ในช่วงหลายวันมานี้ หลายคนคงได้เห็นคำว่า ‘โป่ง’ ผ่านตากันมาบ้าง หากไม่ได้คิดอะไร โป่งสำหรับคนทั่วไปอาจเป็นแค่สถานที่หนึ่ง ที่ดูแปลกตาแลดูเป็นทุ่งดอกไม้และสวยกว่าปกติ จนเกิดความนึกคิดอยากจะเข้าไปถ่ายรูปกับธรรมชาติที่งดงามเหล่านั้น แต่รู้หรือไม่? โป่งเป็นได้มากกว่าลานทุ่งธรรมชาติและมีประโยชน์ต่อสัตว์ป่าในระบบนิเวศนั้น ๆ มากเกินกว่าที่มนุษย์อย่างเราจะเข้าไปบุกรุกและใช้ประโยชน์เสียอีก
เกร็ดความรู้ในวันนี้ขอพาไปทำความรู้จักกับโป่ง ว่าโป่งมีประโยชน์อย่างไร มีความสำคัญอะไรต่อสัตว์ป่า และมีสัตว์ป่าชนิดใดบ้างที่ใช้ประโยชน์จากโป่งนี้
โป่ง อธิบายให้เข้าใจง่าย คือบริเวณที่เป็น ‘ดินเค็มที่เกิดจากการสะสมของแร่ธาตุหลายชนิด’ จากฝนที่ตกลงมาหรือความชื้นจากน้ำค้าง จนทำให้เกิดการชะล้างหรือการละลายของเกลือและแร่ธาตุต่าง ๆ ที่อยู่ในดิน จึงทำให้ดินบริเวณนั้นเค็มกลายเป็นแหล่งอาหารเสริมของสัตว์ป่าและต่างพากันมาใช้ประโยชน์ในบริเวณนี้
โป่ง แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ โป่งดิน มีลักษณะเป็นเนินเตี้ยหรือเป็นหย่อมดินโล่งอยู่กลางบริเวณที่มีต้นไม้ใหญ่ล้อมรอบ ซึ่งบริเวณนั้นจะพบร่องรอยสัตว์ป่าอย่างรอยขุด รอยตีนย่ำ โป่งดินมักพบตามริมหรือในห้วยที่เป็นที่ราบ หากอยู่ในช่วงในฤดูฝน โป่งดินที่มีน้ำขัง สัตว์ป่าจะเลือกกินน้ำแทนการกินดิน
โป่งน้ำ เป็นบริเวณที่มีน้ำขังตามธรรมชาติหรือเป็นแอ่งน้ำที่เกิดการสะสมของน้ำฝน และเต็มไปด้วยแร่ธาตุที่ละลายจากในดิน สัตว์ป่าจะเข้ามากินน้ำและอาบโคลนกันในบริเวณโป่งนี้
แร่ธาตุที่อยู่ในโป่งประกอบไปด้วยอะไรบ้าง?
แร่ธาตุที่สามารถพบได้ในโป่ง อาทิ แคลเซียม ฟอสฟอรัส โปแตสเซียม โซเดียม แมกนีเซียม กำมะถัน โคบอลล์ ทองแดง ไอโอดีน เหล็ก แมงกานีส โมลิปดินัม ซิลิเนียม และสังกะสี แร่ธาตุในโป่งนี้ล้วนเป็นอาหารเสริมที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อสัตว์ป่าอย่างยิ่ง ทั้งภายในและภายนอกร่างกาย
โดยเฉพาะสัตว์กินพืชอาหาร (herbivore) เช่น กวาง เก้ง กระทิง วัวแดง และช้างป่า การได้รับแร่ธาตุที่อยู่ในโป่งจะช่วยให้ร่างกายได้สารอาหารที่ครบถ้วน นอกเหนือจากสารอาหารที่ได้รับจากพืชอาหารอย่างคาร์โบไฮเดรต ซึ่งแร่ธาตุส่วนใหญ่ที่พบนี้มีความจำเป็นต่อร่างกายและการดำรงชีวิตของสัตว์ป่า
มีสัตว์ชนิดใดบ้างที่เข้ามาใช้ประโยชน์ในโป่ง
ไม่เพียงแต่สัตว์กินพืชอาหารเท่านั้นที่จะเห็นความสำคัญของโป่ง แต่ยังรวมถึงสัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ ก็มีการเข้ามาใช้ประโยชน์ในโป่งนี้ทั้งทางตรงและทางอ้อม
นก มีการเข้ามาใช้ประโยชน์ในโป่ง โดยจะเข้ามากินน้ำในโป่งน้ำ และเลือกกินเม็ดกรวด เม็ดทราย เพื่อเสริมแร่ธาตุ และช่วยในเรื่องของการย่อยอาหาร ซึ่งการเข้ามาใช้ประโยชน์ส่วนใหญ่พบในนกที่กินพืชอาหารเป็นหลัก เช่น นกเขาเปล้า นกมูม นกแขกเต้า และนกเขาเขียว
รวมถึงนกที่ใช้ประโยชน์จากโป่งทางอ้อม คือเข้ามาบริเวณโป่งเพื่อคอยล่าเหยื่อหรือจับแมลงกินเป็นอาหาร โดยจะเลือกโป่งที่อยู่ในเส้นทางที่กำลังหาอาหาร เช่น เหยี่ยวรุ้ง และพญาแร้ง เพื่อประหยัดพลังงานและทุ่นแรงในการหาอาหารอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่เข้ามาใช้ประโยชน์ทางอ้อมอย่างสัตว์ผู้ล่า เช่น เสือโคร่ง เสือดำ และหมาใน โดยการใช้เป็นพื้นที่ซุ่มโจมตีเหยื่อหรือล่าสัตว์กินพืชอาหารที่มากินดินโป่งด้วยเช่นกัน
ซึ่งพฤติกรรมการล่าเหยื่อเช่นนี้ ถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะตอบได้ว่า ทำไมผู้ล่าจึงไม่จำเป็นต้องกินดินโป่ง เพราะการล่าสัตว์ที่กินดินโป่งแล้วนั้นก็เหมือนได้รับแร่ธาตุไปด้วยเช่นกัน เราเรียกกระบวนการนี้ว่า การถ่ายทอดพลังงานในสิ่งมีชีวิต (Energy Flow) ซึ่งเป็นกระบวนการที่สำคัญในสิ่งมีชีวิตทุกชนิด และทำให้เกิดความสมดุลในระบบนิเวศ
จากงานวิจัยการศึกษาพฤติกรรมการกินดิน (geophagy) ของช้างแอฟริกาในช่วงฤดูแล้ง ยังพบว่า ช้างแอฟริกากินดินโป่งเพื่อเสริมแร่ธาตุโซเดียม เนื่องจากพืชและน้ำตามธรรมชาติในช่วงฤดูแล้งมีปริมาณโซเดียมต่ำ ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย จึงทำให้ช้างแอฟริกาต้องเสริมแร่ธาตุโซเดียมจากดินโป่ง ซึ่งมีปริมาณโซเดียมที่สูงกว่าดินในบริเวณอื่น ๆ เป็นข้อสรุปได้ว่าสัตว์ป่ามีการใช้ประโยชน์ในโป่งจริง และเป็นแหล่งที่มีแร่ธาตุที่สำคัญและจำเป็นต่อสัตว์ป่าด้วย
และเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับงานวิจัยการศึกษาการกินดินของชิมแปนซี ในอุทยานแห่งชาติคิบาเล่ ประเทศยูกันดา พบว่า ชิมแปนซีจะเลือกกินดินโป่งซึ่งมีคุณสมบัติเฉพาะเจาะจง โดยเฉพาะมีแร่ธาตุเหล็กสูงที่ช่วยบรรเทาอาการท้องร่วงของชิมแปนซีได้และส่งผลดีต่อสุขภาพ
ด้วยเหตุผลเหล่านี้ โป่ง จึงเป็นมากกว่าสถานที่สำหรับมนุษย์สายท่องเที่ยว แต่เป็นพื้นที่สำคัญของสัตว์ป่าที่เข้ามาใช้ประโยชน์ เป็นทั้งแหล่งอาหาร ยารักษาโรค ถิ่นที่อยู่อาศัย ที่ดักซุ่มโจมตีของผู้ล่า และถือเป็นพื้นที่ที่คอยรักษาสมดุลให้กับระบบนิเวศในบริเวณนั้น หากเราเข้าใจและเห็นความสำคัญของโป่ง จะทำให้เราตระหนักมากขึ้นถึงการเข้าไปยังพื้นที่สำคัญและถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า
อ้างอิง
- Geophagy in the African Elephant in Relation to Availability of Dietary Sodium
- Soils Consumed by Chimpanzees of the Kanyawara Community in the Kibale Forest, Uganda
- อาหารเสริมของสัตว์ป่า | ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา
ผู้เขียน
สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว