วันรักษ์พญาแร้ง – 14 กุมภาพันธ์ 2535 เป็นวันที่ ‘พญาแร้งฝูงสุดท้าย’ ถูกวางยาตายยกฝูง จากเหตุการณ์พรานวางยาเนื้อเก้งเพื่อหวังให้เสือโคร่งมากิน แต่กลับกลายเป็น ‘พญาแร้ง’ ที่ลงมากินซาก และตายยกฝูงในคราวเดียว เราได้สูญสิ้นพญาแร้งไปจากป่าเมืองไทยนับแต่นั้นมา
แร้ง เป็นสัตว์กินซาก (Scavenger) มีความสำคัญอย่างยิ่งในการควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค จากงานวิจัยพบว่าในกระเพาะอาหารของแร้งมีความเป็นกรดสูงมาก จึงทำให้เชื้อโรคไม่สามารถเติบโตได้ แร้งจึงเป็นนักควบคุมโรคชั้นดี และถือเป็นเทศบาลประจำผืนป่าอีกด้วย
ปัจจุบันประเทศไทย มีพญาแร้งในกรงเลี้ยงที่ได้มาจากการพลัดหลงจากการอพยพผ่านประเทศไทย และได้รับมอบจากสวนสัตว์พาต้า รวมเป็นทั้งหมด 6 ตัว ถูกนำมาดูแลเพื่อฟื้นฟูสภาพที่สวนสัตว์นครราชสีมา จำนวน 4 ตัว (2 คู่) และอยู่ในกรงฟื้นฟูขนาด 20×40 เมตร สูง 20 เมตร บริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จำนวน 2 ตัว (1 คู่) ซึ่งถือเป็นโอกาสดีในการที่จะฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในธรรมชาติที่เป็นถิ่นอาศัยเดิมในผืนป่ามรดกโลกทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้งให้กลับมาโบยบินอีกครั้ง
โครงการ “การฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย” มูลนิธิสืบนาคะเสถียรและองค์กรเครือข่ายได้ร่วมดำเนินโครงการการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย ทุกท่านสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับโครงการฯ เพื่อเป็นต้นแบบในการฟื้นฟูประชากรแร้งในพื้นที่ธรรมชาติในการช่วยฟื้นฟูประชากรพญาแร้งให้กลับคืนมา ผ่านการบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา วิจัย และการฟื้นฟูประชากรได้ที่ โครงการพญาแร้งคืนถิ่น ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส รัตนาธิเบศร์ บัญชีเลขที่ 679-6-72119-5
และในวันนี้ 14 กุมภาพันธ์ 2566 ครบรอบ 1 ปี ที่ได้ทำการย้ายพญาแร้งจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ขึ้นไปยังซับฟ้าผ่า ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี โดยหวังว่าพญาแร้งทั้งสองจะจับคู่กัน เพื่อเพิ่มประชากรพญาแร้ง และให้พวกเขาได้กลับมาโบยบินในป่าห้วยขาแข้งในอนาคต
ปีนี้จึงถือเป็นปีแรกที่ป๊อก-มิ่ง ได้สัมผัสกับฤดูกาลของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดยทั้งสองสามารถผ่านช่วงหน้าฝน หนาว เหลือเพียงช่วงไฟป่า ที่ทั้งสองกำลังจะเผชิญ เราหวังว่าทั้งสองจะสามารถทนต่อสภาพอากาศของห้วยขาแข้งได้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคู่รักพญาแร้ง ป๊อก-มิ่ง จะวางไข่กลางป่าได้ในเร็ววัน ซึ่งถือเป็นความหวังครั้งสำคัญในการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งที่สูญพันธุ์จากป่าของไทยนานกว่า 30 ปี เพื่อให้ ‘พญาแร้ง’ ได้กลับมาโบยบินเหนือผืนป่าธรรมชาติอีกครั้ง
อ้างอิง
ผู้เขียน
สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว