‘คุณแฟลช กะปิปลาร้า และหมูเด้ง’ ว่าด้วยเรื่องการสร้างการรับรู้สู่การอนุรักษ์สัตว์ป่า จะทำอย่างไรให้เขารัก แม้ในวันที่เราไม่น่ารักก็ตาม

‘คุณแฟลช กะปิปลาร้า และหมูเด้ง’ ว่าด้วยเรื่องการสร้างการรับรู้สู่การอนุรักษ์สัตว์ป่า จะทำอย่างไรให้เขารัก แม้ในวันที่เราไม่น่ารักก็ตาม

ตัวนี้น่ารักจังไปเล่นด้วยดีกว่า ตัวนั้นไม่น่ารักเลยไม่ต้องไปสนใจหรอก

เคยไหมที่รู้สึกเอ็นดูสัตว์ที่หน้าตาจะไม่น่ารัก แต่พอดู ๆ ไปรู้สึกหลงรักซะงั้น ทั้งที่บางชนิดจะมีหน้าตาแปลกประหลาดหรือออกแนวดุร้ายด้วยซ้ำ แต่กลับมีบางมุมที่ซุกซนจนน่าเอ็นดูหรือดูเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเหลือเกิน ทำให้ผู้คนตกหลุมรัก เป็นที่รู้จัก และหันมาสนใจกันมากขึ้น

ในทางกลับกันถ้าสัตว์ชนิดนั้นมีหน้าตาและพฤติกรรมที่ไม่น่ารัก แม้จะเป็นนิสัยตามธรรมชาติก็ตาม เราจะยังให้ความสนใจกับสัตว์เหล่านั้นหรือไม่ วันนี้แอดมินชวนมาทำความเข้าใจว่าทัศนคติที่เรามีต่อสัตว์ป่า ส่งผลต่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าได้อย่างไร?

หากย้อนกลับไปก่อนที่เราจะรักหรือไม่รักอะไรสักอย่าง จุดเริ่มต้นต้องมาจากการ ‘รู้จัก’ สิ่งนั้นเสียก่อน การสร้างการรับรู้ (Awareness) จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้คนสนใจและเลือกวิธีที่จะปฏิบัติต่อสิ่งนั้น

ในกรณีของคุณแฟลช กะปิปลาร้า หมูเด้ง หรือสัตว์ตัวอื่น ๆ ที่ปรากฎในสื่อออนไลน์ จะเห็นว่าหน้าตาของสัตว์แต่ละชนิดจะดูไม่เป็นมิตรสักเท่าไหร่ แต่พฤติกรรมที่แสดงออกมากลับตรงข้ามกับบุคลิกอันมาดเข้ม หรือบางตัวก็มีท่าทางน่าตลกชวนให้เอ็นดู บางตัวก็ดูใสซื่อจนทำให้คนที่เห็นโดนตกเข้าเต็ม ๆ ความรู้สึกเหล่านี้นำพาให้เกิดทัศนคติเชิงบวก (Positive Attitude) ที่มีต่อสัตว์ขึ้นมา

พฤติกรรมสัตว์ในสวนสัตว์อาจแตกต่างจากพฤติกรรมของสัตว์ป่าเนื่องด้วยหลายปัจจัย ทั้งอาหาร ถิ่นอาศัย การแข่งขัน อัตราการรอดชีวิต หรือสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดที่ทำให้สัตว์ในสวนสัตว์แสดงพฤติกรรมเช่นนั้น แต่ถือว่าสิ่งที่เจ้าหน้าที่สื่อสารออกมาผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้สร้างการรับรู้ให้สัตว์ในสวนสัตว์เป็นที่รู้จักต่อสาธารณชน

รวมถึงการจัดกิจกรรมอย่างการตั้งชื่อสัตว์ที่เพิ่งเกิดใหม่ ให้ผู้คนได้มีส่วนร่วมในการตั้งชื่อ มีความรู้สึกเหมือนได้เป็นผู้ปกครองของสัตว์ตัวนั้น การตั้งชื่อน่ารักและเป็นกันเองก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้สัตว์ดูเข้าถึงง่าย ในขณะเดียวกันก็เป็นการประชาสัมพันธ์สมาชิกใหม่ที่เกิดขึ้นในสวนสัตว์ให้รับรู้กันมากขึ้น

ในทางกลับกันหากสัตว์บางชนิดมีทั้งหน้าตาที่ไม่น่ารักแถมพฤติกรรมก็ไม่น่าดึงดูดให้ใส่ใจ สิ่งที่เป็นตัวตัดสินใจว่าเราจะรักหรือไม่รัก สนใจหรือไม่สนใจ นั่นคือทัศนคติที่เรามีต่อสัตว์ชนิดนั้น โดยเฉพาะทัศนคติที่ส่งผลต่อการอนุรักษ์สัตว์ป่า

