ชวนรู้จัก ‘ป่าทับลาน’ ชื่อนี้มีที่มาอย่างไร?

ชวนรู้จัก ‘ป่าทับลาน’ ชื่อนี้มีที่มาอย่างไร?

ช่วงนี้คงไม่มีใครที่ไม่เคยได้ยินคำว่า ‘ทับลาน’ แต่จะมีใครบ้างที่รู้ว่า ทับลานอยู่ที่ไหน? แล้วคำว่าทับลานมีที่มาที่ไปอย่างไร? เกร็ดความรู้ในสัปดาห์นี้ ชวนมาทำความรู้จักกับป่าทับลาน อีกหนึ่งระบบนิเวศที่มีความสำคัญที่ใครหลายคนมักมองข้ามไป

‘ป่าลานธรรมชาติผืนที่สมบูรณ์ที่สุด และเป็นผืนสุดท้ายของประเทศไทย’ 

นี่คือนิยามของลานป่าธรรมชาติที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ ‘อุทยานแห่งชาติทับลาน’ ชื่ออุทยานที่ถูกตั้งตามลักษณะเด่นของระบบนิเวศในพื้นที่ ที่มีลานป่าขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นและพบได้บางพื้นที่เท่านั้น โดยเฉพาะบริเวณที่ราบบนเขาละมั่ง อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี ที่สามารถพบต้นลานป่าได้ทั่วพื้นที่และเรียกบริเวณนี้ว่า ‘ป่าลาน’

ลานป่าคืออะไร?

ลาน หรือ ต้นลาน จัดเป็นไม้ตระกูลปาล์ม (Palmae) เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว และเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นสูงประมาณ 10 – 26 เมตร ในประเทศไทยสามารถพบต้นลานได้ 2 ชนิดที่เป็นชนิดท้องถิ่น คือ ลานป่า (Corypha lecomtei) และลานพรุ (Corypha utan) ด้วยลำต้นและช่อดอกที่มีขนาดใหญ่ของต้นลาน จึงต้องอาศัยพื้นที่ในการเจริญเติบโต ดังนั้นการที่เรายังพบเห็นป่าลานในธรรมชาติ นั่นแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของพื้นที่ป่าที่ยังมีความเหมาะสมและเต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ของอุทยานแห่งชาติทับลานในปัจจุบัน

อุทยานแห่งชาติทับลานตั้งอยู่ที่ไหน?

อุทยานแห่งชาติทับลาน ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ อำเภอปักธงชัย อำเภอวังน้ำเขียว อำเภอครบุรี อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี เป็นหนึ่งในพื้นที่สำคัญของผืนป่ามรดกโลก ‘กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่’ ซึ่งได้รับการประกาศจากยูเนสโกเมื่อปี พ.ศ. 2548 

อุทยานแห่งชาติทับลานตั้งอยู่ตรงกลางของผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ซึ่งถือเป็นทางเชื่อมที่สำคัญในการสัญจรไป-มาของสัตว์ป่านานาชนิด ระหว่างอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติตาพระยา และอุทยานแห่งชาติปางสีดา และถือเป็นอุทยานที่มีพื้นที่มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย รองจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

อุทยานแห่งชาติทับลาน มีสังคมพืชที่จัดเป็นป่าลุ่มต่ำที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก มีความหลากหลายทั้งสัตว์ป่าและพันธุ์พืช อาทิ ช้างป่า กระทิง วัวแดง กวางป่า และกลุ่มพันธุ์พืชโดยเฉพาะป่าลาน ซึ่งในอุทยานฯ มีเนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ มีสภาพเป็นป่าโปร่ง เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยและพื้นที่หากินที่สำคัญของสัตว์ป่านานาชนิด อาทิ กระต่ายป่า พังพอน เก้ง กวางป่า สัตว์เหล่านี้ล้วนมีความสำคัญกับระบบนิเวศ คอยรักษาสมดุล และสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ

ดังนั้นชื่ออุทยานแห่งชาติทับลานจึงสื่อถึงเอกลักษณ์และความโดดเด่นของ ‘ป่าลาน’ ที่เป็นอีกหนึ่งระบบนิเวศที่มีความสำคัญของพื้นที่ แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพของอุทยานแห่งนี้

รู้หรือไม่

ในกรณีของพื้นที่กว่า 265,000 ไร่ ที่กำลังพิจารณาการถูกเพิกถอนนี้ แม้จะเป็นพื้นที่ชุมชน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าพื้นที่นี้ยังอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ และบริเวณรอบ ๆ ยังคงเป็นหย่อมป่ากระจายอยู่ทั่วพื้นที่ชายขอบ สัตว์ป่ามีการเข้ามาใช้ประโยชน์และใช้เป็นเส้นทางหากิน โดยเฉพาะช้างป่า ที่มักหากินในป่าที่ราบ ทุ่งหญ้า และพบได้บ่อยครั้งบริเวณชายขอบป่า 

ในอนาคตหากมีการเปลี่ยนแปลงเป็นชุมชนหรือแหล่งท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว และไม่ได้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ นอกจากเส้นทางการใช้ประโยชน์ของสัตว์ป่าจะถูกตัดขาดและแยกออกจากกันแล้ว ยังก่อให้เกิดปัญหาสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่และจะยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อชุมชนรอบผืนป่าอย่างแน่นอน

อ้างอิง

  • อุทยานแห่งชาติทับลาน  
  • หนังสือ ลาน พืชพื้นเมืองของไทย กลุ่มงานวิจัยพันธุ์พืชป่ามีค่า หายาก และใกล้สูญพันธุ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ผู้เขียน

+ posts

สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว