เทียนนกแก้ว ดอกไม้ที่มีหน้าตาคล้ายนก พบได้เพียงที่ดอยเชียงดาวเท่านั้น

เทียนนกแก้ว ดอกไม้ที่มีหน้าตาคล้ายนก พบได้เพียงที่ดอยเชียงดาวเท่านั้น

เทียนนกแก้ว หรือดอกเทียนนกแก้ว (Parrot Flower) เป็นพรรณไม้ที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายนกแก้ว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Impatiens psittacina อยู่ในวงศ์ Balsaminaceae ซึ่งเป็นกลุ่มของวงศ์เทียนดอก

โดยคำว่า ‘psittacina’ มีความหมายถึง ‘parrot-like’ คือ คล้ายนกแก้ว เมื่อมองจากด้านข้างตอนดอกไม้บาน จึงเป็นที่มาของชื่อภาษาไทยว่า ‘เทียนนกแก้ว’ นั่นเอง

เทียนนกแก้ว เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ลำต้นสูงเพียง 30-40 เซนติเมตร ลักษณะใบเป็นใบเดี่ยวรูปไข่กว้าง โคนใบมน ปลายใบแหลม ขอบใบจัก มีดอกสีม่วงแกมชมพู และขาว ดอกเป็นรูปหลอดกว้าง ปลายแยกเป็น 5 กลีบ ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกัน ขนาดดอกกว้าง 2-3 เซนติเมตร และต้นเทียนนกแก้วจะออกดอกช่วงเดือนสิงหาคม ถึงเดือนธันวาคม

เทียนนกแก้ว เป็นพืชเฉพาะถิ่น (endemic specie) พบได้บนเขาสูง โดยเฉพาะเขาหินปูน และเป็นไม้เมืองหนาว ระดับความสูงที่พบเทียนนกแก้วได้ คือ 1,500-1,800 เมตรจากระดับน้ำทะเล เทียนนกแก้วมีเขตการกระจายพันธุ์ตั้งแต่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียยาวถึงเมียนมา และพบได้ทางตอนเหนือของประเทศไทย

และในประเทศไทยเราสามารถพบเทียนนกแก้วได้เพียงที่เดียว คือที่ ‘ดอยเชียงดาว’ เท่านั้น ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว อ.เชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

ด้วยความที่เทียนนกแก้ว เป็นพืชเฉพาะถิ่น และพบได้ที่ดอยเชียงดาวเท่านั้น เนื่องจากมีลักษณะภูมิประเทศ สภาพอากาศ รวมถึงค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดินที่เหมาะสมเพียงแห่งเดียว จึงทำให้เทียนนกแก้ว หาชมได้ยาก และเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ได้ง่าย

จึงอยากขอฝากเหล่านักท่องเที่ยวที่มีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมเทียนนกแก้วนี้ ช่วยกันอนุรักษ์ ไม่ทำลาย และไม่เก็บเมล็ดกลับมาปลูก ด้วยเทียนนกแก้วเป็นไม้เมืองหนาว และมีลักษณะการกระจายตัวเฉพาะถิ่น จึงไม่สามารถเจริญเติบโตในเมืองได้อย่างแน่นอน นอกจากจะผิดกฎหมายข้อหาเก็บของป่าแล้ว ยังเป็นการทำลายระบบนิเวศในบริเวณนั้นอีกด้วย

อ้างอิง

ผู้เขียน

+ posts

สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว