วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก อีกหนึ่งพื้นที่ที่มีความหลากหลายของระบบนิเวศมากที่สุด

วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก อีกหนึ่งพื้นที่ที่มีความหลากหลายของระบบนิเวศมากที่สุด

‘วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก’ (World Wetlands Day) ตรงกับวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ซึ่งปีนี้อยู่ภายใต้แนวคิด ‘พื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ (Wetlands and Human Wellbeing)’ เน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการเพื่อรักษาและฟื้นฟูระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นรากฐานของความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2514 ได้มีการลงนามอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ หรือ อนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) ณ เมืองแรมซาร์ ประเทศอิหร่าน นับแต่นั้น จึงถือเอาวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น ‘วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก (World Wetlands Day)’ ให้ตระหนักถึงการดูแล รักษาและสนับสนุน ฟื้นฟูระบบนิเวศที่มีคุณค่าของพวกเรา

พื้นที่ชุ่มน้ำคืออะไร ?

เป็นพื้นที่ที่ปกคลุมไปด้วยน้ำหรือชุ่มไปด้วยน้ำตามฤดูกาล อาจเกิดจากน้ำใต้ดินซึมขึ้นมาจากชั้นหิน หรืออาจมาจากแม่น้ำ ทะเล หรือทะเลสาบบริเวณใกล้เคียง เป็นได้ทั้งพื้นที่ชุ่มน้ำน้ำจืด พื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่ง และพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีทั้งระบบนิเวศน้ำจืดและชายฝั่งเข้าด้วยกัน ทั้งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และมนุษย์สร้างขึ้น เมื่อระดับน้ำลดลงต่ำสุดต้องมีความลึกไม่เกิน 6 เมตร ถือเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุด

และเป็นแหล่งอาศัยที่สำคัญของพืชและสัตว์นานาชนิด พื้นที่ทำรังวางไข่ แหล่งเพาะพันธุ์และอนุบาลสัตว์น้ำ อีกทั้งยังเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ ป้องกันน้ำท่วม ลดการพังทลายหน้าดิน ช่วยควบคุมการไหลเวียนของน้ำไปยังแหล่งน้ำใต้ดิน และคงความสมดุลของทรัพยากรทางชีวภาพไว้

รวมถึงเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ และเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศอย่าง นก นาก แมวดาว และสัตว์ป่าที่มีพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นบ้านหลังแรกและหลังเดียวเท่านั้นอย่าง ‘เสือปลา’

ปัจจุบันทั่วโลกมีพื้นที่ชุ่มน้ำรวมกันประมาณ 8.3-10.2 ล้านตารางกิโลเมตร คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 1.6-2.0 ของพื้นที่โลก และในประเทศไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างน้อย 36,616.16 ตารางกิโลเมตร หรือ 22,885,100 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 7.5 ของพื้นที่ประเทศไทย

การเปลี่ยนแปลงพื้นที่หรือการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินจากพื้นที่ป่าละเมาะเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ชุมชนเมือง นิคมอุสาหกรรม ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างสาธาณูปโภคต่าง ๆ ถือเป็นภัยคุกคามที่สำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำ ส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำท่วมที่เพิ่มขึ้นและทวีความรุนแรง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตและทรัพย์สินมนุษย์ รวมถึงการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยของพืชพันธุ์และสัตว์ป่า และทำลายความหลากหลายทางชีวภาพในที่สุด

อ้างอิง

ผู้เขียน

+ posts

สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว