จระเข้และอัลลิเกเตอร์ กับความเหมือนที่แตกต่างกัน 

จระเข้และอัลลิเกเตอร์ กับความเหมือนที่แตกต่างกัน 

หากมองผิวเผินระหว่าง ‘จระเข้’ กับ ‘อัลลิเกเตอร์’ คงมีความสับสนปนงงกันบ้าง เพราะลักษณะภายนอกที่ดูคล้ายคลึงกันจนอาจคิดไปว่าทั้งสองตัวนี้คือตัวเดียวกัน และหากเราลองนำชื่อภาษาอังกฤษของสองตัวนี้ไปใส่ในกูเกิลแปลภาษา สิ่งที่เราได้กลับมาจะยิ่งตอกย้ำกับสิ่งที่คิดไปอีกว่าทั้งสองชื่อนี้คือชนิดเดียวกัน 

แม้จระเข้กับอัลลิเกเตอร์จะมีหน้าตาที่คล้ายคลึงกันมาก แต่แท้จริงทั้งสองตัวนี้เป็นคนละชนิดกัน เพื่อป้องกันการสับสน เราควรทำความเข้าใจให้ถูกต้อง รู้จักว่าแต่ละตัวมีหน้าตาเป็นเช่นไร แล้วทั้งสองชนิดนี้จะมีความเหมือนที่แตกต่างกันอย่างไรบ้าง 

จระเข้ (Crocodile) และอัลลิเกเตอร์ (Alligator) เป็นสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ในไฟลัมคอร์ดาตา (Phylum Chordata) แต่ไปแยกทางกันที่วงศ์ (Family) จระเข้อยู่ในวงศ์ Crocodylidae ในขณะที่อัลลิเกเตอร์อยู่ในวงศ์ Alligatoridae เป็นข้อสรุปได้ว่าจระเข้และอัลลิเกเตอร์นั้นเป็นคนละชนิดกัน 

จระเข้และอัลลิเกเตอร์ เป็นสัตว์เลือดเย็นที่มีอุณหภูมิร่างกายไม่คงที่ หมายถึงอุณหภูมิร่างกายจะเปลี่ยนแปลงไปตามอุณหภูมิของสภาพแวดล้อม ทั้งสองชนิดนี้จึงมักอาศัยอยู่ตามบึงหรือแหล่งน้ำ มีผิวหนังเป็นเกล็ดและมีนิ้วเท้าเป็นพังผืด เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเหมาะสมในถิ่นที่อยู่อาศัย โดยปกติสัตว์เลื้อยคลานจะมีหัวใจ 3 ห้อง หรือ 4 ห้องไม่สมบูรณ์ ยกเว้นจระเข้ที่มี 4 ห้องสมบูรณ์เหมือนนกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม 

จระเข้และอัลลิเกเตอร์แตกต่างกันอย่างไร? 

จระเข้และอัลลิเกเตอร์มีลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างกัน คือลักษณะของจมูก ขากรรไกรและปาก ปากของจระเข้จะมีลักษณะที่ยาวและแหลมกว่าเป็นรูปสามเหลี่ยมคล้ายรูปตัว V ในขณะที่อัลลิเกเตอร์จะมีลักษณะปากที่กว้างคล้ายรูปตัว U  

ซึ่งลักษณะเฉพาะที่แตกต่างนี้ถูกวิวัฒนาการให้มีความเหมาะสมกับชนิดของเหยื่อที่กิน จระเข้จะกินสัตว์ขนาดเล็กไปจนถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดใหญ่ จึงต้องมีกรามที่ช่วยกัดเป็นพิเศษ ส่วนอัลลิเกเตอร์จะกินแต่สัตว์ขนาดเล็กเท่านั้น 

รวมถึงลักษณะฟันที่แตกต่างกัน คือลักษณะฟันจระเข้สามารถมองเห็นได้ทั้งฟันบนและฟันล่าง ในขณะที่หุบปาก ส่วนลักษณะฟันของอัลลิเกเตอร์จะมองเห็นได้แค่ฟันบนเพียงอย่างเดียว 

และอีกหนึ่งความแตกต่างทางกายภาพที่เห็นได้ชัดคือสีของลำตัว จระเข้จะมีสีเขียวอมเทา ส่วนอัลลิเกเตอร์มีลำตัวเป็นสีดำอมน้ำตาล เนื่องจากถิ่นที่อยู่อาศัยที่แตกต่างกัน จระเข้สามารถอาศัยอยู่ได้ทั้งแหล่งน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม และอัลลิเกเตอร์ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืด ดังนั้นสีของลำตัวในแต่ละถิ่นที่อยู่อาศัยจะช่วยพรางตัวในการล่าเหยื่อและป้องกันศัตรูได้ 

และเนื่องจากจระเข้มีต่อมขับเกลืออยู่ที่บริเวณลิ้น จึงทำให้จระเข้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในแหล่งน้ำกร่อยและน้ำเค็มได้ดีกว่าอัลลิเกเตอร์ 

จระเข้และอัลลิเกเตอร์แต่ละชนิดจะมีขนาดลำตัวที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับอายุ อาหารและถิ่นอาศัย ซึ่งส่วนใหญ่จระเข้จะมีขนาดลำตัวที่ใหญ่กว่าอัลลิเกเตอร์ แบ่งเป็นจระเข้น้ำจืดตัวเต็มวัยจะมีขนาดประมาณ 3-4 เมตร น้ำหนักประมาณ 150-350 กิโลกรัม ส่วนจระเข้น้ำเค็มมีขนาดลำตัวประมาณ 3-5 เมตร บางชนิดสามารถหนักได้ถึง 900 กิโลกรัม และอัลลิเกเตอร์ตัวเต็มวัยจะมีขนาดลำตัวประมาณ 2-4.5 เมตร น้ำหนักประมาณ 136-450 กิโลกรัม 

จากข้อมูลงานวิจัย พบว่า อัลลิเกเตอร์ส่วนใหญ่ไม่มีนิสัยก้าวร้าว เว้นแต่ถูกรบกวนหรือถูกบุกรุกอาณาเขต ซึ่งต่างกับจระเข้ที่มีนิสัยค่อนข้างก้าวร้าวและดุกว่า หากมีผู้บุกรุกเข้ามาในอาณาเขต จระเข้จะโจมตีทันที โดยเฉพาะจระเข้ที่อาศัยอยู่บริเวณแม่น้ำไนล์ อย่างจระเข้แม่น้ำไนล์ (Nile Crocodile) ที่ถือเป็นจระเข้ชนิดที่ดุมากและสามารถกินพวกเดียวกันได้ 

จระเข้พบการกระจายพันธุ์ได้ในอเมริกาเหนือ อเมริกากลางและใต้ แอฟริกา ออสเตรเลีย และบางส่วนของเอเชีย และอัลลิเกเตอร์พบการกระจายพันธุ์ได้ในประเทศจีนและทางตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในรัฐฟลอริดา ลุยเซียนา จอร์เจีย และบางส่วนของชายฝั่งอ่าวไทย  

อย่างไรก็ตาม หากเราพบสัตว์เลื้อยคลานในป่าที่ดูอันตราย รวมถึงพบเจอสัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องรักษาระยะห่างที่ปลอดภัย ต่างคนต่างอยู่ เข้าใจพฤติกรรมตามธรรมชาติ เห็นคุณค่าและปกป้องถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า วิธีการนี้จะช่วยป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นทั้งต่อตัวเราและต่อสัตว์ป่า ถือเป็นการเคารพธรรมชาติและสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข 

อ้างอิง 

ผู้เขียน

+ posts

สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว