ไซเตส (CITES) หรือ อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (The Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora) ได้รับการเสนอครั้งแรกในการประชุมสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) เมื่อปี พ.ศ. 2506 ข้อเสนอดังกล่าวได้รับแรงผลักดัน ซึ่งนำไปสู่การร่างเนื้อหาอนุสัญญาในที่ประชุมจากตัวแทนกว่า 80 ประเทศ ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. 2516 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2518 โดยในปัจจุบันมี 184 ประเทศสมาชิกที่ลงนาม
อนุสัญญานี้ได้แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างรัฐในระดับพหุภาคี โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อควบคุมการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าหายากในระหว่างประเทศเป็นสำคัญ ทั้งนี้ เนื่องจากสัตว์ป่าและพืชป่าหายากที่มีอยู่ในระบบธรรมชาติของโลกได้ถูกทำลายไปโดยกระบวนการทางการค้าระหว่างประเทศเป็นจำนวนมากและในเวลาอันรวดเร็ว ตลอดจนไม่สามารถอาศัยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ใดๆ เพื่อให้ได้สัตว์ป่าและพืชป่าหายากที่สูญพันธุ์ไปนั้นกลับคืนมาสู่ระบบนิเวศน์ของโลกได้อีก หรือหากทำได้ก็จะต้องใช้งบประมาณอันมหาศาลในการฟื้นคืนกลับสู่จุดสมดุลของประชากรในธรรมชาติ หากเราละเลยต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรประเภทนี้ โดยไม่มีมาตรการควบคุมอย่างจริงจัง และมีประสิทธิภาพในระดับระหว่างประเทศแล้ว ในที่สุดมนุษย์จะไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับคุณค่าของทรัพยากรประเภทนี้อีกต่อไป
สัตว์ป่าและพันธุ์พืชเป็นทรัพยากรทางธรรมชาติที่รับรองคุณค่า 2 ประการ คือ เป็นแหล่งทรัพยากรทางเศรษฐกิจและเป็นวัตถุ (Object) ของกระบวนการนิเวศน์และพันธุกรรมบนพื้นฐานของการเป็นแหล่งทรัพยากรต่อเนื่องยาวนาน (Sustainable Utilization)
อนุสัญญาได้กำหนดมาตรการควบคุมทางการค้าระหว่างประเทศออกเป็น 2 ระดับกล่าวคือ ระดับมาตรการในการตรวจสอบแหล่งกำเนิด หรือแหล่งที่มาของสัตว์ป่าและพืชป่าตามที่อนุสัญญากำหนดไว้ในบัญชีแนบท้าย โดยอาศัยเอกสารกำกับการส่งออก นำเข้า และการส่งกลับออกไปเป็นสำคัญ ซึ่งประเทศภาคีอนุสัญญาจะต้องร่วมมือในการตรวจสอบเอกสารดังกล่าวนั้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อนุสัญญากำหนดอย่างจริงจังรวมทั้งมาตรการในการควบคุมการค้าที่ฝ่าฝืนกฎหมายของแต่ละประเทศภาคีที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับระบบการควบคุมของอนุสัญญาอีกด้วย
กระบวนการทำงานภายใต้อนุสัญญาไซเตส ดำเนินการผ่านการออก ใบอนุญาตและใบรับรองที่เข้มงวดซึ่งจำเป็นสำหรับการค้าระหว่างประเทศของชนิดพันธุ์ที่ระบุไว้ ประเทศสมาชิกหรือภาคีแต่ละประเทศมีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการตามอนุสัญญาภายในเขตอำนาจศาลของตนแต่จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกฎหมายภายในประเทศ (Internal law) อาทิเช่น หากกฎหมายประเทศใดห้ามล่าหรือจับสัตว์ชนิดนี้เพื่อการค้า ถึงแม้ว่าอนุสัญญาไซเตสจะอนุญาติก็ไม่สามารถส่งออกนอกประเทศได้เนื่องจากมีกฎหมายของรัฐคุ้มครองอยู่นั่นเอง เนื่องจากสัตว์ชนิดนี้อาจพบได้ในหลายประเทศและมีนโยบายการค้าสัตว์ป่าที่ต่างกัน
หน่วยงานการจัดการ (Management Authority) : หน่วยงานนี้ดูแลระบบการอนุญาต รวมถึงการออกใบอนุญาตส่งออก นำเข้า และส่งออกซ้ำ ช่วยให้มั่นใจได้ว่าการค้าถูกกฎหมาย ยั่งยืน และตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability)ได้
หน่วยงานทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Authority) : ให้คำแนะนำทางวิทยาศาสตร์แก่หน่วยงานจัดการ เพื่อให้มั่นใจว่าการค้าจะไม่เป็นอันตรายต่อการอยู่รอดของสายพันธุ์ในป่า สิ่งนี้เกี่ยวข้องกับการประเมินสถานะของชนิดพันธุ์ แหล่งที่อยู่อาศัย และผลกระทบของการค้าต่อประชากร
การพิจารณาความจำเป็นเร่งด่วนของอนุสัญญาในแต่ละบัญชีรายชื่อ (Appendix) ได้บัญญัติชนิดสัตว์และพันธุ์พืชในระดับการคุ้มครองที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสถานะการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์และผลกระทบทางการค้า
ชนิดพันธุ์ในบัญชีหมายเลข 1 (Appendix I lists species) : การคุ้มครองโดยสมบูรณ์ ห้ามค้าขาย
เป็นชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ ห้ามค้าโดยเด็ดขาด เนื่องจากใกล้จะสูญพันธุ์ ยกเว้นเพื่อการศึกษา วิจัยและเพาะพันธุ์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องได้รับความยินยอมจากประเทศที่จะ นำเข้าเสียก่อน ประเทศส่งออกจึงจะออกใบอนุญาตส่งออกให้ได้ โดยจะต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของชนิดพันธุ์นั้นๆ ด้วย อาทิ นกชนหิน กวางผา ช้าง เลียงผา เสือโคร่ง
ชนิดพันธุ์ในบัญชีหมายเลข 2 (Appendix II lists species) : ทำการค้าได้แต่ต้องได้รับการควบคุม
เป็นชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ยังไม่ถึงกับใกล้จะสูญพันธุ์ จึงยังอนุญาตให้ค้าได้ แต่ต้องมีการควบคุมไม่ให้เกิดความเสียหาย หรือลดปริมาณลงอย่างรวดเร็วจนถึงจุดใกล้จะสูญพันธุ์ โดยประเทศที่จะส่งออกต้องออกหนังสืออนุญาตให้ส่งออกและรับรองว่าการส่งออกแต่ละครั้งจะไม่กระทบกระเทือนต่อการดำรงอยู่ของชนิดพันธุ์นั้นๆ ในธรรมชาติ อาทิ เสือปลา นกยูง ตุ๊ดตู่ พญาแร้ง นกกระเรียน
ชนิดพันธุ์ในบัญชีหมายเลข 3 (Appendix III lists species) : ยังมีจำนวนประชากรในธรรมชาติอยู่มากแต่ขอความร่วมมือให้เกิดการค้าอย่างยั่งยืน
เป็นชนิดพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายของประเทศใดประเทศหนึ่งแล้ว ขอความร่วมมือประเทศภาคีให้ช่วยดูแลการนำเข้า คือจะต้องมีหนังสือรับรองการส่งออกจากประเทศถิ่นกำเนิดเพื่อควบคุมการค้า อาทิ ควายบ้าน หมีขอ หมาไม้ หมาจิ้งจอก พังพอนกินปู
การพิจารณาบัญญัติชนิดสัตว์และพันธุ์พืชลงในอนุสัญญาไซเตสนั้นจะเกิดขึ้นในการประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่า ที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES Conference of Parties : CoP) คือ การประชุมอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งจัดขึ้นทุกๆ 2 หรือ 3 ปี โดยในครั้งล่าสุดได้เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2565 นับเป็นครั้งที่ 19 (Cop 19) โดยมีโครงสร้างหลักของการประชุม ประกอบด้วย องค์ประชุมภาคี (Conference of Parties: CoP) คณะกรรมการบริหาร (Standing Committee: SC) คณะกรรมการด้านสัตว์ (Animals Committee: AC) คณะกรรมการด้านพืช (Plants Committee: PC) สำนักเลขาธิการ (Secretariat) โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP/IUCN)ในการประชุมนอกจากผู้แทนจากภาคีสมาชิกของอนุสัญญาแล้ว ยังมีผู้แทนในฐานะผู้สังเกตการณ์ จากรัฐที่มิใช่ภาคีแห่งอนุสัญญา รวมไปถึงหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Agencies) และอนุสัญญาอื่นๆ เข้าร่วมประชุมด้วย แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงมติ
ในการประชุม Cites Cop 19 ที่ผ่านมาได้มี ภาคี 145 ประเทศ จาก 184 ประเทศ เข้าร่วมการประชุม ทางประเทศไทย ได้เสนอขอปรับลดบัญชีจระเข้น้ำจืดไทย (Siamese crocodile) ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Crocodylus siamensis จากบัญชีชนิดพันธุ์หมายเลข 1 เป็นหมายเลข 2 ด้วยเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจที่ต้องการผลักดันให้สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์เพื่อทำการค้าระหว่างประเทศ แต่ข้อเสนอนี้ไม่ได้ผ่านการรับรองจากที่ประชุม ทั้งนี้ มี 27 ประเทศให้การสนับสนุน เช่น จีน ลาว กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ อเมริกาใต้ ซิบบับเว (กลุ่มประเทศที่ต้องการให้สามารถค้าขายได้) และ มี 76 ประเทศที่ไม่เห็นด้วย เช่น สหภาพยุโรป อังกฤษ อเมริกา อินโดนีเซีย (กลุ่มประเทศที่ยังมีความกังวลด้านการอนุรักษ์) และ 20 ประเทศงดออกเสียง เช่น ญี่ปุ่น มัลดีฟส์ เนปาล เนื่องจากภาคีที่ไม่เห็นด้วย โดยมีข้อห่วงกังวลในประเด็นของประชากรจระเข้น้ำจืดไทยในธรรมชาติ ที่มีจำนวนน้อยมากและอยู่อย่างกระจัดกระจาย ซึ่งยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขทางชีววิทยาสำหรับชนิดพันธุ์ในบัญชีชนิดพันธุ์หมายเลข 1 ถึงแม้ไทยจะสามารถเพาะเลี้ยงจระเข้ในฟาร์มได้มากกว่า 1.2 ล้านตัวก็ตาม
สหประชาชาติ ประเมินว่าการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายทั่วโลก มีเม็ดเงินเกี่ยวข้องอยู่ระหว่าง 7,000 ล้านเหรียญ ถึง 23,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นอาชญากรรมอันดับ 4 ของโลกรองจากการค้าอาวุธ ยาเสพติด และการค้ามนุษย์เพียงเพราะความต้องการที่เพิ่มขึ้นในประเทศที่ผู้บริโภคเริ่มมีกำลังซื้อในทวีปเอเชียโดยการครอบครองและบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าสะท้อนถึงฐานะบารมีและความเชื่อผิดๆ ว่ามีประโยชน์ในการรักษาโรคแต่ในทางกลับกันก็มีงานวิจัยจำนวนมากที่ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์ว่าชิ้นส่วนสัตว์ป่าหลายชนิดไม่ได้ให้คุณประโยชน์ทางโภชนาการได้มากเท่ากับที่กล่าวอ้างสรรพคุณ
ตลาดการค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ มีเส้นทางการค้าถึง 67 ประเทศทั่วโลก ประกอบไปด้วยประเทศต้นทาง ประเทศส่งผ่าน และประเทศปลายทาง ในส่วนของประเทศไทย แม้จะเป็นประเทศทางผ่าน มีการซื้อขายในรูปแบบใหม่ผ่านสื่อออนไลน์ จากรายงานวิจัยเกี่ยวกับการลักลอบค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมายทั่วโลกของนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร พบว่าอย่างน้อยหนึ่งในห้าของสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังสายพันธุ์ต่างๆ บนโลกยังคงถูกจับและนำมาขายตามช่องทางต่างๆ ในตลาดโลก
ประเทศไทยได้รับผลกระทบที่สำคัญในด้านการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ทั่วโลก โดยเป็นประเทศต้นทาง ทางผ่าน และปลายทางที่สำคัญสำหรับสัตว์ป่าและสินค้าสัตว์ป่าประเภทต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยเป็นผู้บริโภคและขนส่งสัตว์เลี้ยง และสินค้าฟุ่มเฟือยมูลค่าสูง การค้านี้ได้รับการขับเคลื่อนโดยเศรษฐกิจที่กำลังเติบโต ซึ่งมาพร้อมกับกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น และได้รับความสะดวกจากศูนย์กลางขนส่งระหว่างประเทศสำคัญๆ ของประเทศ
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้มีการยึดสินค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายครั้งใหญ่ในประเทศ ทั้งการยึดสินค้าจากงาช้าง นอแรด เสือโคร่ง และตัวลิ่น ส่วนนี้แสดงให้เห็นบทบาททีี่มีอย่างต่อเนื่องของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางการค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้/เอเชียตะวันออก และระหว่างทวีปแอฟริกากับเอเชีย
โดยสรุปแล้ว อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ เป็นความพยายามระดับโลกที่สำคัญในการปกป้องสัตว์ป่าและพืชจากภัยคุกคามที่เกิดจากการค้าระหว่างประเทศ CITES มีความก้าวหน้าอย่างมากในการอนุรักษ์สัตว์ใกล้สูญพันธุ์และส่งเสริมแนวทางปฏิบัติทางการค้าที่ยั่งยืนผ่านระบบใบอนุญาต การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และความร่วมมือระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายยังคงมีอยู่ และจำเป็นต้องมีความพยายามอย่างต่อเนื่องเพื่อต่อสู้กับการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย รับรองการปฏิบัติตามข้อกำหนด และจัดการกับภัยคุกคามที่เกิดขึ้นใหม่ เมื่อเผชิญกับการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและวิกฤตสิ่งแวดล้อม
อ้างอิง
- ร่วมหยุดยั้งการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย บนโลกออนไลน์และทุกรูปแบบ
- การควบคุมการค้าสัตว์ป่าระหว่างประเทศของประเทศไทย
- สถานการณ์และมาตรการการป้องกัน และปราบปรามการลักลอบค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายข้ามชาติ
- โครงสร้างของไซเตส
- The structure of CITES
- Asia-Pacific counter-illegal wildlife trade hub
- ASEAN’s Illegal Wildlife Trade Goes Online
- Wildlife Heroes: Thailand x Lao PDR Cross-Border Innovation for Wildlife Conservation
- กรมอุทยานฯ เผยที่ประชุม CITES CoP19 ไม่เห็นด้วยการปรับลดบัญชีจระเข้น้ำจืดไทย
ผู้เขียน
ชายหนุ่มผู้หลงไหลในกาแฟไม่ใส่น้ำตาล รักการเดินทางไปกับสินค้าของแบรนด์ Patagonia