“การกระทำสำคัญกว่าคำพูด” บทประโยคสั้นๆ ง่าย ๆ แต่ได้ใจความที่กล่าวถึงการลงมือทำ จะมีประโยชน์อันใดหากเราคิดแล้วไม่ลงมือทำ สิ่งที่เราที่คิดก็คงเป็นได้เพียงแค่ภาพฝันที่ไม่มีวันเป็นจริงหากปราศจากการลงมือ เฉกเช่นเดียวกับสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่กำลังเป็นประเด็นอย่างทุกวันนี้
“จากข้อตกลงสู่การปฎิบัติ : สร้างความหลากหลายทางชีวภาพกลับคืนมา”
คือหัวข้อในปีนี้ของ วันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ
ในวันที่ 22 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อรำลึกถึงวันที่อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ
เราจะพาทุกคนมาย้อนดูว่าตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา เกิดอะไรขึ้นกับความหลากหลายทางชีวภาพบ้าง
ความหลากหลายชีวภาพคืออะไร ทำไมถึงสำคัญ
หากเราลองจินตนาการถึงทุ่งหญ้าโล่งที่มีแต่วัว และเมื่อเวลาผ่านไปในทุ่งนั้นวัวก็จะกินหญ้าจนไม่ทันได้เติบโตประกอบกับจำนวนของวัวนั้นเพิ่มมากขึ้น และในที่สุดเมื่อไม่มีอาหารวัวในทุ่งนั้นก็เริ่มล้มตายหายจาก และเมื่อดินที่สูญเสียหญ้าก็เริ่มแปรเปลี่ยน สูญเสียความชุ่มชื้น และแห้งแล้งในที่สุด
ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นเหมือนกลไก เป็นระบบใหญ่ๆ ในโลกใบนี้ ทุกสิ่งที่อย่างล้วนเป็นเหมือนฟันเฟืองที่เชื่อมถึงกัน มีความหมายกว้างและลึกซึ้งมากกว่าคำว่าสิ่งมีชีวิต แต่รวมไปถึงความหลากหลายตั้งแต่ระดับพันธุกรรม ระบบสปีชีส์ จนถึงเชิงนิเวศวิทยา
ตามรายงาน Living Planet Report 2022 โดย WWF นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513-2561 เราสูญเสียประชากรสัตว์ป่าไปถึง 69%โดยประชากรในแทบละตินอเมริกาลดลงสูงสุดอยู่ที่ 94% แอฟริกามีประชากรสัตว์ป่าลดลง 66% ระหว่างปี พ.ศ. 2513-2561 ในขณะที่ เอเชียแปซิฟิกลดลง 55% ทั่วโลกกำลังประสบการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
การลดลงของประชากรสัตว์ป่ายังพ่วงมาด้วยการลดลงของถิ่นที่อยู่อาศัยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำ ทุ่งหญ้า ผืนป่า ระบบนิเวศต่างๆ
The State of the World’s Forests (SOFO) ขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า ช่วง 30 ปีที่ผ่านมาโลกสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ 420 ล้านเฮกตาร์หรือ 2,625 ล้านไร่ สาเหตุจากการตัดไม้ทำลายป่า ถึงแม้ว่าอัตราการตัดไม้ทำลายป่าจะลดลง
แต่ในทุกๆ ปี โลกยังสูญเสียป่าไม้ปีละ 10 ล้านเฮกตาร์หรือ 62.50 ล้านไร่
ในประเทศไทยปฎิเสธไม่ได้เลยว่าที่ผ่านมาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพนั้นมาจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการขยายตัวของเมือง
รายงานวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลกประจำปี พ.ศ. 2564 ระบุว่าในระหว่างปี พ.ศ. 2513 – 2548 “การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในแหล่งน้ำจืดถึง ร้อยละ 35
นอกจากนี้สถิติของกรมประมงพบว่าปริมาณสัตว์น้ำเค็มและสัตว์น้ำจืดที่จับได้ตามธรรมชาติและเพาะเลี้ยง “มีแนวโน้มลดน้อยลง”
ถึงเวลาแล้วที่เราต้องทบทวนรูปแบบการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ “ปกป้องอย่างจริงจัง และอนุรักษ์อย่างจริงใจ”
อ้างอิง
ผู้เขียน
เราไม่มีทางอนุรักษ์สิ่งที่เราไม่เห็นคุณค่า และเราไม่มีทางเห็นคุณค่าถ้าเราไม่รู้จักมัน