‘นกชนหิน’ และ ‘วาฬสีน้ำเงิน’ สมาชิกใหม่ สัตว์ป่าสงวนไทย

‘นกชนหิน’ และ ‘วาฬสีน้ำเงิน’ สมาชิกใหม่ สัตว์ป่าสงวนไทย

จากมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 21 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ ‘นกชนหิน และวาฬสีน้ำเงิน’ เป็นสัตว์ป่าสงวน เพื่อป้องกันและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย

ระหว่างที่รอคอยการประกาศใช้กฎกระทรวง เพื่อให้สัตว์ป่าทั้งสองชนิดนี้เป็นสัตว์ป่าสงวนอย่างเป็นทางการแอดมินขอพาไปทำความรู้จักและเข้าใจเหตุผลว่าทำไมถึงต้องปรับสถานะให้นกชนหินและวาฬสีน้ำเงินมีความสำคัญและมีความเข้มข้นในการอนุรักษ์มากยิ่งขึ้น

นกชนหิน หรือ Helmeted Hornbill มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Rhinoplax vigil เป็นหนึ่งในนกเงือก 13 ชนิดที่สามารถพบได้ในประเทศไทย และพบการกระจายตัวตามพื้นที่ป่าตอนใต้ของไทยเท่านั้น นกชนหินถือเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าและระบบนิเวศเป็นอย่างดี เนื่องจากนกเงือกเป็นตัวกระจายเมล็ด (Seed disposal) ที่สำคัญ หรือที่เรียกกันว่า ‘นักปลูกป่า’ นั่นเอง

นกชนหินมีขนาดลำตัวตั้งแต่หัวถึงปลายหางประมาณ 110 ถึง 127 เซนติเมตร มีลักษณะพิเศษตรงขนหางคู่กลางจะยาวและเรียวกว่าคู่อื่น ๆ หากคิดขนาดตั้งแต่หัวถึงปลายหาง นกชนหินถือเป็นนกที่มีขนาดยาวที่สุดในบรรดานกเงือก แต่หากคิดขนาดลำตัว นกชนหินจะมีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่ 2 รองจากนกกกที่ถือเป็นนกเงือกที่มีขนาดใหญ่ที่สุด

นกชนหินกินผลไม้เป็นหลัก โดยเฉพาะมะเดื่อที่มีหลากหลายสายพันธุ์ในภาคใต้ รวมถึงผลไม้ในวงศ์อื่น ๆ อย่าง ผลไม้ในวงศ์ยางโอน และวงศ์จันทน์เทศ จากงานวิจัยพบว่าเมล็ดที่ผ่านการย่อยเยื่อหุ้มเมล็ดจากนกเงือกสามารถเจริญเติบโตได้ดีกว่าเมล็ดที่หล่นใต้ต้น อีกทั้งนกเงือกขนาดใหญ่จะคอยกระจายเมล็ดขนาดใหญ่ ที่สัตว์ขนาดเล็กไม่สามารถกินได้อีกด้วย

ไม่เพียงแต่ผลไม้เท่านั้น นกชนหินยังล่าสัตว์อื่น ๆ ที่มีขนาดเล็ก อาทิ แมลง กิ้งก่า กระรอก หนู รวมถึงนกเงือกที่มีขนาดเล็กกว่าได้ และจะใช้ในการล่าเหยื่อประมาณครึ่งวัน

นกเงือกไม่ทำรังเองแต่อาศัยโพรงไม้ธรรมชาติ หรือโพรงไม้ที่เกิดจากสัตว์ชนิดอื่นเจาะไว้ให้ จากงานวิจัยพบว่านกชนหินร้อยละ 87 จะอาศัยอยู่ในโพรงไม้วงศ์ยางนา ขนาดเส้นรอบวงต้นไม้ (DBH) เฉลี่ย 160 เซนติเมตร สูงเฉลี่ย 42 เมตร และความสูงของโพรงเหนือพื้นที่ดินเฉลี่ย 30 เมตร

เนื่องจากนกเงือกต้องอาศัยโพรงตามธรรมชาติ ที่มีลักษณะเฉพาะต่อการดำรงชีวิต ทว่าปัจจุบันพื้นที่ป่าลดลง จึงทำให้ต้นไม้หรือโพรงที่เหมาะลดลงตามไปด้วย นอกจากการล่าโหนกจะเป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อนกชนหินแล้ว การสูญเสียพื้นที่จากการตัดไม้ทำลายป่า ก็ยังคงเป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อนกชนหินรวมถึงนกเงือกทุกชนิดเช่นกัน

ปัจจุบันนกชนหินอยู่ในสถานภาพเสี่ยงสูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically endangered species) ตาม IUCN Red List และ Thailand Red Data ปัญหาการค้าสัตว์ป่าที่เพิ่มขึ้น พื้นที่ป่าที่ลดลง ส่งผลต่อการลดลงของประชากรนกชนหินอย่างต่อเนื่อง และนี่จึงเป็นสาเหตุของการปรับสถานะจากสัตว์ป่าคุ้มครองเป็น ‘สัตว์ป่าสงวน’ หวังว่าการเป็นสัตว์ป่าสงวนในครั้งนี้ จะเป็นเกราะป้องกันในการควบคุม ดูแล อนุรักษ์นกชนหินและถิ่นที่อยู่อาศัยมากยิ่งขึ้น

และสัตว์ป่าสงวนน้องใหม่อีกหนึ่งชนิด คือ ‘วาฬสีน้ำเงิน’ ซึ่งเป็นสัตว์จำพวกปลาลำดับที่ 4 ในการเป็นสัตว์ป่าสงวน ซึ่งก่อนหน้านี้มีฉลามวาฬ วาฬโอมูระ และวาฬบรูด้า

วาฬสีน้ำเงิน หรือ Blue whale มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Balaenoptera musculus เป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ขนาดโตเต็มวัยมีความยาวถึง 29 เมตร น้ำหนัก 72 ถึง 135 ตัน และสามารถหนักได้ถึง 180 ตัน หรือเทียบเท่าความยาวลำตัวได้เท่ากับตึก 9 ชั้น และหนักเท่ากับรถบรรทุก 10 ล้อ ประมาณ 10 คัน

วาฬสีน้ำเงินจัดเป็นสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากในอดีตถูกล่าเพื่อนำมาประกอบเป็นอาหาร และด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อสุขภาพของท้องทะเล และส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำรงชีวิตและการมีอยู่ของวาฬสีน้ำเงิน

และในอดีต ประเทศไทยเคยมีรายงานการพบวาฬสีน้ำเงินเฉพาะทะเลฝั่งอันดามันเพียง 3 ครั้งเท่านั้น

วาฬสีน้ำเงินถือเป็นผู้ล่าบนสุดของห่วงโซ่อาหาร และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง หากวาฬสีน้ำเงินหายไปก็จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารทั้งสัตว์และพืชทะเลทุกชนิด รวมถึงความมั่นคงทางอาหารทะเลของมนุษย์อีกด้วย

ปัจจุบันวาฬสีน้ำเงินอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (Endangered species) ตาม IUCN Red List และ Thailand Red Data และเหมาะสมสำหรับการปรับสถานะให้เป็นสัตว์ป่าสงวน เพื่ออนุรักษ์ เฝ้าติดตาม ประชากร และหวังว่าสักวันหนึ่งคงได้เห็นวาฬสีน้ำเงินกลับมาปรากฏที่ท้องทะเลไทยอีกครั้ง

ไม่เพียงแต่กฎหมายของหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น ประชาชนต้องตระหนัก เห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรทางธรรมชาติ และมีส่วนร่วมในการปกป้องระบบนิเวศ รักษาสมดุล และคงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ

อ้างอิง

ผู้เขียน

+ posts

สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว