ทำความรู้จัก ‘ป่านันทนาการ’ ปันพื้นที่ป่าให้นักท่องเที่ยวใช้ศึกษาธรรมชาติ 

ทำความรู้จัก ‘ป่านันทนาการ’ ปันพื้นที่ป่าให้นักท่องเที่ยวใช้ศึกษาธรรมชาติ 

ผู้คนมากมายมักจะเลือกสถานที่ทางธรรมชาติเป็นจุดหมายของการเดินทางในการพักผ่อน ป่าเองก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่คนมาเที่ยวกันอย่างไม่ขาดสาย  

ด้วยเหตุนี้ภาครัฐจึงเริ่มมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ธรรมชาติหรือการท่องเที่ยวเชิงนิเวศมากยิ่งขึ้น ทั้งเพื่อเป็นการส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวได้ใกล้ชิดธรรมชาติ และยังเป็นการช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนท้องถิ่นด้วย  

กรมป่าไม้ได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ของการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ จึงได้ออกไอเดีย “ป่านันทนาการ” ขึ้นมา เพื่อเป็นอีกหนึ่งวิธีการจัดการทรัพยากรป่าไม้ โดยใช้การท่องเที่ยวเข้ามาเป็นฟันเฟืองสำคัญของไอเดียดังกล่าว  

ป่านันทนาการคืออะไร   

ป่านันทนาการ คือ ป่าที่ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจ และศึกษาเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยพื้นที่ป่าดังกล่าวจะต้องมีทัศนียภาพที่สวยงาม มีทรัพยากรทางธรรมชาติปละประวัติศาสตร์ที่โดดเด่น   

กรมป่าไม้ได้จัดตั้งป่านันทนาการขึ้นมาภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติด้านการท่องเที่ยว เพื่อพัฒนาพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีทรัพยากรที่หลากหลายทั่วประเทศ ภายใต้แนวคิด “ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ สมดุล และยั่งยืน”  

อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่กรมป่าไม้นั้นต้องการให้เกิดขึ้นจากการจัดตั้งป่านันทนาการคือ การสร้าง “พลเมืองสร้างป่า” ขึ้น โดยต้องการให้ทุกภาคส่วนมีบทบาทร่วมกันในการขับเคลื่อนการทำงานและการดูแลทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน  

กุญแจสำคัญของพลเมืองสร้างป่า คือ ประชาชนที่อยู่รอบเขตป่านันทนาการ อันเป็นการสร้างความตระหนักต่อการร่วมกันดูแลทรัพยากรธรรมชาติของเรา ไม่เพียงแค่ผืนป่าที่ได้ประโยชน์ ประชาชนเองก็ได้รับประโยชน์จากการดูแลพื้นที่ป่าด้วยเช่นกัน โดยการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศนั้น ก็เป็นอีกทางในการส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนท้องถิ่นด้วย

ทั้งนี้ คุณสมบัติของพื้นที่ป่าที่ได้รับเลือกจากกรมป่าไม้นั้นจะต้องเป็น พื้นที่ป่า ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และเป็นป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี และที่สำคัญจะต้องไม่เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมายด้วย (อาทิ อุทยานแห่งชาติ เขตห้ามล่าสัตว์ป่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เป็นต้น)  

พื้นที่ป่านันทนาการในประเทศไทย   

ในปี 2564 ซึ่งเป็นปีแรกที่กรมป่าไม้นำร่องจัดตั้งป่านันทนาการขึ้นมานั้น ได้มีการคัดเลือกพื้นที่จาก 109 แห่ง ให้เหลือเพียงทั้งหมด 10 แห่ง ได้แก่ (1) ป่านันทนาการทะเลหมอกอัยเยอร์เวง จ.ยะลา (2) ป่านันทนาการหินสามวาฬ จ.บึงกาฬ (3) ป่านันทนาการน้ำตกเขาอีโต้ จ.ปราจีนบุรี (4) ป่านันทนาการบ่อสิบสอง จ.พะเยา (5) ป่านันทนาการน้ำพุร้อนโป่งปูเฟือง จ.เชียงราย (6) ป่านันทนาการดงรอยเท้าอาร์โคซอร์ จ.เพชรบูรณ์ (7) ป่านันทนาการภูผาหินบ้างมุง จ.พิษณุโลก (8) ป่านันทนาการถ้ำสิงห์ จ.อุดรธานี (9) ป่านันทนาการโบกลึก จ.อุบลราชธานี และ (10) ป่านันทนาการเกาะมุก จ.ตรัง 

ถัดมาในปี 2565 ที่ผ่านมานั้น กรมป่าไม้ได้ประกาศพื้นที่ป่านันทนาการเพิ่มอีก 20 แห่ง ประกอบไปด้วย (1) ป่านันทนาการสวนป่ากิ่วทัพยั้ง จ.เชียงราย (2) ป่านันทนาการเขาส่องกระจกดอยแก้ว จ.ลำปาง (3) ป่านันทนาการม่อนคลุย จ.ตาก (4) ป่านันทนาการน้ำตกหินตั้ง จ.อุดรธานี (5) ป่านันทนาการเขาเสียดอ้า จ.นครราชสีมา (6) ป่านันทนาการภูผาสูง จ.นครราชสีมา (7) ป่านันทนาการน้ำตกวะภูแก้ว จ.นครราชสีมา (8) ป่านันทนาการภูแลนคาด้านทิศใต้ จ.ชัยภูมิ (9) ป่านันทนาการเนินช้างศึก จ.กาญจนบุรี (10) ป่านันทนาการเขาศูนย์ จ.นครศรีธรรมราช  

(11) ป่านันทนาการน้ำตกตาดม่าน จ.น่าน (12) ป่านันทนาการน้ำตกตาดหมอก น้ำตกวังเขียว และน้ำตกนางกวัก จ.น่าน (13) ป่านันทนาการน้ำตกผาร่มเย็น จ.อุทัยธานี (14) ป่านันทนาการห้วยทับเสลา จ.อุทัยธานี (15) ป่านันทนาการน้ำตกถ้ำพวง จ.อุบลราชธานี (16) ป่านันทนาการเขาแด่น จ.เพชรบุรี (17) ป่านันทนาการสวนป่าบางขนุน จ.ภูเก็ต (18) ป่านันทนาการเขาโต๊ะแซะ จ.ภูเก็ต (19) ป่านันทนาการเขาหว่าง-แหลมจมูกควาย จ.กระบี่ และ (20) ป่านันทนาการน้ำตกเฉลิมพระเกียรติฯ ร.9 จ.ยะลา 

อย่างไรก็ดี กรมป่าไม้ ได้มีการจัดเก็บค่าบริการสำหรับการเข้าใช้บริการป่านันทนาการที่มีความพร้อมในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน จำนวนทั้งสิ้น 4 แห่ง ได้แก่ (1) ป่านันทนาการหินสามวาฬ จ.บึงกาฬ (2) ป่านันทนาการน้ำตกเขาอีโต้ จ.ปราจีนบุรี (3) ป่านันทนา การทะเลหมอกอัยเยอร์เวง จ.ยะลา และ (4) ป่านันทนาการบ่อสิบสอง จ.พะเยา โดยจะเริ่มจัดเก็บค่าบริการตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา  

ด้าน นายวีระวัฒน์ แสงกระจ่าง ผู้อำนวยการสำนักจัดการป่านันทนาการ กรมป่าไม้ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ป่านันทนาการนั้นมีการใช้กฎหมายรองรับอย่างชัดเจน เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ถูกต้อง ในส่วนการจัดเก็บรายได้นั้น เพื่อนำไปพัฒนาและดูแลพื้นที่ป่าต่อไป โดยเลือกเก็บ 4 แห่งข้างต้นก่อน เนื่องจากมีความพร้อมมากกว่า ส่วนป่านันทนาการอื่น ๆ ที่ยังไม่พร้อม ก็จะยังไม่จัดเก็บ  

นายวีระวัฒน์ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ป่านันทนาการจัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้ชาวบ้านและชุมชนรอบป่ารู้สึกถึงการเป็นเจ้าของป่า โดยการเป็นเข้าของป่านั้นคุณก็จะได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว ดังนั้น ชาวบ้านก็จะทำหน้าที่เปรียบเสมือนรั้วของป่าที่จะช่วยดูแลจัดการป่านันทนาการไม่ให้มีการบุกรุก  

ป่านันทนาการนั้นถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในปัจจุบัน นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ ชาวบ้านได้รายได้ และที่สำคัญการมีพื้นที่ธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ยังเป็นการส่งเสริมแนวคิดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้แก่ประชาชนทุกคนด้วย เพราะถ้าเราไม่ดูแลรักษาพื้นที่เหล่านี้ไว้ เราก็จะไม่มีป่านันทนาการให้ได้มาเที่ยวกัน แน่นอนว่าภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องจัดการดูแลพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวที่มั่นคงและยั่งยืนต่อไปด้วยเช่นกัน  

อ้างอิง  

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