ต้องเว้นระยะห่างแค่ไหนถึงเรียกว่าปลอดภัย ตอน บังไพร ส่องนก

ต้องเว้นระยะห่างแค่ไหนถึงเรียกว่าปลอดภัย ตอน บังไพร ส่องนก

หากเราต้องการมีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับตัวเรา สัตว์ป่าก็ไม่ต่างกัน ย่อมต้องการพื้นที่ปลอดภัยสำหรับตนเองเช่นกัน การบุกรุกและเข้าไปยังพื้นที่ของสัตว์ป่า จึงเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังและปฏิบัติตามกฎระเบียบของพื้นที่อย่างเคร่งครัด

เกร็ดความรู้ในสัปดาห์นี้เดินทางมาถึงตอนสุดท้ายของซีรี่ส์ ต้องเว้นระยะห่างแค่ไหนถึงเรียกว่าปลอดภัย ซึ่งจะพาไปหาคำตอบกับระยะความปลอดภัยของสัตว์อีกกลุ่มหนึ่งที่มีความสำคัญ เป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ และถือเป็นกลุ่มสัตว์ที่มีความอ่อนไหวและต้องรักษาระยะห่างในการเข้าใกล้ และบทสรุปของการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่ถูกต้องในการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเพื่อความยั่งยืนของระบบนิเวศ ในซีรีส์ต้องเว้นระยะห่างแค่ไหน ถึงเรียกว่าปลอดภัย ตอน ‘บังไพร’ (ส่องนก)

บังไพรหรือซุ้มบังไพร เป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญมากสำหรับการเฝ้าดูนก ทว่าหากเราต้องการดูนกเพียงอย่างเดียว การมีแค่กล้องส่องทางไกลสองตา (Binoculars) หรือกล้องส่องทางไกลตาเดียว (Telescope) ก็คงเพียงพอแล้วสำหรับการดูนก แต่การเฝ้าสังเกตเพื่อศึกษาพฤติกรรมนกนั้น ต้องอาศัยซุ้มบังไพรในการพลางตัวและหลบซ่อนตัวของนักดูนก เพื่อไม่ให้สัตว์ป่าสังเกตเห็นจนตกใจและบินหนีออกไปจากพื้นที่นั้นได้

การใช้บังไพรในระยะที่ใกล้เกินไปหรือกีดขวางทางเข้าโพรงรังของนก จะทำให้พ่อแม่นกรู้สึกกังวลใจและไม่กล้ากลับเข้ามาที่รังหรือสามารถทิ้งรังนั้นไปได้เลย เนื่องจากรู้สึกไม่ปลอดภัย ในขณะที่เรากำลังเฝ้าสังเกตพฤติกรรมนกนั้น หากมีพฤติกรรมของพ่อแม่นกผิดปกติไปจากเดิมแม้แต่นิดเดียว เราต้องรีบออกมาจากบริเวณนั้นทันที และยิ่งหากเรามีการเคลื่อนไหวบ่อย ๆ ในบริเวณหน้าโพรงรัง นอกจากจะทำให้พ่อแม่นกเครียดจนทิ้งรังได้แล้ว ยังเพิ่มโอกาสให้กับผู้ล่าสังเกตเห็นโพรงรังมากขึ้น จากตำแหน่งที่เราเคลื่อนไหวอีกด้วย

นกแต่ละชนิดสามารถทนการรบกวนจากมนุษย์ได้แตกต่างกัน การใช้บังไพรจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับนกที่จับความเคลื่อนไหวหรืออ่อนไหวได้ง่ายต่อการรบกวนของมนุษย์ ดังนั้นการรักษาระยะห่างที่ปลอดภัย เพื่อเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของนก ไม่ควรต่ำกว่า 5 เมตร สำหรับนกขนาดเล็ก ส่วนนกขนาดใหญ่ยิ่งต้องรักษาระยะห่างเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การรักษาระยะห่างให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จะยิ่งเพิ่มความปลอดภัยทั้งตัวเราและต่อสัตว์ป่า

และจากงานวิจัยในประเทศสเปนพบว่า นกกระจอกบ้าน (House sparrow) นกกางเขน (Magpie) นกพิราบ (Rock pigeon) และนกเดินดงสีดำ (Blackbird) ต้องการระยะห่างที่ปลอดภัยจากมนุษย์ประมาณ 12 ถึง 20 เมตร เพื่อให้สัตว์ป่ารู้สึกปลอดภัย แต่หากพื้นนั้นเป็นพื้นที่รกชัฏ หรือมีที่กำบังตัวและบดบังสายตาในการ สังเกตตัวนก ระยะห่างที่ปลอดภัยจากมนุษย์ถึงตัวนกก็สามารถปรับลดลงมาจากระยะเดิมได้

สัตว์ป่าทุกชนิดต่างก็มีความสำคัญและมีหน้าที่ในระบบนิเวศที่แตกต่างกัน พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน การเคารพสถานที่และเห็นความสำคัญของทุกชีวิต จึงเป็นสิ่งที่เราควรตระหนักและคำนึงถึงเป็นลำดับแรก โดยเฉพาะการที่เราพาตัวเองไปยัง ‘บ้านของสัตว์ป่า’ การให้เกียรติเจ้าของบ้านจึงเป็นสิ่งที่แขกที่ดีพึงกระทำ เพราะนั่นแสดงให้เห็นถึงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่มีความรับผิดชอบต่อตนเอง สังคม และสิ่งแวดล้อม

อ้างอิง

ผู้เขียน

+ posts

สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว