ในยุคปัจจุบันที่เรากำลังเผชิญกับภาวะโลกร้อน (Global Warming) และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) แนวคิดการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้เหมือนตอนก่อนที่ป่าจะถูกทำลาย ได้รับความนิยมอย่างมากผ่านโครงการของภาครัฐและเอกชน โดยปรากฏออกมาในรูปแบบของโครงการอาสาต่างๆ
แต่หากเราติดตามและพิจารณาผลลัพธ์ของพื้นที่ป่าที่ผ่านโครงการปลูกป่าอย่างละเอียดรอบคอบ เราจะพบว่าพื้นที่สีเขียวมีปริมาณเพิ่มขึ้นจริง เนื่องจากต้นไม้ที่ถูกนำเข้าไปปลูกและเติบโตขึ้น แต่ระบบนิเวศบนพื้นที่แห่งนั้นอาจไม่ได้ฟื้นคืนกลับมาแต่อย่างใด อีกทั้งเมื่อกาลเวลาผ่านไป ป่าเหล่านั้นอาจกลายเป็นป่าเสื่อมโทรมเพราะการสร้างป่าที่ผิดวิธี
เราต้องทำความเข้าใจนิยามของ ‘ป่า’ ก่อนว่าหมายถึงอะไร
‘ป่า’ คือพื้นที่ที่พืชพันธุ์ สัตว์ และสิ่งไม่มีชีวิต มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันและกัน แล้วก่อกำเนิดเป็นระบบนิเวศจำเพาะในพื้นที่นั้น ซึ่งเป็นเรื่องยากที่มนุษย์จะเลียนแบบกระบวนการดังกล่าวได้อย่างถูกต้องและครบถ้วน
ดังนั้น การสร้างป่าให้เป็นป่าจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการขยายขอบเขตของความหลากหลายทางชีวภาพให้เกิดความยั่งยืนมากกว่าแค่การเพิ่มพื้นที่สีเขียวจากการรณรงค์ปลูกต้นไม้ ซึ่งไม่ได้เป็นตัวชี้วัดถึงการเป็นป่ามากเท่าไรนัก
เรามาทำความเข้าใจคำว่า ‘ปลูกป่า’ กับ ‘ฟื้นฟูป่า’ ว่ามีความแตกต่างกันในเรื่องของแนวคิดและวิธีการอย่างไร
‘การปลูกป่า’ หมายถึง การสร้างพื้นที่สีเขียวโดยสามารถปลูกต้นไม้ชนิดใดก็ได้ลงบนพื้นที่ที่เคยถูกทำลาย การปลูกป่าจึงเป็นได้ตั้งแต่พื้นที่ปลูกป่าชุมชน การทำวนเกษตร หรือการปลูกไม้เศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งส่วนมากไม่ได้มีการศึกษาพรรณไม้เดิมในพื้นที่นั้นก่อน แต่จะเลือกวิธีที่ได้ผลเร็วที่สุดในทางเศรษฐกิจหรือความสะดวกในการทำโครงการ แต่บางทีพื้นที่สีเขียวตรงนั้นอาจยับยั้งการฟื้นตัวของป่าตามธรรมชาติเสียเอง เนื่องจากการนำไม้ต่างถิ่นเข้ามาปลูก
ส่วน ‘การฟื้นฟูป่า’ หมายถึง การฟื้นคืนพื้นที่ป่าดั้งเดิมที่เคยถูกทำลายให้มีสภาพใกล้เคียงกับพื้นที่เดิมให้มากที่สุดด้วยการศึกษาระบบนิเวศเดิมอย่างละเอียดถี่ถ้วน และสนับสนุนกระบวนการพัฒนาตัวเองของระบบนิเวศที่มีความซับซ้อนกว่าการปลูกพืชอะไรก็ได้ลงไป
แต่อย่างไรก็ตาม เราต้องประเมินสภาพของป่าในพื้นที่นั้น เพราะป่าที่มีความสมบูรณ์ในตัวเมื่อถูกทำลายก็สามารถฟื้นคืนกลับมาได้เพียงแต่ใช้ระยะเวลานาน
การเร่งให้เกิดการฟื้นตัวตามธรรมชาติเป็นวิธีที่ยั่งยืนมากที่สุดจากการให้ธรรมชาติรักษาตัวเองเพียงแต่เราเข้าไปช่วยเร่งให้กระบวนการเหล่านี้เกิดได้เร็วยิ่งขึ้น เช่น การส่งเสริมการเจริญเติบโตของกล้าไม้ที่มีอยู่ และทำให้เกิดกล้าไม้ในพื้นที่เยอะขึ้น หรือการอนุบาลต้นกล้าไม้ ให้ปลอดภัยจากสิ่งรบกวน อีกทั้งการสร้างที่อยู่อาศัยหรือแหล่งพักให้สัตว์กระจายเมล็ดพรรณอย่างนกให้เข้ามาในพื้นที่เพื่อเพิ่มโอกาสที่สูงขึ้นของการกระจายเมล็ดพรรณในธรรมชาติ
แต่หากต้องการให้พื้นที่นั้นกลับมามีความหลากหลายทางชีวภาพในระดับเดิมควรต้องมีการปลูกต้นไม้ที่มีเมล็ดขนาดใหญ่ซึ่งเป็นพวกไม้เสถียรที่มีความสามารถในการเจริญเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ร้อนและแล้งของป่าเสื่อมโทรมได้โดยที่การหายไปของสัตว์ใหญ่ในพื้นที่นั้นส่งผลให้ขาดตัวกลางนำพาเมล็ดมาฟื้นฟูในพื้นที่ที่ถูกทำลายได้ หรือไม้เบิกนำที่โตเร็ว ทั้งสองพรรณไม้นี้เราเรียกว่า “พรรณไม้โครงสร้าง” โดยเป็นต้นไม้ที่สามารถเจริญเติบโตได้รวดเร็วและบดบังแสงทำให้วัชพืชไม่สามารถเจริญได้และทำให้เกิดโครงสร้างป่าที่ประกอบด้วยเรือนยอดหลายชั้น
อีกทั้งต้นไม้เหล่านี้ยังต้องสามารถฟื้นฟูกระบวนการต่างๆในระบบนิเวศเช่น วัฏจักรของธาตุอาหาร และทำให้สภาพพื้นที่มีความเหมาะสมต่อการเจริญของกล้าไม้ธรรมชาติโดยทำให้พื้นที่ร่มและชื้นมากขึ้นนอกจากนั้นอาจเป็นพรรณไม้ที่สามารถดึงดูดสัตว์ที่กระจายเมล็ดพันธุ์เข้ามาอีกด้วย อาทิ ทองหลางป่า เสริมเพื่อให้การฟื้นตัวเกิดเร็วขึ้น
การใช้กระบวนการฟื้นฟูป่าโดยธรรมชาติใช้ต้นทุนน้อยกว่าการปลูกป่าที่มีจุดประสงค์เพียงแค่การเพิ่มพื้นที่สีเขียว แต่ไม่คำนึงถึงระบบนิเวศภายในพื้นที่นั้น หากเราสร้างป่าแบบผิดวิธี การปลูกป่าก็ไร้ความหมายต่อความหลากหลายทางชีวภาพโดยสิ้นเชิง และถึงแม้บางคนอาจคิดว่าการปลูกต้นไม้ไม่ได้เป็นการสร้างป่า แต่ก็ช่วยลดโลกร้อนได้ แต่การดูดกลืนแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ของต้นไม้บนบกเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับหญ้าทะเลหรือแพลงก์ตอนพืชที่มีการกักเก็บคาร์บอนสูงกว่าหลายเท่าตัว
การปลูกต้นไม้ในอนาคตจึงต้องมีแนวโน้มเป็นไปเพื่อรักษาและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนโดยรวมต่อธรรมชาติมากกว่าเพื่อลดโลกร้อนเพียงอย่างเดียว
เพราะป่าที่สมบูรณ์ไม่ได้วัดที่จำนวนต้นไม้ แต่เป็นความหลากหลายของพืช สัตว์ และความเหมาะสมของระบบนิเวศในบริเวณนั้น เนื่องจากกลไกที่ซับซ้อนของธรรมชาติวิวัฒนาการมาจนก่อเกิดเป็นความสมดุลของวัฏจักรชีวิตของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด
มีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่นิยมชมชอบการดัดแปลงจนธรรมชาติผิดเพี้ยนไป
อ้างอิง
ภาพประกอบ
ผู้เขียน
ชายหนุ่มผู้หลงไหลในกาแฟไม่ใส่น้ำตาล รักการเดินทางไปกับสินค้าของแบรนด์ Patagonia