ต้องเว้นระยะห่างแค่ไหนถึงเรียกว่าปลอดภัย ตอน กวางป่า

ต้องเว้นระยะห่างแค่ไหนถึงเรียกว่าปลอดภัย ตอน กวางป่า

จากเกร็ดความรู้สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้นำเสนอถึงระยะความปลอดภัยและข้อปฏิบัติที่ถูกต้องระหว่างคนกับช้างป่าและกระทิงกันไปแล้ว เกร็ดความรู้ในสัปดาห์นี้เดินทางมาถึงตอนที่สามของซีรี่ส์ ซึ่งจะพาไปหาคำตอบกับระยะความปลอดภัยของสัตว์อีกชนิดหนึ่ง ที่แม้ว่าจะสามารถพบเห็นได้ง่ายและดูเป็นมิตร แต่เราก็ยังคงต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและระยะห่างที่มีต่อสัตว์ชนิดนั้น ในซีรีส์ต้องเว้นระยะห่างแค่ไหน ถึงเรียกว่าปลอดภัย ตอน ‘กวางป่า’

กวางป่า หรือ sambar มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Rusa unicolor เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมจำพวกกีบคู่ สามารถพบได้ตามป่าดงดิบ ป่าโปร่ง และชายป่าที่มีทุ่งหญ้าสลับกันไป พบได้ในป่าทั่วทุกภูมิภาค กวางป่ามักอาศัยอยู่ได้ทั้งตัวเดียวหรืออยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เป็นฝูง

กวางป่าเป็นสัตว์ที่มีการระวังภัยสูงมาก สามารถจับความเคลื่อนไหวและรับความรู้สึกได้อย่างรวดเร็ว เมื่อสัมผัสได้ถึงสิ่งผิดปกติ กวางป่าจะชูคอหันหน้าและใบหูทั้งสองข้างไปยังต้นตอของสิ่งผิดปกตินั้น หางชี้ขึ้นและยืนนิ่ง จากนั้นจะส่งเสียงร้องแหลมดังขึ้น และถ้าอยู่รวมกันในฝูง เมื่อมีตัวใดตัวหนึ่งตื่นตระหนกและวิ่งหนีก็จะทำให้ตัวอื่นวิ่งหนีตามกันไป กวางป่าสามารถกระโดดได้ไกลและสูงถึง 2 เมตร

หากมีศัตรูเข้าใกล้ระยะประชิดและกวางป่าเลือกที่จะสู้กลับ กวางป่าจะมีพฤติกรรมกัดฟันกรอด ๆ เสียงดัง ส่งเสียงคำรามในลำคอตลอดเวลา ตาทั้งสองข้างเบิกลึกกว้างพร้อมเดินสายหัวไปมาและเดินเข้าใกล้ศัตรูอย่างช้า ๆ พร้อมก้มหัวลง เพื่อให้ปลายเขาที่แหลมคมพุ่งเข้าหาศัตรูและจู่โจมทันที

แม้ปกติเมื่อมีศัตรูเข้าใกล้กวางป่า กวางป่าจะเลือกพฤติกรรมหลบหนีมากกว่าต่อสู้ เนื่องจากเป็นสัญชาตญาณของเหยื่อที่ต้องหลบหนีนักล่าตลอดเวลา แต่ถ้าหากมีศัตรูเข้ามาใกล้ระยะประชิด กวางป่าก็พร้อมที่จะป้องกันตัวและต่อสู้กลับทันที ซึ่งจะทำให้เกิดอันตราย บาดเจ็บ หรือถึงแก่ชีวิตกับเราได้

ไม่เพียงแต่มนุษย์เท่านั้น กวางป่าเองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ถ้าหากมีมนุษย์เข้าไปในพื้นที่หากินหรืออาณาเขตของกวางป่า จะทำให้กวางป่าจดจำว่าพื้นที่นั้นไม่ปลอดภัย และหลีกเลี่ยงการเข้ามาหากินในพื้นที่ตลอดไป 

ดังนั้นระยะความปลอดภัยระหว่างเรากับกวางป่าไม่ควรต่ำกว่า 30 เมตร อ้างอิงจากงานวิจัยของพื้นที่หากิน (home grange) ของกวางป่า หรือรักษาระยะห่างให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และที่สำคัญเราต้องไม่เข้าใกล้หรือเข้าไปบุกรุกพื้นที่หากินของสัตว์ป่าทุกชนิดโดยเด็ดขาด

รวมถึงการปฏิบัติตามกฎระเบียบของพื้นที่ โดยเฉพาะมาตรการ 4 ม. ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่เจ้าหน้าที่ได้รณรงค์และขอความร่วมมือกับนักท่องเที่ยว ซึ่งประกอบไปด้วย ไม่ทิ้งขยะ ไม่ส่งเสียงดัง ไม่ขับรถเร็ว และไม่ให้อาหารสัตว์ ป้องกันการรบกวนสัตว์ป่า เพื่อความปลอดภัยทั้งต่อสัตว์ป่าและต่อตัวเราด้วย

อ้างอิง

ผู้เขียน

+ posts

สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว