ทำไมเราไม่ควรขับรถลงชายหาด ? 

ทำไมเราไม่ควรขับรถลงชายหาด ? 

ชายหาด เป็นระบบนิเวศแบบไดนามิก (Dynamic ecosystems) ซึ่งหมายถึงลักษณะของระบบนิเวศจะมีพลวัตอยู่ตลอดเวลารวมไปถึงประชากรของสิ่งมีชีวิตจะมีความแปรผันเมื่อเวลาผ่านไป ทั้งยังเป็นที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์ที่สามารถปรับตัวได้หลายด้าน เช่น การปรับตัวด้านรูปร่างสัณฐาน พฤติกรรม สรีรวิทยา และการผสมพันธุ์ อย่างไรก็ตาม การขับรถไปชายหาด (ดังที่ปรากฏเป็นข่าว) ถือเป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อระบบนิเวศที่ละเอียดอ่อนเหล่านี้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางกายภาพ พืช สัตว์ และสิ่งชีวิตในทะเล

สัตว์ชนิดเด่นที่พบในระบบนิเวศหาดทรายในประเทศไทย ได้แก่ ฟองน้ำเคลือบผิว (Haliclona spp.) ดอกไม้ทะเล (Epiactis spp.) หนอนตัวแบน (Pseudoceros spp.) บุ้งทะเล (Chloeia spp.) ไส้เดือนทะเล (Glycera spp.) แม่เพรียง (Eunice spp.) เพรียงทราย (Perinereis spp.) ไส้เดือนทะเลปลอกเรียบ (Branchiomma spp.) หนอนท่อ หอยหมวกเจ๊ก (Patelloida saccharina) หอยน้ำพริก (Nerita albicilla) หอยเจดีย์ (Clypeomorus bifasciata)

การขับรถไปชายหาดมีผลกระทบที่สำคัญหลายประการต่อสภาพแวดล้อมทางกายภาพ ผลกระทบหลักประการหนึ่งคือการบดอัดของดิน (Soil compaction) ซึ่งน้ำหนักของยานพาหนะบีบอัดพื้นทราย ทำให้ความสามารถในการกักเก็บน้ำและอากาศลดลง ส่งผลให้การเจริญเติบโตของพืชและกระบวนการของจุลินทรีย์ (Microbial activity) ที่ทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีและทางชีวภาพในดิน ได้รับผลกระทบ

นอกจากนี้ การเคลื่อนที่ของยานพาหนะจะสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อเนินทราย โดยเร่งการกัดเซาะและเปลี่ยนรูปร่างตามธรรมชาติของชายหาด ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการปกป้องสิ่งมีชีวิตโดยรอบจากคลื่นพายุและกระแสน้ำสูง รวมถึงยังขัดขวางกระบวนการก่อตัวและรักษาแนวชายฝั่งตามกระบวนการทางธรรมชาติ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระยะยาว การกัดเซาะที่เพิ่มขึ้น ทำให้โครงสร้างของชายหาดอ่อนแอลง และลดความสามารถในการรองรับการเกิดขึ้นของความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่นั้น

การขับรถบนชายหาดอาจทำลายหรือรบกวนการเจริญเติบโตของพืชชายหาดที่มีการปรับตัวเป็นพิเศษเพื่อให้เจริญเติบโตในสภาพแวดล้อมที่เป็นทรายและน้ำเค็ม มีระบบรากที่ตื้น (shallow root) เมื่อพืชเหล่านี้ถูกบดขยี้ จะนำไปสู่การกัดเซาะที่เพิ่มขึ้นและการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย

ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพที่เกิดขึ้นนี้ จะเป็นอุปสรรคต่อการขยายพันธุ์ของพืช ที่มีความสำคัญต่อการรักษาเสถียรภาพของเนินทรายและการสร้างแหล่งที่อยู่อาศัยสำหรับสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิด การสูญเสียพืชคลุมดิน (Groundcover) ยังลดความสามารถของชายหาดในการดักจับและรักษาทรายที่ถูกลมพัด ซึ่งจำเป็นสำหรับการบำรุงรักษาโครงสร้างของเนินทราย เป็นผลให้ระบบนิเวศชายฝั่งทั้งหมดได้รับผลกระทบ เนื่องจากพืชมีบทบาทสำคัญในการหมุนเวียนสารอาหารและเป็นที่พักพิงสำหรับสัตว์หลากหลายชนิด มีส่วนในการสนับสนุนความหลากหลายทางชีวภาพโดยรวมของสภาพแวดล้อมชายหาด

สัตว์หลายชนิดที่อาศัยอยู่บนชายหาด เช่น ปู ไส้เดือนทะเล หอย จะได้รับอันตรายโดยตรงจากการที่เราขับรถเข้าไป สัตว์เหล่านี้มักจะพรางตัวและกลายเป็นเป้านิ่งที่สามารถถูกล้อทับได้ เต่าทะเลที่ขึ้นมาวางไข่ฝังไว้ในทรายก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย อีกทั้งยังสร้างมลภาวะทางเสียงที่เป็นภัยคุกคามต่อนกที่ทำรัง

นอกจากนี้ ยานพาหนะยังรบกวนพฤติกรรมการให้อาหารและการผสมพันธุ์ของสัตว์อีกด้วย เสียงและแรงสั่นสะเทือนอาจทำให้สัตว์ละทิ้งรังหรือแหล่งอาหารได้ ส่งผลให้ความสำเร็จในการสืบพันธุ์และอัตราการรอดชีวิตลดลง ดังนั้น การขับรถเข้าไปในแหล่งที่อยู่อาศัยอันละเอียดอ่อนเหล่านี้จะขัดขวางความสมดุลอันซับซ้อนของระบบนิเวศชายฝั่ง คุกคามความหลากหลายทางชีวภาพและความมั่นคงของประชากรสัตว์

ในปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายการกระทำความผิดเกี่ยวกับการขับรถยนต์ หรือยานพาหนะ ลงไปยังพื้นที่ชายหาด-ทะเล เนื่องจากยังไม่ถือเป็นการกระทำที่ผิดต่อข้อกฎหมายของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เนื่องจากพื้นที่ชายหาดยังไม่ได้ประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม แต่การกระทำดังกล่าอาจเข้าข่ายผิดกฎจราจร

กล่าวคือ การขับรถโดยประมาท น่าหวาดเสียว ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน มีโทษปรับเป็นเงินจำนวน 1,000 บาท หากชาวบ้าน หรือผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นรู้สึกไม่สบายใจกับการกระทำดังกล่าว สามารถแจ้งความเพื่อเอาผิดได้เช่นกัน แต่ถ้าเป็นชายหาดในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ก็จะเข้าข่ายมีความผิดตาม พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 16 (9) ข้อหานำยานพาหนะเข้าออก หรือขับขี่ยานพาหนะในทางที่มิได้จัดไว้เพื่อการนั้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ โทษปรับ 1,000 บาท

อ้างอิง

ผู้เขียน

+ posts

ชายหนุ่มผู้หลงไหลในกาแฟไม่ใส่น้ำตาล รักการเดินทางไปกับสินค้าของแบรนด์ Patagonia