โปรดสัตว์ได้บาป

โปรดสัตว์ได้บาป

ถ้าเราปล่อยสัตว์ไม่ถูกที่ หรือปล่อยเอเลี่ยนสปีชี่ส์ลงน้ำ นอกจากจะทำให้มันตายได้แล้ว ยังเป็นการ ‘ทำลายระบบนิเวศ’ อีกด้วย 

สุดท้ายแล้ว เราจะได้บุญหรือได้บาปกันแน่ 

สำหรับคนไทยที่มีศาสนาพุทธเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ การทำบุญทำทาน ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่ชาวพุทธปฏิบัติกันมาช้านาน และการปล่อยนกปล่อยปลา ก็ถือเป็นการทำบุญอีกรูปแบบหนึ่งที่ถูกสั่งสอนกันมาตั้งแต่อดีต เพราะเป็นการให้อิสระกับชีวิตที่ถูกกักขัง เป็นการฝึกความเมตตาและความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น 

หรือแม้กระทั่งความเชื่อในเรื่องของการสะเดาะเคราะห์ เพราะที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีการเลือกการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ตามความหมายที่เชื่อว่าจะช่วยเสริมบุญบารมี และนำสิ่งที่ไม่ดีออกให้ผ่านพ้นไปจากตัวผู้ปล่อย 

ทว่าจะมีสักกี่คนที่จะคำนึงถึงชนิดพันธุ์สัตว์น้ำต่าง ๆ รวมถึงสถานที่ที่เหมาะสม ว่าปล่อยลงในแหล่งน้ำบริเวณใดแล้วจะไปรุกรานสัตว์น้ำท้องถิ่นเดิมหรือระบบนิเวศนั้นหรือไม่? 

ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์น้ำและระบบนิเวศน้ำจืด เคยได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กที่มีชื่อว่า Nonn Panitvong ไว้ว่า  

‘การปล่อยปลาดุก 1 ตัน เราจะสูญเสียสัตว์น้ำท้องถิ่นไปประมาณ 1.8 ล้านชีวิตต่อปี ในจำนวนนี้อาจจะเป็นลูกปลาเศรษฐกิจ ที่ถ้าปล่อยให้โตไปก็จะเป็นอาหารของชาวบ้านได้อีก ในจำนวนนี้อาจจะเป็นปลาหายากที่ถ้ารอดไปก็จะสามารถไปสืบพันธุ์ต่อได้ ในจำนวนนี้มีปลาท้องถิ่นขนาดเล็กซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศอย่างปลาซิว ที่จะเป็นอาหารของปลาท้องถิ่นขนาดใหญ่ต่อไป ทั้งหมดนี้เป็นสัตว์น้ำที่อยู่ของเขาดี ๆ ก็มีใครก็ไม่รู้เอาสัตว์ผู้ล่ามาปล่อยลงไปในบ้านเขาเต็มไปหมด’ 

เพราะปลาดุกที่นิยมเลี้ยงเพื่อนำมาทำเป็นอาหารในปัจจุบัน เป็นปลาดุกลูกผสมที่เกิดจากปลาดุกยักษ์จากทวีปแอฟริกาและปลาดุกอุย ลูกปลาดุกลูกผสมเหล่านี้ (ปลาดุกบิ๊กอุย) จึงถือเป็น alien species หรือ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น ที่มีลักษณะ โตเร็ว เป็นหมัน กินได้ทุกอย่างที่ขวางหน้าทั้งพืชและสัตว์ และเบียดเบียนแย่งชิงทรัพยากรสัตว์น้ำท้องถิ่นจนหมดไป! 

หรือสัตว์น้ำที่เป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นอย่าง ปลาซัคเกอร์หรือปลาเทศบาล เต่าญี่ปุ่นหรือเต่าแก้มแดง ตะพาบใต้หวัน เป็นต้น เมื่อปล่อยสัตว์น้ำเหล่านี้ลงแหล่งน้ำสาธารณะก็จะแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ และรุกรานสัตว์น้ำท้องถิ่น ทำให้ปลาท้องถิ่นของประเทศไทยอยู่ในสถานเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์  

หรือแม้กระทั่งการปล่อยปลาไหลหรือกบ ก็ควรเลือกสถานที่ที่เหมาะสมในการปล่อย หากเราเลือกที่จะปล่อยกบ แต่ปล่อยลงในแม่น้ำลึกก็จะทำให้กบ’ตาย’ เพราะกบเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ มักอยู่ในที่ชื้นแฉะ ที่นา หรือคลองที่เป็นธรรมชาติ มีกอหญ้าหรือไม้น้ำ เพราะกบจะใช้สิ่งเหล่านี้เป็นที่อยู่อาศัย และยังเป็นที่อยู่ของแมลงซึ่งเป็นอาหารของกบอีกด้วย  

สัตว์แต่ละชนิดมีลักษณะทางกายภาพ พฤติกรรม และถิ่นที่อยู่อาศัยในการดำรงชีวิตที่แตกต่างกัน 

ดังนั้น ก่อนที่เราจะเลือกปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ‘เราควรศึกษาชนิดพันธุ์ที่จะปล่อย ความเหมาะของสถานที่ รวมถึงตระหนักถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมด้วย’ หรือเลือกที่จะไม่ปล่อยจะดีที่สุด เพราะระบบนิเวศสามารถฟื้นฟูได้ด้วยตัวเอง ถ้าแหล่งน้ำดี มีความสมดุล ระบบนิเวศก็มีความสมบูรณ์ ขอแค่เราทุกคนช่วยกันรักษาแหล่งน้ำให้สะอาด ตระหนักถึงปัญหาของการสร้างเขื่อน สร้างฝาย ที่เป็นตัวทำลายระบบนิเวศในน้ำ ที่ทำให้ปลาไม่สามารถอพยพไปวางไข่ และเข้าถึงแหล่งอาหารได้น้อยลง รวมถึงเป็นการกักการไหลของตะกอนตามธรรมชาติ 

การปล่อยสัตว์น้ำชนิดพันธุ์ต่างถิ่นลงแหล่งน้ำธรรมชาติ นอกจากจะบาป และทำลายระบบนิเวศแล้ว เรายังทำผิดกฎหมายตามมาตรา 65 และมาตรา 144 แห่งพรก.ประมง 2558 ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจําคุกไม่่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ! 

แท้จริงแล้วการทำบุญโดยการปล่อยสัตว์ เป็นการสร้างความเมตตา ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เพื่อให้เรารับรู้ว่าสรรพสิ่งในโลกนี้ มีชีวิต และมีความสำคัญอย่างเท่าเทียมกันมิใช่หรือ ดังนั้นเราก็ควรเห็นคุณค่าของสัตว์ที่เรากำลังจะปล่อย ว่าสัตว์น้ำแต่ละชนิดควรปล่อยบริเวณใดให้สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ และเห็นคุณค่าของสัตว์ในพื้นที่ที่จะปล่อยเช่นกัน ว่าจะมีชีวิตอยู่รอดพ้นต่อน้ำมือผู้ล่าต่างถิ่นได้หรือไม่ 

อ้างอิง 

ผู้เขียน

+ posts

สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว