วันนากโลก (World Otter Day) 

วันนากโลก (World Otter Day) 

วันนากโลก (World Otter Day) ในปีนี้ตรงกับวันพุธที่ 29 พฤษภาคม 2567

วันนี้เราเลยจะพาทุกคนไปรู้จักกับนากที่มีอยู่ในประเทศไทย 4 ชนิด จาก 13 ชนิดทั่วโลก ได้แก่ นากเล็กเล็บสั้น, นากใหญ่ขนเรียบ, นากใหญ่ธรรมดา และนากจมูกขน โดยเราจะพาไปทำความรู้จักนาก แต่ละชนิดมีความแตกต่างอย่างไร และทำไม่นากถึงมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ

เมื่อก่อนกรุงเทพฯ หรือรอบเขตปริมณฑล จะใช้คลองเป็นเส้นทางหลักในการดำเนินชีวิตและคมนาคม มีป่าบุงป่าทามขนาดน้อยใหญ่ปนกันไปซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลายชนิด หนึ่งในนั้นก็คือนาก 

แต่เมื่อความเจริญเข้ามาพร้อมกับตึกขนาดใหญ่กระจายอยู่ในหลายแห่ง ทำให้สัตว์ป่าสูญพันธุ์ไปจากกรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียงเป็นจำนวนมากตามกาลเวลาพร้อมกับจำนวนของป่าในเมืองที่ลดลงเรื่อย ๆ ปัจจุบันเหลือเพียงนากสัตว์ป่าคุ้มครองที่สามารถปรับตัวและเอาตัวรอดได้จากการพัฒนา แต่กระจายตัวในบางแหล่งพื้นที่ของกรุงเทพฯ มีสองชนิด คือ นากเล็กเล็บสั้น และนากใหญ่ขนเรียบ

เราสามารถพบนากได้ตามแหล่งน้ำ บึง ตลิ่ง หรือพื้นที่ป่าชายเลน ซึ่งนากจัดอยู่ในกลุ่มของสัตว์กินเนื้อ กินอาหารจำพวกปลา ปู และหอย นากตามธรรมชาติจะเลือกกินอาหารที่ตนเองหาได้เท่านั้น ไม่กินปลาตายหรืออาหารที่มนุษย์นำมาให้

นอกจากนี้ นากถือได้ว่าเป็นนักล่าสูงสุดบนหัวโซ่อาหารในนิเวศแหล่งน้ำ เนื่องจากความสามารถในการเอาตัวรอด ทำให้นากแทบจะไม่ค่อยตกเป็นผู้ถูกล่าเลย หน้าที่ของนากในระบบนิเวศจะคอยควบคุมประชากรที่เป็นเหยื่อไม่ให้มากจนเกินไปจนเสียสมดุล กล่าวได้ว่าหากมีนากอยู่ที่ไหน นั่นก็หมายความว่าพื้นที่แห่งนั้นมีระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์

เหล่านากทั้งหลายกระจายตัวอยู่ในประเทศไทยตามพื้นที่อนุรักษ์ และแหล่งป่าที่อุดมสมบูรณ์ โดยจำแนกการพบสัตว์ป่าในพื้นที่ต่าง ๆ ได้ดังนี้

– นากใหญ่ขนเรียบ (Smooth-coated Otter) พบได้บ่อยที่สุด ตามภาคกลาง ภาคใต้ทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน

– นากเล็กเล็บสั้น (Asian Small-clawed Otter) พบน้อยกว่านากใหญ่ขนเรียบ จะพบได้ในบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่งวงก์ จังหวัดกำแพงเพชรและจังหวัดนครสวรรค์ ในผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวร – ห้วยขาแข้ง มาจนถึงภาคใต้ บริเวณเขาใหญ่

– นากใหญ่ธรรมดา (Eurasian Otter) จะมีการกระจายตัวอยู่ทางภาคเหนือ ยกอย่างเช่น ดอยอ่างขาง ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับนากใหญ่ขนเรียบ แต่มีขนที่หนาและฟูมากกว่านากใหญ่ขนเรียบ

– นากจมูกขน หรือ นากใหญ่หัวปลาดุก (Hairy-nosed Otter) นับเป็นนากชนิดที่พบเห็นได้ยากพบเพียงไม่กี่ครั้งทางภาคใต้ของประเทศไทย แหล่งอาศัยหลักตามป่าพรุบริเวณพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และบริเวณป่าชายเลนแม่น้ำปัตตานี

ปัจจุบันนากทั้ง 4 ชนิด ถูกขึ้นบัญชีแดงจาก IUCN ในการให้สถานระดับการใกล้สูญพันธุ์ดังนี้

นากจมูกขน: ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered)

นากใหญ่ขนเรียบ และนากเล็กเล็บสั้น (Vulnerable)

นากใหญ่ธรรมดา: ใกล้ถูกคุกคาม (Near Threatened)

หากแยกความแตกต่างระหว่างนากทั้ง 4 ชนิดนี้ได้แล้ว เจอเหล่านากที่ไหนอย่าลืมใจดีกับพวกเขาให้มาก ถึงนากเหล่านี้จะน่ารัก แต่อย่างไรแล้วเราก็ไม่สามารถครอบครองได้ เพราะนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังเป็นการฝืนกฎทางธรรมชาติของเหล่าสัตว์นักล่าในน้ำเหล่านี้อีกด้วย มาร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาระบบนิเวศทางธรรมชาติด้วยการปล่อยให้นากได้อยู่กับธรรมชาติที่ดี และปลอดภัย สามารถเริ่มจากตัวเราได้ง่าย ๆ ด้วยการไม่ทำลายระบบนิเวศในแม่น้ำ ลดการทำลายพื้นที่ป่า ที่สำคัญอย่าลืมที่จะปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพียงเท่านี้ก็ทำให้ เหล่านักล่าแห่งน่านน้ำที่น่ารักอยู่คู่กับประเทศไทยให้เราได้เชยชมไปได้อย่างยาวนาน

ถอดความและเรียบเรียงจาก สืบสัตว์ป่า EP2 : นาก นักล่าระบบนิเวศแหล่งน้ำ 

ถอดความและเรียบเรียงโดย อารียา เลยไธสง นักศึกษาฝึกงาน