จากงานวิจัยความสวยงามของสัตว์ป่าต่อทัศนคติในการอนุรักษ์สัตว์ป่าในชุมชนเกษตรกรรมและปศุสัตว์ ประเทศเคนยา โดยใช้วิธีการสัมภาษณ์ พบว่าลักษณะทางกายภาพของสัตว์ป่าส่งผลต่อการอนุรักษ์ ผู้คนที่มองว่าสัตว์ป่าที่มีความสวยงามมีแนวโน้มที่จะสนใจและอนุรักษ์มากขึ้น ในขณะที่สัตว์ป่าที่ผู้คนมองว่าไม่สวยงามมักจะไม่ถูกสนใจ ไม่ได้รับการอนุรักษ์เท่าที่ควร และเกิดความขัดแย้งในพื้นที่ แต่เมื่อผู้คนได้รับรู้ถึงคุณค่าและการมีอยู่ของสัตว์ป่าชนิดนั้น กลับมีทัศนคติเป็นไปในเชิงบวกเพิ่มมากขึ้น

นั่นคือทัศนคติส่งผลต่อการอนุรักษ์สัตว์ป่า ถึงแม้สัตว์ป่าบางชนิดจะมีลักษณะทางกายภาพที่ไม่น่าสนใจ แต่หากผู้คนเข้าใจและเห็นถึงคุณค่าของการมีอยู่ของสัตว์ป่าในพื้นที่ ก็มีแนวโน้มที่จะกลับมามีทัศนคติที่ดีต่อตัวสัตว์ป่าได้ เกิดความตระหนักและนำมาสู่การอนุรักษ์ในอนาคต

ดังนั้นการเห็นถึงความสำคัญและปรับเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อสัตว์ป่าโดยเฉพาะคนในท้องถิ่น เป็นสิ่งสำคัญในการส่งเสริมการอนุรักษ์ และการจัดการความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่าอย่างมีประสิทธิภาพ

ตัวอย่างเช่น ‘โครงการพญาแร้งคืนถิ่น’ นอกจากเป็นต้นแบบในการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในพื้นที่ธรรมชาติแล้ว ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจกับชุมชนในพื้นที่และสาธารณชน โดยการเรียนรู้จากทัศนคติของชุมชน

ด้วยลักษณะภายนอกของแร้งที่มีขนาดใหญ่ หัวโล้น จงอยปากแหลม ลำตัวสีเข้ม และมีพฤติกรรมการกินซากเป็นอาหาร ภาพจำของแร้งถือว่าค่อนข้างติดลบและไม่เป็นที่สนใจ โจทย์นี้จึงเป็นความท้าทายและเป็นสารตั้งต้นที่สำคัญที่จะสื่อสารให้ผู้คนหันมารักษ์พญาแร้ง แม้พญาแร้งจะไม่น่ารักตามความคาดหวังของเราก็ตาม

เริ่มตั้งแต่การสร้างการรับรู้ ผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ พาไปรู้จักแร้งแต่ละชนิด หน้าที่ของแร้งในระบบนิเวศ และหากโลกนี้ไม่มีแร้งจะเกิดอะไรขึ้น ผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ นิทรรศการตามงานต่าง ๆ รวมถึงเวทีเสวนาวิชาการ มีการสร้างคาแรคเตอร์ (Mascot) ให้มีลักษณะน่ารัก เข้าถึงได้ เป็นสัญลักษณ์ตัวแทนพญาแร้งในธรรมชาติ

มีผลิตสินค้าของที่ระลึก อาทิ เสื้อยืด สติกเกอร์ กระเป๋า รวมถึงโมเดลแร้ง เพื่อให้ผู้คนมีทัศนคติที่ดีขึ้นและเห็นความสำคัญของแร้งอย่างแท้จริง เรื่องราวและกิจกรรมทั้งหมดจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้คนอยากมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ พร้อมที่จะสนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์พญาแร้งเพิ่มมากขึ้น

ท้ายที่สุด ไม่ว่าสัตว์ชนิดนั้นจะมีหน้าตาน่ารักหรือไม่น่ารักก็ตาม จะมีพฤติกรรมที่อ่อนโยนหรือเป็นไปตามสัญชาตญาณและวิวัฒนาการของสัตว์ป่าก็ดี ทุกชีวิตต่างมีคุณค่า มีหน้าที่ และความสำคัญเท่าเทียมกัน อย่าให้ลักษณะภายนอกเป็นเพียงตัวตัดสินทั้งหมด แต่ขอให้มองลงไปถึงก้นบึ้งภายในจิตใจ

อ้างอิง

ผู้เขียน

+ posts

สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว