วันผึ้งโลก (World Bee Day) ตรงกับวันที่ 20 พฤษภาคมของทุกปี เพื่อให้เกษตรกรและบุคคลทั่วไปเกิดความตระหนักและเห็นคุณค่า ความสำคัญ ประโยชน์ของผึ้ง ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดของศาสตราจารย์ คร.อันตัน ฮัลซา (Anton Jansa) ผู้บุกเบิกการเลี้ยงผึ้งสมัยใหม่ให้เป็นที่แพร่หลาย โดยการปฏิวัติแนวทางการเลี้ยงผึ้งแบบที่ต้องฆ่า และมีแนวทางเสริมสร้างความแข็งแกร่งและสุขภาวะที่ดีให้กับผึ้งเลี้ยงเพื่อให้ได้ผลผลิตน้ำผึ้งที่มีคุณภาพ
‘ผึ้ง’ แมลงตัวเล็ก ๆ ที่บินว่อนไปมาตามสวน ดอกไม้ หลายคนอาจมองว่าหน้าที่หลักของผึ้งคือการผลิตน้ำผึ้งแสนหวาน แต่แท้จริงแล้วยังมีบทบาทสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั่นคือ ‘การผสมเกสร (Pollination)’
เนื่องในวันผึ้งโลก เกร็ดความรู้ในสัปดาห์นี้ขอพาคุณไปรู้จักกับโลกของผึ้ง ว่าทำไมการผสมเกสรโดยผึ้งจึงสำคัญ และทำไมผึ้งจึงเปรียบเสมือนฮีโร่ตัวจิ๋วผู้ช่วยให้ระบบนิเวศของเราดำรงอยู่ได้และคงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ
ผึ้งทำหน้าที่อะไรในระบบนิเวศ?
กาแฟ ช็อกโกแลต ดอกไม้ ผักและผลไม้ ผลผลิตเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากขาดกระบวนการที่เรียกว่า ‘การผสมเกสร’ ไป และการเปลี่ยนผ่านจากดอกกลายเป็นผลได้ ต้องอาศัยแมลงชนิดต่าง ๆ เข้ามาทำหน้าที่ โดยมีผึ้งเป็นผู้เบิกนำในการผสมเกสร
เมื่อผึ้งบินมาจอดที่ลานดอกไม้เพื่อทำการเก็บน้ำหวาน ในขณะเดียวกันเกสรดอกไม้ที่อยู่ในบริเวณนั้นก็จะติดตามตัวผึ้งมา เมื่อผึ้งบินไปจอดลานดอกไม้ดอกอื่น เกสรเพศผู้ที่ติดตัวผึ้งมานั้นก็จะไปผสมกับเกสรเพศเมียของอีกดอกหนึ่ง เกิดการผสมและกลายเป็นผลในที่สุด
รวมถึงน้ำหวานที่ผึ้งเก็บมานั้น จะต้องผ่านขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงทางเคมี กายภาพ และทำการสะสมไว้ในรังผึ้ง หรือที่เรียกว่า ‘น้ำผึ้ง’ ไม่เพียงแต่จะเป็นอาหารของผึ้งและตัวอ่อนเท่านั้น ยังถือเป็นอาหารอันเลิศรสของสัตว์ป่านานาชนิดอีกด้วย
ทำไมการผสมเกสรโดยผึ้งจึงสำคัญ?
ร้อยละ 65 ของพืชมีดอกและพืชมีเมล็ดบางชนิด ต้องอาศัยแมลงในการผสมเกสร และร้อยละ 80 ของพืชทั่วโลกต้องการการผสมเกสรจากผึ้ง การผสมเกสรจากผึ้งสามารถเพิ่มผลผลิตทั้งด้านปริมาณและคุณภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพมากถึงร้อยละ 40-90 และจะทำให้พืชเกิดความหลากหลายทางพันธุกรรม มีความแข็งแรง อยู่รอดปลอดภัย ปรับตัวเก่ง และส่งต่อพันธุกรรมดีไปยังรุ่นต่อไป
ไม่เพียงแค่นั้น การที่ผึ้งช่วยเพิ่มผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ แสดงให้เห็นถึงความมั่นคงทางอาหารของมนุษย์ เพราะผลผลิตที่ได้จากการผสมเกสรของผึ้งกว่าครึ่งนั้น ล้วนเป็นอาหารที่เรารับประทานกันอยู่ทุกวันนี้
หากผึ้งหายไป โลกของเราจะเป็นอย่างไร?
ลองนึกภาพตามหากว่าเราไม่มีกาแฟกินในตอนเช้า ไม่มีทุเรียนกินในช่วงหน้าร้อน ไม่มีดอกไม้ให้เดินเล่นในสวน ไม่มีช็อกโกแลตมอบให้กันในวันวาเลนไทน์ ไม่มีเสื้อผ้าสวมใส่ แย่ไปกว่าคือไม่มีอาหารกิน!
การลดลงของผลผลิตการเกษตรนี้อาจส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่ผลิตพืชผลทางเกษตรที่จะต้องสูญเสียรายได้จากความเสียหายนี้
รวมถึงพืชหลายชนิดต้องอาศัยผึ้งช่วยผสมเกสรเท่านั้น หรือแม้แต่ผึ้งก็ลงจอดได้แค่ดอกไม้ที่มีความจำเพาะเท่านั้น เรียกว่า วิวัฒนาการร่วม หากผึ้งหายไปก็จะส่งผลให้พืชพันธุ์เหล่านั้นสูญพันธุ์ไปด้วย และสัตว์ชนิดอื่น ๆ ที่ต้องพึ่งพิงหรือบริโภคพืชนั้นก็สูญพันธุ์ไปตามกัน เกิดผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหาร เสียสมดุล และสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
เราสามารถช่วยผึ้งได้อย่างไร?
การปลูกดอกไม้พื้นถิ่นที่มีความหลากหลายชนิด จะช่วยดึงดูดผึ้งมาผสมเกสร เป็นการเพิ่มอาหารและเพิ่มความหลากหลายให้กับผึ้งเช่นกัน หลีกเลี่ยงการใช้ยาฆ่าแมลงและสารเคมีที่มีผลกระทบต่อผึ้ง ปกป้องถิ่นที่อยู่อาศัยของผึ้ง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกเดือดและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
และสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ ผึ้งจึงเปรียบเสมือนเป็นฮีโร่ตัวจิ๋วแต่แจ๋ว ที่ไม่เรียกว่าทำถึง แต่คือทำเกิน!
อ้างอิง
- ผึ้งในการผสมเกสรผึ้ง สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)
- 20 พฤษภาคม “วันผึ้งโลก”
- Pollination
- Why bees are essential to people and planet
ผู้เขียน
สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว