เสือปลา ผู้ล่าบนสุดของห่วงโซ่อาหาร แห่งพื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetland) 

เสือปลา ผู้ล่าบนสุดของห่วงโซ่อาหาร แห่งพื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetland) 

เสือปลา เป็นเสือหรือเป็นปลากันแน่นะ

เสือปลา หรือ Fishing cat มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Prionailurus viverrinus อยู่ในวงศ์ Felidae จัดเป็นกลุ่มเสือและแมวป่าขนาดเล็ก เสือปลาเป็น 1 ใน 9 ชนิดของเสือ ที่สามารถพบได้ในประเทศไทย

ชื่อสามัญของเสือปลา หรือ Fishing cat มาจากพฤติกรรมของน้อง ที่ชอบตกปลาหรือจับปลามากินเป็นอาหาร โดยเสือปลาจะอาศัยอยู่ตามพื้นที่ชุ่มน้ำ หนองบึง ป่าชายเลน ฯลฯ อาหารหลักของเสือปลาจึงเป็น ปลา รวมถึง หนู สัตว์ปีก สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกขนาดเล็ก เสือปลาหากินได้ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน

เสือปลามีถิ่นที่อยู่อาศัยกระจายตัวอยู่แถบเอเชีย อาทิ ในป่าของประเทศอินเดีย เนปาล บังกลาเทศ ริมทะเลสาบโตนเลสาบในกัมพูชา พื้นที่ปากแม่น้ำสาละวิน อิรวดี สินธุโขง และสินธุ ส่วนในไทยเคยมีรายงานพบเสือปลาในพื้นที่ชุ่มน้ำหลายแห่ง โดยพบมากที่สุดในพื้นที่ชุ่มน้ำสามร้อยยอด อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จังหวัด ประจวบคีรีขันธ์ ปัจจุบันมีเสือปลาในพื้นที่นี้ทั้งหมด 67 ตัว

เสือปลา

เสือปลามีรูปร่างคล้ายแมวบ้านแต่ตัวใหญ่กว่า หน้ากลมและสั้น แก้มมีไฮไลท์สีขาว รอยดำดวงตา หูสั้นและกลม บริเวณหลังหูมีสีดำ จมูกมีสีชมพูหรือสีอิฐเข้ม ขาสั้น หางสั้นกว่าครึ่งของลำตัว มีขนสีเทาแกมน้ำตาล มีลายสีน้ำตาลแกมดำสั้น ๆ เรียงเป็นแนวตามตัว ส่วนตีนมีพังผืดระหว่างนิ้ว มีกรงเล็บที่ยื่นออกเล็กน้อย และเสือปลาสามารถเก็บเล็บได้แต่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งต่างจากเสือชนิดอื่น ที่สามารถซ่อนเล็บหรือเก็บเล็บได้

ลักษณะสำคัญของเสือปลา คือ ตีนมีเนื้อเยื่อหรือพังผืดระหว่างนิ้วตีนเล็กน้อย (Webbed feet) เกิดจากวิวัฒนาการที่เสือปลาจะต้องอาศัยแหล่งน้ำที่เป็นทั้งบ้านและแหล่งอาหารในการดำรงชีวิต โดยพังผืดจะช่วยให้เสือปลาสามารถเคลื่อนไหวในน้ำ หรือดำน้ำได้เป็นอย่างดี รวมถึงกรงเล็บที่ยื่นออกมาเล็กน้อยจะใช้ในการจับเหยื่อจำพวกปลาขณะอยู่ใต้น้ำโดยเฉพาะ หรือใช้ตีนตะปบเหยื่อเพื่อตกปลาขึ้นบนฝั่ง 

การปรับตัวอีกหนึ่งอย่างของเสือปลา คือลักษณะขน โดยขนของเสือปลาจะช่วยรักษาอุณหภูมิร่างกาย ขณะลงไปในน้ำที่มีอุณภูมิต่ำ เส้นขนของเสือปลาจะมีขนาดเล็ก และมัดอัดกันแน่น ช่วยป้องกันไม่ให้น้ำเข้าถึงผิวหนัง ทำให้เสือปลาอบอุ่นได้แม้ขณะที่ลงไปจับปลาในน้ำ

ปัจจุบัน เสือปลาอยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 จัดลำดับให้อยู่ในสถานะมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (VU – Vulnerable) โดย IUCN Red List อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ (EN – Endangered) โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอยู่ในบัญชีที่ 2 ของอนุสัญญาการค้าระหว่างประเทศทั้งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES)

ถึงแม้เสือปลาจะเป็นผู้ล่าที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร และมีความสำคัญต่อระบบนิเวศชุ่มน้ำ แต่ทว่าเสือปลากลับมีสถานะใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากปัจจัยคุกคามที่เกิดจากกิจกรรมมนุษย์ ทั้งปัญหาการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน และการล่า ทำให้พื้นที่ที่อยู่อาศัยที่มีลักษณะเฉพาะของเสือปลาลดลง อัตราการขยายพันธุ์ก็ย่อมลดลงตามไปด้วย เมื่อประชากรเสือปลาลดลง ปัญหาภาวะเลือดชิดก็จะตามมา ส่งผลให้เสือปลาสูญพันธุ์ได้ในอนาคต และสูญเสียความหลากหลายทางธรรมชาติในที่สุด

อ้างอิง

ผู้เขียน

+ posts

สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว