโทร. 1362 ติดต่อสายด่วนพิทักษ์ป่าและรักษาทะเล ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่เข้าตรวจสอบและช่วยเหลือพะยูนได้ทันท่วงที

การอนุรักษ์และฟื้นฟูหญ้าทะเลเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง รวมถึงการจัดการปัญหามลพิษและควบคุมการใช้พื้นที่ชายฝั่งอย่างยั่งยืน หากมองเห็นความสำคัญของทรัพยากรทางทะเล และยังมีการอนุรักษ์อย่างต่อเนื่อง เราอาจยังมีโอกาสเห็นพะยูนอยู่ในน่านน้ำไทย และคงความสมบูรณ์ของระบบนิเวศแห่งนี้ต่อไปได้

อ้างอิง

ผู้เขียน

+ posts

สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว