เมื่อเรานึกถึงฉลามขาวหลายคนอาจจะรู้จักมันครั้งแรกจากภาพยนต์กระตุกขวัญอย่าง JAWs ที่กำกับโดย สตีเวน สปีลเบิร์กในปี 1975 หนังเรื่องนี้ได้สร้างภาพจำด้านลบที่มีต่อฉลามขาว (Great white shark) ส่งผลให้คนจำนวนมากหวาดกลัวในการลงเล่นน้ำ และมองฉลามขาวเป็นสัตว์ร้ายที่ควรถูกกำจัดทิ้งเมื่อพบเจอ
แต่ในความจริงแล้ว ฉลามขาวมีบทบาทที่สำคัญอย่างมากในระบบนิเวศทางทะเล อยู่ในฐานะผู้ล่าสูงสุดที่คอยรักษาความสมดุลในระบบนิเวศ แม้ว่าฉลามขาวจะถูกรู้จักอย่างแพร่หลายผ่านสารคดีหรือภาพยนตร์ แต่รู้หรือไม่เราจะไม่พบมันในพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำที่ไหนบนโลกใบนี้เลย และนี่คือเหตุผล
ความต้องการทางสรีรวิทยาเฉพาะตัว
ฉลามขาวถูกสร้างขึ้นมาสำหรับมหาสมุทรเปิด (Open ocean) ที่สามารถแหวกว่ายได้อย่างอิสระในพื้นทะเลที่กว้างใหญ่ ไม่ใช่ใกล้ก้นทะเล (Seabed) หรือชายฝั่ง (Coast) ร่างกายของพวกมันได้รับการปรับให้เหมาะกับการเดินทางระยะไกล การดำน้ำลึก และประสาทการรับกลิ่นจากระยะไกลเพื่อการล่าสัตว์ในสภาพแวดล้อมทางทะเลที่กว้างใหญ่และหลากหลาย
เมื่อนำฉลามขาวมากักขังในพื้นที่จำกัดของพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำที่ใหญ่ที่สุด ก็ยังไม่เพียงพอ ส่งผลให้มันเกิดความเครียดและบางทีอาจว่ายชนกระจกจนตาย แตกต่างจากสายพันธุ์อื่นๆ ที่ปรับตัวได้ดีในพื้นที่จำกัด
ออกซิเจนและการเคลื่อนไหว
ฉลามขาวต้องการการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เพื่อบังคับน้ำเหนือเหงือกของพวกมันเพื่อรับออกซิเจน เมื่อถูกกักขังในพื้นที่ที่จำกัดการเคลื่อนไหวเป็นเรื่องที่ท้าทายต่อฉลามมากจึงนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนทางสุขภาพและเสียชีวิต
ข้อจำกัดในเรื่องอาหาร
ความต้องการอาหารของฉลามขาวมีความซับซ้อนและแปรเปลี่ยนไปตามการเจริญเติบโต พวกมันกินเหยื่อหลายชนิด อาทิเช่น ปลา แมวน้ำและบางครั้งก็ซากสัตว์ ซึ่งยากต่อการดูแลให้การให้อาหาร จนนำไปสู่ภาวะขาดสารอาหารแล้วตายในที่สุด
ข้อจำกัดเรื่องความคุ้มค่า
การสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับฉลามขาวนั้นถือเป็นเรื่องที่ยากและท้าทายมากเนื่องจากต้องใช้เม็ดเงินลงทุนมหาศาลในการสร้างแทงค์น้ำขนาดใหญ่มหึมา เพื่อรองรับฉลามขาวไม่กี่ตัวควบคู่ไปกับการกำกับดูแลรักษา
ในปัจจุบันแม้ยังมีความพยายามเอาฉลามขาวมาเลี้ยง แต่ไม่มีอควาเรียมไหนในโลกเลยที่ทำสำเร็จ เช่น ในปี 2016 พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำโอกินาว่า ชูราอุมิ ของญี่ปุ่นได้ดำเนินความพยายามครั้งสำคัญในการนำฉลามขาว (ที่ถูกจับโดยไม่ตั้งใจ) มาเลี้ยงไว้ในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งแม้ทางพิพิธภัณฑ์ของโอกินาว่าจะมีแทงค์น้ำขนาดใหญ่และเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย แต่ฉลามขาวขนาด 3.5 เมตรตัวผู้ก็มีชีวิตรอดเพียงแค่สามวันเท่านั้น
ตามข้อมูลระบุว่า ฉลามตัวดังกล่าวแสดงอาการเครียดทันทีเมื่อถูกปล่อยลงแทงค์น้ำ มีอาการแสดงออกที่ชัดถึงความยากลำบากในการแหวกว่ายท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นชิน รวมถึงยังปฏิเสธอาหารจากเจ้าหน้าที่ กระทั่งขาดอาหารและตายลงในที่สุด
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ก่อให้เกิดการถกเถียงเป็นวงกว้างเกี่ยวกับจริยธรรมและคุณค่าทางวิทยาศาสตร์ของฉลามขาวที่ถูกจับ ความพยายามของพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำโอกินาวาชูราอุมิได้เพิ่มความเห็นพ้องต้องกันมากขึ้นว่าฉลามขาวมีเหตุผลทางสรีรวิทยาและนิเวศวิทยาที่เป็นเอกลักษณ์ของพวกมัน ไม่เหมาะสมกับชีวิตที่ถูกกักขัง และเป็นการดีมากกว่าที่จะอนุรักษ์ในสภาพแวดล้อมมหาสมุทรตามธรรมชาติ
จากเรื่องราวที่ยกมาเล่า เป็นเครื่องเตือนใจอันเจ็บปวดถึงข้อจำกัดและความรับผิดชอบของมนุษย์ในการมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิต โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเคารพธรรมชาติและความต้องการที่แท้จริงของมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่ซับซ้อนเกินกว่าการรับรูของเรา อย่างฉลามขาว
แทนที่จะพยายามกักขังสิ่งมีชีวิตอันงดงามเหล่านี้ให้อยู่ภายในขอบเขตของโครงสร้างที่มนุษย์ก่อขึ้น ความพยายามมุ่งไปสู่การอนุรักษ์พวกมันในพื้นมหาสมุทรจะดีกับมันมากกว่า ซึ่งรวมถึงการปกป้องแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยเพื่อทำความเข้าใจบทบาททางนิเวศวิทยาของพวกมัน
อ้างอิง
- Great white shark dies after three days in captivity in Japan
- The important reasons you’ll never see a great white shark in an aquarium
- There Is A Reason Why You’ll Never See A Great White Shark In An Aquarium
ภาพประกอบ
ผู้เขียน
ชายหนุ่มผู้หลงไหลในกาแฟไม่ใส่น้ำตาล รักการเดินทางไปกับสินค้าของแบรนด์ Patagonia