วันสิ่งแวดล้อมโลก ภายใต้แนวคิด ‘พลิกฟื้นผืนดิน สู้วิกฤตภัยแล้ง’

วันสิ่งแวดล้อมโลก ภายใต้แนวคิด ‘พลิกฟื้นผืนดิน สู้วิกฤตภัยแล้ง’

วันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) ตรงกับวันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันที่องค์การสหประชาชาติกำหนดขึ้นเพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหานั้น  โดยในปีนี้ได้กำหนดประเด็นหลักในการรณรงค์ คือ Land Restoration, Desertification & Drought Resilience ภายใต้แนวคิด ‘Our land. Our future. We are #GenerationRestoration.’ หรือ ‘พลิกฟื้นผืนดิน สู้วิกฤตภัยแล้ง’ เพื่อมุ่งเน้นในเรื่องการฟื้นฟูที่ดิน และการฟื้นตัวจากปัญหาภัยแล้ง

ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญหน้าอยู่กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากภาวะโลกร้อนสู่ภาวะโลกเดือด ซึ่งถือเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับโลก ส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิดรวมถึงมนุษย์ก็ได้รับผลกระทบนี้เช่นกัน การปรับตัวและการอยู่ร่วมกันเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ที่จะทำให้มนุษย์อยู่รอดพ้นกับปัญหาสิ่งแวดล้อมต่อไปได้

ทว่าการที่มนุษย์พยายามปรับตัวและหาแนวทางในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบบนิเวศ กลับกลายเป็นการซ้ำเติม เพราะนอกจากจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ยังเป็นการทำลายระบบนิเวศในพื้นที่นั้น และส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพอีกด้วย

‘เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว’ วลียอดฮิตที่สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจนถึงการพัฒนาที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น

‘เขื่อน’ หรือเขื่อนขนาดเล็กอย่าง ‘ฝาย’ ถูกใช้เป็นข้ออ้างในการพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม เขื่อน จะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่ออยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม ชุมชนในบริเวณนั้นได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง และต้องไม่เปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ แต่ปัจจุบันโครงการนี้มักจะเกิดขึ้นในพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ ป่าต้นน้ำและอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งเป็นการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยของพืชพันธุ์ สัตว์ป่า และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ โดยตรง

การสร้างฝายที่ใครหลายคนมักมองข้าม และไม่คิดว่าจะเป็นปัญหาต่อระบบนิเวศ แต่แท้จริง ฝายมีแนวคิดเดียวกันกับการสร้างเขื่อน คือเพื่อการกักเก็บหรือชะลอน้ำไว้ใช้ประโยชน์ ฝายคืออีกหนึ่งปัญหาที่เป็นตัวการในการขัดขวางการไหลของน้ำ และการมีอยู่ของฝายไม่ได้ตอบโจทย์ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้อย่างแท้จริง 

การมีฝายกั้น เมื่อใบไม้กิ่งไม้ร่วงหล่นลงมาและไหลมาตามน้ำ เศษไม้เหล่านี้จะถูกดักไว้ที่หน้าฝายและไม่สามารถไหลผ่านต่อไปได้ เมื่อหน้าฝายเต็มไปด้วยสิ่งกีดขวาง จะยิ่งทำให้ตะกอนดินที่ควรจะไหลจากภูเขาลงสู่ทะเลต้องตกค้างอยู่ในป่า เวลาผ่านไป ตะกอนดินจะทับถมอยู่ในลำธารเหนือฝาย สะสมจนน้ำตื้นเขิน ทำให้สิ่งมีชีวิตไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ น้ำเริ่มเน่าจากการขาดออกซิเจนเนื่องจากน้ำไหลกลายเป็นน้ำนิ่ง และสุดท้ายก็ไม่สามารถใช้น้ำที่ถูกกักเก็บไว้ได้ รวมถึงการดักตะกอนไว้ในป่าจะทำให้ตะกอนไม่ไหลลงทะเลและไม่ไหลไปเติมในป่าชายเลน ชายฝั่งก็จะทำให้เกิดปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะตามมา

การพัฒนาโดยการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน ที่มาในรูปแบบของ ‘ภาษีที่ดิน’ คืออีกหนึ่งปัญหาที่เป็นการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ การเปลี่ยนที่ดินธรรมชาติไปเป็นอาคารบ้านเรือนเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี เป็นการทำลายแหล่งอาหารและถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า รวมถึงภาษีที่ดินอาจจะเป็นตัวกระตุ้นการบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่มมากขึ้น เพื่อจับจองพื้นที่ หลีกเลี่ยงการเสียภาษี ส่งผลกระทบต่อแหล่งอาหารและถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ในป่าใหญ่ กระทบต่อห่วงโซ่อาหาร นำมาซึ่งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

การพัฒนาที่ดีต้องควบคู่ไปกับความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง และต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบบนิเวศ การอนุรักษ์ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน รวมถึงชุมชนในพื้นที่ ให้ตระหนักและเห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรถิ่นตัวเอง และส่งต่อทรัพยากรธรรมชาติไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานได้ เพราะ Our land. Our future. We are #GenerationRestoration.

อ้างอิง

ผู้เขียน

+ posts

สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว